ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา มีรายงานจากอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป ได้วิเคราะห์การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกร้องให้รัฐบาลนำโดยพรรคพลังประชาชน ลงจากอำนาจ จนเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มที่ต่อต้านและสนับสนุนรัฐบาล มีความวิตกว่าสถานการณ์ความวุ่นวายอาจจะนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งในรายงานบอกว่า “การล้มรัฐบาลไม่ว่าจะด้วยการชุมนุมประท้วงหรือการก่อรัฐประหารจะสร้างผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตย” น.ส.รุ่งรวี เฉลิม ศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์ของอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป ประจำประเทศไทยกล่าว “มันจะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทาง การเมืองที่กำลังสร้างความแตกแยกอย่างรุนแรงในประเทศไทยในขณะนี้”
จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญได้พิพากษาในวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมาให้ นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ยังคงเดินหน้าการชุมนุมประท้วงและเรียกร้องให้รัฐบาลทั้งคณะ ลาออกและยังคงยึดพื้นที่ในทำเนียบรัฐบาลต่อไป ยิ่งมีการปล่อยให้การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯและรัฐบาลยาวนานมากขึ้น เท่าไร การแตกแยกทางการเมืองก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นและยากที่จะแก้ไขและอาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการก่อการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ด้วย วิกฤติทางการเมืองในกรุงเทพฯ ได้ก่อความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและดึงความสนใจของรัฐบาลไปจากปัญหาที่ ควรได้รับการแก้ไขเร่งด่วน เช่น การก่อความไม่สงบในภาคใต้ นอกจากนี้ ปัญหาการเมืองยังส่งผลกระทบต่อบทบาทของไทยในฐานะ ประธานอาเซียนในปีนี้อีกด้วย
สิ่งที่สำคัญเร่งด่วนขณะนี้คือการดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมและรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง มิใช่เพราะว่ารัฐบาลที่มา จากการเลือกตั้งนั้นสมบูรณ์และปราศจากข้อผิดพลาด หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและเสถียรภาพ ของประเทศ ชนชั้นนำของไทย ควรจะหยุดส่งสัญญาณอันคลุมเครือและแสดงการสนับสนุนรัฐบาลในการรักษาไว้ซึ่งหลักแห่งกฎหมาย กลุ่มพันธมิตรฯ ควรเลิกยึดทำเนียบรัฐบาล ผู้นำทหารระดับสูงควรเข้าไปเจรจากับพันธมิตรฯ ตำรวจควรวางมาตรการเป็นขั้นเป็นตอนในการนำพันธมิตรออกจากทำเนียบฯ โดยไม่ใช้ความ รุนแรง
สำหรับมาตรการระยะกลาง รัฐธรรมนูญปี 2550 จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพราะรธน.ฉบับนี้ร่างขึ้นโดย สภาร่างรัฐธรรมนูญที่คัดเลือกโดยคณะรัฐประหารได้ให้อำนาจกับระบบราชการและศาลมากเกินไปในการระงับการดำเนินการของ รัฐบาล กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมเพื่อพิจารณาประเด็นสำคัญ กล่าวคือ การหาสมดุลระหว่างการสร้างกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและการให้อำนาจกับรัฐบาลในระดับที่เหมาะสมที่จะไม่ทำให้ รัฐตกอยู่ในสภาพปฏิบัติหน้าที่แทบไม่ได้
นายจอห์น เวอร์โก้ ผู้อำนวยการโครงการเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ของอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป กล่าว “เพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนควรที่จะส่งสัญญาณ เตือนว่าพวกเขาไม่อาจยอมรับได้ หากเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งหนึ่ง”