คอลัมน์ : ตะแกรงข่าว
มีคำกล่าวว่า “ผลประโยชน์” ทำให้ “ตาชั่ง” เอียงได้ฉันใด การแสดงความคิดเห็นของผู้คนที่สังคมมองว่าเป็นผู้ที่อุดมไปด้วยสติปัญญา เป็นครูบาอาจารย์ อาจวูบวาบไปตามกระแสและสถานการณ์ได้ฉันนั้น เพราะที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ใช้การเป็น “นักวิชาการ” ออกมาแสดงความเห็น แต่อีกไม่นานก็เข้าไปเกลือกกลั้วกับกลุ่มอำนาจอย่างสนิทแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน
ในกระแสความบ้าคลั่งของฝ่ายพันธมาร ที่ส่งลิ่วล้อไปแสดงพฤติกรรมที่อัปยศชวนอดสู เพื่อให้นายกรัฐมนตรีถอดใจนั้น ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่มีคุณภาพ ออกมาแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอเพื่อบ้านเพื่อเมือง ในยามที่มีปัญหา
ตัวแทนสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล และกลุ่มประกายไฟ ร่วมกันออกแถลงการณ์ "การเมืองใหม่ต้องเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ระบบลูกขุน ลดงบประมาณทหาร และสร้างรัฐสวัสดิการ"
คนกลุ่มนี้ระบุว่า กลุ่มพันธมารได้เสนอ “การเมืองใหม่” โดยอ้างว่าเป็นผู้จุดประกายการปฏิรูปการเมือง “ผ่าทางตัน” การเมืองแบบเก่าที่เต็มไปด้วยนักการเมืองซื้อเสียงและการคอร์รัปชั่น ซึ่งทาง สนนท. เห็นว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นเจ้าภาพเพื่อการสร้างประชาธิปไตย เพราะการเคลื่อนไหวและเป้าหมายของกลุ่มพันธมารล้วนลดบทบาทและไม่เชื่อมั่นในอำนาจและความคิดของประชาชน ไม่ว่าจะเสนอขอนายกฯ พระราชทาน การเลือกตั้งผสมสรรหา ดังนั้นการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ จึงเป็นเพียง “การเมืองใหม่สูตรโบราณ” เท่านั้น
กลุ่มนี้ยังมองว่า แนวทางการเมืองของกลุ่มพันธมารมีเป้าหมายทำลายศัตรูทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้มีข้อเสนอเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง ไม่มีอุดมการณ์จะสร้างการเมืองใหม่ที่แท้จริงด้วย
ดังนั้น ในฐานะองค์กรภาคประชาชนจึงขอเสนอแนวทางการเมือง 6 ข้อ ประกอบด้วย
1.การปฏิรูปการเมือง โดยสนับสนุนให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภา เนื่องจากมีความซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น โดย ส.ส. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ต้องลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคของการรวมตัวเพื่อตั้งพรรคการเมืองของประชาชน เช่น ไม่ต้องจดทะเบียนพรรค ไม่ต้องมีสาขาพรรค และจำนวนสมาชิกตามกำหนด
2.การกระจายอำนาจ โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนปกครองตนเองผ่านการปกครองส่วนท้องถิ่น
3.ปฏิรูประบบศาล ลดอำนาจของศาลที่มีอยู่เดิม โดยเสนอให้ใช้ระบบลูกขุนที่มาจากประชาชนแทนผู้พิพากษาในระบบราชการแบบเดิม ยกเลิกโทษประหารชีวิต
4.ปฏิรูปกองทัพ ลดงบประมาณกองทัพ ย้ายค่ายทหารออกจากเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อใช้พื้นที่สร้างสวนสาธารณะและศูนย์ฝึกอาชีพ
5.ปฏิรูประบบภาษี ยกเลิกระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เก็บภาษีจากที่ดินมรดกในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำมาสร้างรัฐสวัสดิการ และ
6.รัฐสวัสดิการ ปฏิรูปที่ดิน การรวมศูนย์โดยแบ่งที่ทำกินให้คนที่ไม่มีที่ดินเพียงพอ สร้างรัฐสวัสดิการให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการของรัฐอย่างทั่วถึง ยกเลิกกฎหมายทำแท้งเสรี ขยายมาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล และยกเลิกแรงงานนอกระบบ
ส่วนที่เสนอให้ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธานองค์กรอิสระฯ ทางกลุ่มเห็นว่า นพ.ประเวศ มีบทบาทที่สนับสนุนพันธมิตรฯ จึงไม่น่าจะมีความเป็นกลาง โดยการปฏิรูปการเมืองควรเป็นการปฏิรูปโดยประชาชน หรือคนกลุ่มใหม่ เช่น คนจน นักศึกษา
กลุ่มยังเชื่อว่า แนวทางการเมืองใหม่ที่เสนอมานี้ น่าจะได้รับความสนใจจากคนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่เบื่อพันธมิตรฯ และไม่เอาแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)…
ดีครับ ที่พูดกันตรงๆ อย่างนี้ ต้องชื่นชมในความกล้าคิดกล้านำเสนอ เพราะความคิดเห็นของคนเรานั้นอาจไม่ตรงกันได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพูดจากันไม่รู้เรื่อง หากทุกฝ่ายยึดเอาผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง
ขอให้ท่านผู้อ่านนำไปเปรียบเทียบกับแถลงการณ์ของ 24 อธิการบดี และพิจารณาว่า ระหว่างคนที่เป็นครูบาอาจารย์กับนักศึกษานั้น ใครมีความคิดที่ก้าวหน้า แหลมคม ชัดเจนกว่ากัน มีความเป็นไปได้ หรือเป็นเพียงแค่ฝันกลางแดด เพราะยังกำกวม ไม่มีรายละเอียด และยังวนเวียนอยู่ใน “อำนาจนิยม” ยังชอบชี้นิ้วสั่งการ โดยเปรียบเทียบกันข้อต่อข้อ ความคิดต่อความคิดแล้ว ใครมีกึ๋นกว่ากัน
ผมไม่ได้มีเจตนาจะก้าวล่วง หรือประจานใครให้เสียหน้า ด้วยความเคารพในสิทธิการแสดงออกถึง “เสรีภาพทางวิชาการ” แต่อยากบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐานเท่านั้นเองว่า ในยามที่บ้านเมืองมีปัญหา มีใครคิดอ่านกันอย่างไร
กลุ่มของนักศึกษาจะรณรงค์แจกใบปลิวและสร้างเวทีพูดคุยกับประชาชนและขบวนการภาคประชาชน โดยเริ่มดำเนินการในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ เวลา 11.00 น. ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ใครสนใจก็เชิญได้ จะได้สัมผัสและรับฟังความจริง ไปถามไถ่ความเป็นไปได้ แต่ขออย่างเดียวคือว่า กลุ่มพันธมารอย่าไปก่อกวนก็แล้วกัน เพราะที่ทำมานั้นมันคนละทิศคนละทาง
ทางใครทางมันครับ โปรดเคารพในสิทธิของกันและกันบ้าง
แถลงการณ์ 24 อธิการบดี แก้วิกฤติร้ายแรงของชาติ
1.ขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศเป็น วาระแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหาวิกฤติร้ายแรงในทางการเมือง โดยดำเนินการโดยเร่งด่วนที่สุด ให้จัดตั้ง คณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูประบบการเมืองการปกครอง ขึ้น เพื่อศึกษาแนวทางและข้อเสนอแนะในการปฏิรูประบบการเมืองการปกครองของประเทศ โดยยึดหลักการเพิ่มบทบาทของการเมืองภาคประชาชน การกระจายอำนาจ การจัดระบบการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองที่เหมาะสมเป็นธรรม และจัดระบบตรวจสอบการใช้อำนาจทางการเมือง
2.ขอให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง คณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูประบบการเมืองการปกครองจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลางทางการเมือง ที่มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย โดยให้แต่งตั้งเฉพาะตัวประธานคณะกรรมการ และระบุในคำสั่งแต่งตั้งให้ประธานคณะกรรมการเป็นผู้เลือกสรรและแต่งตั้งกรรมการอื่นๆ ทั้งหมด ตามจำนวนที่เหมาะสมเอง โดยทำเป็นคำสั่งของประธานคณะกรรมการ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยที่ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายการเมืองจะต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการเลือกสรร หรือแต่งตั้งกรรมการของประธานคณะกรรมการตามอำนาจที่ได้รับมอบหมาย
3.ให้คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ในการปฏิบัติหน้าที่ภายในกรอบระยะเวลาไม่เกิน 120 วัน โดยให้ มีอำนาจเรียกข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ และเรียกบุคคลใดๆ มาชี้แจงให้ข้อมูล โดยจะต้องจัดงบประมาณในการดำเนินการในลักษณะเงินอุดหนุนให้ เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ โดยคณะกรรมการจะต้องดำเนินการจัดทำข้อเสนอและความเห็นต่างๆ โดยรับฟังและรายงานต่อสาธารณะอย่างเปิดเผยและสม่ำเสมอ และเมื่อแล้วเสร็จขั้นตอนการดำเนินการ คณะกรรมการจะต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินการ และ จัดทำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อการปฏิรูปการเมืองการปกครองตามแนวทางที่เสนอในรายงาน เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี
4.ขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศรับรองต่อสาธารณะในนามรัฐบาลตั้งแต่ต้นว่า เมื่อได้รับข้อเสนอดังกล่าวจากคณะกรรมการแล้ว จะนำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการเมืองการปกครองตามรายงานดังกล่าวไปสู่กระบวนการลง ประชามติ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ และหากประชาชนได้ให้ความเห็นชอบในข้อเสนอตามรายงานดังกล่าวแล้ว คณะรัฐมนตรีจะนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่คณะกรรมการได้จัดทำขึ้นตามแนวทางดังกล่าว ขอความเห็นชอบต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามเนื้อหาทั้งหมดที่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการดังกล่าว
อัฐศิริ