คอลัมน์ : ประชาทรรศน์วิชาการ
คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตีความคำว่า “ลูกจ้าง” เพี้ยนไปจากคำว่าลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน โดยตีความกว้างขวางออกไป และอ้างพจนานุกรมมาเป็นหลักในการตีความ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นายกฯ สมัคร สุนทรเวช ต้องมีอันพ้นจากตำแหน่งผู้นำประเทศไป
ผู้คนในบ้านเมืองนี้ก็ได้วิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยกันอย่างกว้างขวาง ด้วยเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเกิดขึ้นในเวลาสำคัญ ที่กำลังมีการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลที่พยายามรักษากฎระเบียบของบ้านเมือง กับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย ซึ่งเข้ายึดถนนราชดำเนิน กีดขวางเส้นทางเสด็จฯ ที่สำคัญ และยังก่อพฤติกรรมที่อุกอาจด้วยการบุกเข้ายึดสถานที่ราชการ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารประเทศ
เมื่อผู้นำของประเทศต้องพ้นจากตำแหน่งไปเพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เหล่าผู้ละเมิดกฎหมายก็ออกอาการฮึกเหิม แต่อย่างไรก็ตาม ผู้นำของกลุ่มนี้ก็ยังต้องเผชิญกับข้อหาฉกรรจ์ คือ
“กบฏในพระราชอาณาจักร!”
มาถึงยามนี้ รัฐบาลใหม่ก็จะต้องพิจารณาว่า จะเลือกหนทางปฏิบัติกับกบฏกลุ่มนี้อย่างไร จึงจะเหมาะและถูกใจประชาชน? ซึ่งอีกไม่นาน ชาวบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ คงจะได้เห็นกัน
เรื่องประหลาดที่เกิดติดตามมาคือ หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กลับต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาคล้ายคลึงกันกับอดีตนายกรัฐมนตรี คือ
ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ท่านผู้นี้ก็ยังดอดไปหารายได้พิเศษ ด้วยการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเอกชน และได้รับเงินค่าสอนด้วย อีกทั้งยังมีการนำชื่อของตุลาการรายนี้ไปโฆษณาสถานศึกษาที่เจ้าตัวไปทำการสอน เพื่อจูงใจเด็กๆ ให้มาเข้าเรียนในสถานศึกษาเอกชนแห่งนั้นอีกต่างหาก
ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น คงจะต้องติดตามกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ เป็นการดักหน้ากลุ่มคนที่เคลื่อนไหวกดดันตุลาการรายนี้ให้โดนพิจารณาในข้อหาอย่างเดียวกัน โดยผู้ที่ออกมารับหน้าเสื่อแทนนั้นบอกว่า การไปสอนหนังสือ ให้ความรู้แก่นักศึกษานั้น เป็นเสรีภาพทางวิชาการ แตกต่างไปจากการจ้างธรรมดา สรุปความพอฟังกันเป็นภาษาไม่ยอกย้อน คือ
ถ้าเป็น “ลูกจ้าง” ผิดแน่ แต่ถ้าหากเป็นครู อาจารย์ ถือว่าเป็น “เรือจ้าง” ไม่ใช่ลูกจ้างลูกออนที่ไหน แม้จะได้เงินจากการสั่งสอนศิษย์ก็ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ
ว่ากันเสียอย่างนี้แล้วก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรดี คงบอกได้เพียงว่า ถ้าอยากจะ แถ โดยไม่เกรงใจประชาชน ก็เชิญแถกันเข้าไป...เอาให้สะดวก!
ทันทีที่ผมได้ยินคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แวบแรกที่ผมคิดก็คือ บทความของตัวเองที่เขียนลงในประชาทรรศน์ ชื่อบทความคือ
“วิบากกรรม ป.ป.ช. เห็นทีต้องคืนเงินอย่างนั้นหรือ?”
ผมมีความสงสัยในคำว่า “รัฐาธิปัตย์” จึงได้เขียนในเชิงตั้งคำถาม
...อยากจะถามท่านผู้รู้ว่า ไอ้อำนาจ “รัฐาธิปัตย์” ที่ชอบพูดกันนักหนา โดยเฉพาะตอนยึดอำนาจ ชอบพูดกันว่า “คณะรัฐประหารมีอำนาจรัฐาธิปัตย์” จริงๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่?
พจนานุกรมไทยไม่บัญญัติคำนี้ไว้ “บังสนธิ” ก็ได้ใช้อาญาสิทธิ์ส่วนตน ในฐานะผู้นำการรัฐประหาร ได้โขกกะโหลก (แบบหลวงพ่อคูณ) ด้วยการออกคำสั่ง คปค. แต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่คนที่บอกผมชี้แจงว่า อาญาสิทธิ์ที่ว่านั้นคือ อำนาจ “รัฐาธิปัตย์” ที่หัวหน้าคณะรัฐประหารมีอยู่ในมือนั่นไงเล่า!...
ผมเขียนต่อไปอีกว่า
“...แม้ในตำรับตำราของคณะรัฐศาสตร์แทบทุกมหาวิทยาลัย ชอบพูดกันถึงคำนี้นัก แต่พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่นักกฎหมายต้องยึดกันเป็นหลัก ในการแปลถ้อยคำกฎหมายตามแนวทางที่ศาลฎีกาท่านวางเอาไว้ กลับไม่มีคำนี้อยู่เลย แสดงว่าคำนี้ไม่ได้รับการ “ยอมรับ” ว่ามีอยู่ในภาษาไทย!!...”
ผู้เขียนเองนั้น มีความเชื่อมั่นว่า
ทางสำนักราชเลขาธิการคงจะไม่ตอบหนังสือของ เลขาธิการ ครม. โดยการใช้ถ้อยคำที่ไม่มีอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นแน่แท้ แต่สิ่งที่คาดไว้กลับผิดถนัด กล่าวคือ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงโดยนำหนังสือ (ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2549) ของ นายรองพล เจริญพันธุ์ เลขาธิการ ครม. ที่แจ้งความเห็นของสำนักราชเลขาธิการว่า
...คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ คปค. มีประกาศฉบับที่ 19 แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแล้วนั้น ย่อมถือได้ว่ามีผลสมบูรณ์ที่สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย เนื่องจากขณะนั้น คปค. มีฐานะเป็น "รัฐาธิปัตย์" มีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว...
ที่ต้องเอามาพูดวันนี้ ก็เพราะว่า...
หน่วยราชการ 2 แห่ง ที่เป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศ แต่ให้ความเห็นในเรื่องคำภาษาไทยแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว คือ
1.ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความคำว่า “ลูกจ้าง” กว้างขวางกว่าที่มีบัญญัติเอาไว้ในกฎหมายแรงงาน โดยเอาพจนานุกรมเข้ามาจับ นายกฯ สมัคร เลยต้องพ้นจากตำแหน่ง
2.นายอาสา สารสิน ราชเลขาธิการ ผู้รับผิดชอบงานทั้งหลายทั้งปวงของสำนักราชเลขาธิการ กลับใช้ถ้อยคำที่ไม่มีอยู่ในพจนานุกรม ตอบหนังสือสำคัญของฝ่ายบริหาร ที่สอบถามเรื่องความถูกต้องตามกฎหมายของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า การใช้ภาษาไทยบ้านเมืองเรานั้นมีปัญหาอย่างแน่นอน ทำไมหรือครับ
ตอบได้ว่า
ขนาดหน่วยงานสำคัญของชาติ และสำนักราชเลขาธิการ ยังมีความเห็นในเรื่องความสำคัญของ “พจนานุกรม” แตกต่างกันออกไป ถึงปานฉะนี้!
บอกตรงๆ เลยว่า
หากไม่เกรงใจกันแล้ว ผมจะวิพากษ์วิจารณ์สวนให้แรงๆ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ และทางท่านราชเลขาธิการ แต่มานั่งทบทวนดูแล้ว กลับเห็นว่าเท่าที่เขียนไปแล้วก็คงพอเพียงที่จะทำให้คนไทยทั้งหลายได้ฉุกคิดกันว่า
“ภาษาไทย” ของเรานั้น ดูท่าจะมีปัญหาแน่!
เหตุผลก็คือ...
ทั้งๆ ที่ทั้งกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาได้ให้ความสำคัญกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเอาไว้แล้ว แต่การพิจาณาของศาลฎีกาเองก็มีการใช้คำที่ไม่มีบัญญัติเอาไว้ในพจนานุกรม โดยเฉพาะคำเจ้าปัญหา คือ “รัฐาธิปัตย์” ไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาบางเรื่อง
การที่สถาบันศาลและหน่วยราชการสำคัญใช้คำที่ไม่มีอยู่ในพจนานุกรมกันอย่างไม่ระมัดระวัง หากมีคนแปลแตกต่างไปจากที่ท่านเข้าใจ เช่น แปลคำเจ้าปัญหา อย่าง “รัฐาธิปัตย์” ว่า
- รัฐาธิปัตย์ คือ อำนาจปกครองประเทศโดยวิธีเผด็จการ หรือ
- รัฐาธิปัตย์ คือ การปกครองบ้านเมืองด้วยการกดขี่ประชาชนโดยทรราช หรือ
- รัฐาธิปัตย์ คือ อำนาจสูงสุดในการข่มเหงประชาชน ฯลฯ
แปลมันอย่างนี้แหละ ใครจะว่าผิด ให้ไปเอาพจนานุกรมมายันกัน!
จึงต้องขอฝากให้ท่านผู้รู้ทั้งหลาย โดยเฉพาะบรรดาคณาจารย์ฝ่ายอักษรศาสตร์ ที่เชี่ยวชาญ ชำนาญภาษาไทยว่า น่าจะประชุมเพื่อพิจารณาหารือกันว่า
“คำที่ไม่มีอยู่ในภาษาไทย หากมีการใช้ในหนังสือราชการ สมควรที่ผู้เกี่ยวข้องจะปฏิบัติอย่างไรดี?”
ขอฝากไว้เป็นการบ้านเพียงแค่นี้ ขอได้โปรดนำไปลองพิจารณากันดู แต่อยากจะบอกว่า หากคำว่า “รัฐาธิปัตย์” นี้สำคัญจริง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แก้ไขมาก็หลายครั้งแล้ว
ทำไมจึงไม่มีการบัญญัติคำๆ นี้ เพิ่มเติมเข้าไปแต่อย่างใด!?
ก่อนจบเรื่องยุ่งๆ อยากให้ท่านอ่านบันทึกของข้าราชการหนุ่ม ซึ่งเป็นบุตรของข้าราชการผู้ใหญ่ผู้มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันดี ได้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงเพื่อน และมีผู้ใหญ่ได้ส่งต่อให้ผม ซึ่งอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ เลยต้องขออนุญาตนำมาลงให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณากันดู
ข้อความมีดังนี้ครับ...
...สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมถูกรุ่นน้องขอร้องให้ไปบรรยายกะทันหัน เรื่องการใช้คอมพิวเตอร์เบื้องต้น ที่ศูนย์ฝึกอบรมของหน่วยราชการ เพราะวิทยากรซึ่งก็คือสามีของเธอป่วยกะทันหัน เธอให้ข้อมูลว่า
"ผู้เข้ารับการอบรมชุดนี้เป็นข้าราชการที่ถูกบังคับให้มาอบรม เพราะไม่ผ่านการประเมินความรู้ด้านสารสนเทศ...ให้จบตามหัวข้อ...อย่าโต้ตอบ"
ผมรับปาก
เมื่อไปถึงห้องบรรยาย ผมก็เริ่มเข้าใจคำพูดของรุ่นน้อง แต่ละคนคุยกันอื้ออึงขณะผมแนะนำตัว ชายคนหนึ่งพูดเสียงดังให้ผมสอนวิธีแชตหาคู่ การดูคลิปวิดีโอและเว็บไซต์โป๊ หลายคนหัวเราะสนับสนุน ผมต้องตะล่อมให้เข้าสู่บทเรียนว่า
“ได้ครับ แต่ต้องหัดเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อน จึงจะเข้าไปดูได้”
ได้ผล!
ทุกคนเริ่มหาปุ่มเปิดเครื่อง และความโกลาหลก็เริ่ม เพราะวิธีเปิดปิดของเครื่องแต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน และที่น่าเวียนหัวที่สุดคือ ทำทุกอย่างแต่เครื่องไม่ทำงาน หาอยู่นานจึงพบว่าปลั๊กไม่ได้เสียบ
แค่เปิดครบทุกเครื่องก็ถึงเวลาพักทานกาแฟแล้ว
หลังหมดเวลาพัก ผู้เข้าอบรมก็ยังยืนสูบบุหรี่หรือจับกลุ่มคุยกัน ผมต้องประกาศผ่านไมค์เชิญเข้าห้อง บางคนมองด้วยความไม่พอใจ ผมชี้แจงว่า
“...ต้องรีบสอน เพราะยังมีอุปกรณ์ต่อพ่วงอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้ เช่น มอนิเตอร์ คีย์บอร์ด เมาส์ โมเด็ม ยูพีเอส...”
คุณพี่ผู้หญิงคนหนึ่งพูดแทรกขึ้นมาว่า
“ขอโทษนะคะ ตามระเบียบสำนักนายกฯ เวลาพิมพ์เอกสารราชการต้องใช้ภาษาไทย ช่วยแปลไอ้เตอร์ๆ เด็มๆ อะไรของคุณให้เป็นคำไทยหน่อยได้ไหมคะ จะได้ก่อประโยชน์กับการทำงานบ้าง...”
มีเสียงลอยมาตามลมให้ได้ยินจากท้ายห้องว่า
“เด็กสมัยนี้ติดไทยคำฝรั่งคำ...อยากให้รู้ว่าจบนอก”
ผมฉุนกึก สูดหายใจยาว
“ได้ครับ งั้นเอาใหม่ เรารู้วิธีเปิดเครื่องคณิตกรณ์แล้ว บางเครื่องอาจเป็นคณิตกรณ์ส่วนบุคคล บางเครื่องเป็นคณิตกรณ์วางตัก แต่ไม่ว่าอย่างไร...
...มันจะทำงานไม่ได้ถ้าขาดชุดคำสั่งระบบปฏิบัติการ และชุดคำสั่งประยุกต์อื่นๆ ประการต่อมา คณิตกรณ์จะต้องมีครุภัณฑ์ต่อพ่วง ซึ่งทำหน้าที่หลัก 2 รูปแบบ คือ นำเข้าข้อมูลไปส่งหน่วยประมวลผลกลาง กับนำข้อมูลที่ประมวลแล้วมาแสดงให้เราดู”
ผมชี้ไปที่จอภาพ
“นี่คือเครื่องเฝ้าสังเกต ซึ่งอาจหนาเทอะทะแบบจอโทรทัศน์ หรือเป็นจอภาพผลึกเหลวที่ให้ความคมชัดกว่า ส่วนครุภัณฑ์ต่อพ่วงที่นำเข้าข้อมูลไปให้หน่วยประมวลผลกลางอาจอยู่ในรูปหน่วยขับ ก และหน่วยขับ ข ซึ่งสามารถอ่านและบันทึกข้อมูลเก็บไว้ในแผ่นบันทึก ชนิดอ่อนปวกเปียก (floppy) หรือในจานบันทึกแบบแข็ง ที่หน่วยขับอุปกรณ์นำเข้าและส่งออกข้อมูล ยังมีในรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น...เครื่องกราดภาพ ตัวกล้ำและแยกสัญญาณโทรภาพ แต่ที่ขาดไม่ได้เลยคือสิ่งนี้”
ผมยกคีย์บอร์ดขึ้นมา
“แผงแป้นอักขระ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่สุด ที่เราจะป้อนชุดคำสั่งเข้าสู่เครื่องคณิตกรณ์ จะเห็นว่าบนแผงแป้นอักขระจะมีกระดุมหรือปุ่มอักขระมากมาย มีทั้งที่คุ้นเคยกันดี เช่น มหัพภาค อัฒภาค ทวิภาค วิภัชภาค ยัติภังค์ ปรัศนี อัศเจรีย์ เสมอภาค สัญประกาศ ทีฆสัญญา กับที่ยังไม่ได้บัญญัติศัพท์ เช่น กระดุมสอดแทรก กระดุมเข้าไป กระดุมหลบหนี กระดุมอวกาศถอยหลัง หรือ backspace...”
วันนั้นไม่มีใครได้ดูคลิปวิดีโอ ต่อมาผมได้รับผลการประเมินการสอนว่า
“ไม่น่าพอใจ และพูดภาษาไทย...แต่ไม่รู้เรื่อง!”…
จดหมายรำพันของข้าราชการหนุ่ม มีชื่อหัวข้อว่า “เมื่อผมต้องสอนคอมพิวเตอร์ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่” มีเนื้อความสั้นๆ เพียงเท่านี้
อ่านจดหมายของข้าราชการหนุ่มสายเลือดดีคนนี้จบแล้ว อยากจะบอกฝากไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองง่ายๆ สั้นๆ ว่า
“ท่านครับ...กรุณาอย่าทำภาษาไทยสับสน!!!”
....แฟนๆ ที่อยากอ่านหนังสือ “นินทา...ประชาธิปัตย์” (พรรคฝ่ายค้าน-ดักดาน) โปรดติดตามรายละเอียดใน vattavan.com ส่วนท่านที่ยังไม่ได้สั่งซื้อ “รัดทำมะนวย ...ฉบับหัวคูณ” และ “เหี้ยส่องกระจก” ต้องรีบสั่ง เพราะใกล้หมดเต็มทีแล้ว!...
วาทตะวัน สุพรรณเภษัช