เรื่องราวทางการเมืองของรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แค่เริ่มต้นก็ดูจะวุ่นวายเสียแล้ว โดยเฉพาะจากกรณีการเลือกเฟ้นคนที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งถูกตำหนิว่าให้ความสนใจกับโควตา มากกว่าพิจารณาความรู้ความสามารถ จนทำให้รัฐมนตรีหลายคนขาดคุณสมบัติ ทั้งคุณธรรม จริยธรรม และซ้ำร้ายรัฐมนตรีบางคนยังมีตำหนิ มีชื่อพัวพันความฉ้อฉล และเป็นที่สงสัยของสังคมอย่างกว้างขวาง
ในกรณีของ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมช.มหาดไทย ที่ถือเป็นจุดบอดสำคัญของรัฐบาลโดยถูกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวข้องคดีทุจริตยา ซึ่งพบว่ามีชื่อเกี่ยวพันทั้งในเอกสารการสอบสวนชุด นายธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข และในคำพิพากษาคดีจำคุก 15 ปี นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีต รมว.สาธารณสุข
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ในฐานะผู้ที่เคยติดตามคดีทุจริตยาอย่างใกล้ชิด ย้อนความกรณีในคดีทุจริตยาและเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข ว่าสมัย นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรมว.สาธารณสุข โดยระบุว่า ตนในฐานะประธานเครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนต่อต้านการทุจริต ได้รวบรวมรายชื่อ 5 หมื่นรายชื่อ และได้ใช้ช่องทางของพระราชบัญญัติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ให้ ป.ป.ช. ใช้อำนาจตามมาตรา 80 ให้ทำการตรวจสอบนายรักเกียรติเข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งทาง ป.ป.ช. พบว่า นายรักเกียรติมีทรัพย์สินจำนวน 103.8 ล้านบาท ที่ไม่สามารถชี้แจงได้ แจ้งแต่เพียงว่าเป็นเงินที่ได้มาจาการเล่นการพนัน
จากนั้น ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นผู้พิจารณาต่อไป ซึ่งศาลก็มีคำตัดสินยึดทรัพย์จำนวน 103.8 ล้านบาท และในส่วนคดีอาญา ป.ป.ช. พบว่าในจำนวนเงินดังกล่าว มีเงินอีก 5 ล้านบาท ที่นายรักเกียรติได้รับสินบทจากบริษัทยา จึงส่งมอบให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และก็ศาลมีคำพิพากษาให้นายรักเกียรติจำคุก 15 ปี
นอกจากนี้ในส่วนของ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมช.หมาดไทย และอดีตเลขาฯ ของนายรักเกียรติสมัยนั้น หลุดไปในชั้นการสอบสวนของ ป.ป.ช. ต่อมาภาคประชาชนจึงผลักดันให้ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีต รมว.สาธารณสุข ต่อจากนายรักเกียรติ ทำการตรวจสอบคดีทั้งระบบ จึงมีการตั้งคณะกรรมการสอบ โดยมี รศ.ธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น เป็นประธาน ปรากฏว่า มีการชี้มูลว่า มีกลุ่มคนสีดำอยู่ 4 คน หนึ่งในนั้นคือ นายปรีชา แต่นางสุดารัตน์ก็ไม่ได้มีการนำผลการสอบไปดำเนินการแต่อย่างใด
จึงเป็นเหตุให้ตนต้องทำการร้องทุกข์กล่าวโทษกับนางสุดารัตน์ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในปี พ.ศ.2548 กับ พล.ต.ต.วินัย ทองสอง ผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) ในขณะนั้น แต่ก็ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าแต่อย่างใดจนถึงบัดนี้
ทั้งนี้ ตนเคยทำเรื่องขอหนังสือเพื่อขอดูรายละเอียดผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบชุดนายธงทอง ทั้งนายธงทอง และ รมว.สาธารณสุข ในขณะนั้น แต่ก็ไม่เคยได้รับการอนุญาตแต่อย่างใด
เมื่อถามว่าเมื่อนายปรีชาได้เป็น รมช.มหาดไทย ในชุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมชาย 1 มีความเหมาะสมหรือไม่ ทั้งๆ ที่ผลการสอบของคณะกรรมการชุดดังกล่าวระบุชัดว่าเป็นกลุ่มคนสีดำ ที่มีความผิด น.ส.รสนา ระบุว่า ตนไม่อยากจะเอ่ย เรื่องนี้ต้องไปถามรัฐบาลที่นำกลุ่มคนเหล่านี้มาโดยไม่มีการพิจารณาถึงปูมหลังในอดีต
พร้อมกับแสดงท่าทีไม่อยากเอ่ยถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.สาธารณสุข คนปัจจุบัน และ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ โดยกล่าวเพียงว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่แล้ว รวมทั้งไม่คาดหวังว่า ร.ต.อ.เฉลิม จะทำการรื้อคดีกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง
“ไม่ขอฝากอะไร เรื่องเหล่านี้เป็นที่รู้ดีกันอยู่แล้ว ว่าถ้าคนใต้บังคับบัญชา กระทำผิดและไม่ถูกต้อง แต่ก็ยังจะส่งเสริมให้ได้รับตำแหน่งที่สำคัญๆอย่างนี้ สังคมก็เห็นๆ กันอยู่ และคิดว่าคุณเฉลิมคงไม่รื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาทำแน่ๆ” น.ส.รสนา กล่าว
พร้อมระบุว่าคงไม่ดำเนินการอะไรต่อไปอีก เพราะได้ทำหน้าที่ในส่วนของภาคประชาชนเรียบร้อยทุกประการแล้ว โดยมีการกล่าวโทษร้องทุกข์ ทั้งบริษัทยาที่ให้สินบน และในส่วนของเจ้าพนักงานที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ที่เหลือจึงเป็นส่วนของทางราชการ ซึ่งหากตนยังคงเดินหน้าฟ้องร้อง หรือกล่าวโทษร้องทุกข์อีก คงเหมือนเป็นงูกินหาง และต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีความกับข้าราชการที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หลายคน เพราะยังคงมีการนิ่งเฉยกันถ้วนหน้าจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าสื่อมวลชนต้องมีส่วนสำคัญในการเร่งผลักดันกระตุ้นคดีความดังกล่าวเกิดการพัฒนา และขอย้ำว่าตนและองค์ในเครือข่ายคงไม่เดินหน้าเรียกร้องอะไรนอกจากนี้ เพราะที่ผ่านมาก็ทำมามากพอแล้ว