วิจัยกสิกรเผยเทศกาลกินเจปีนี้ไม่ค่อยคึกคัก เหตุบางคนขาดอารมณ์ร่วมในกิจกรรม เพราะเครียดจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อมานาน ส่วนคนกรุงที่ตั้งใจกินเจหันมาประหยัดเพราะราคาสินค้าพุ่งขึ้นโดยเฉพาะผัก จึงหันไปพึ่งอาหารเจสำเร็จรูปมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อร้านอาหารเจตามสั่ง คาดปีนี้เงินสะพัด 2,100 ล้าน น้อยกว่าปีที่แล้วกว่า 10%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจ 2551 ภายใต้หัวข้อ “คนกรุงเทพกับเทศกาลกินเจปี 2551” จากกลุ่มตัวอย่าง 377 คน ระหว่างวันที่ 8-15 กันยายน 2551 โดยกระจายกลุ่มตัวอย่างตามอายุและรายได้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บริโภคอาหารเจเป็นประจำ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งมีอยู่ 10.7% ของคนกรุงเทพที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ถัดมาเป็นกลุ่มที่บริโภคอาหารเจเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจ 47.1% ของคนกรุงเทพที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง และที่เหลือ 42.2% เป็นกลุ่มที่บริโภคอาหารเจหน้าใหม่ และกลุ่มที่บริโภคอาหารเจตามแฟชั่น
โดยสองกลุ่มแรกนับว่าเป็นผู้ที่สร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจทุกปี แม้ว่าในปีนี้ผู้ที่บริโภคอาหารเจจะเน้นความประหยัด แต่ด้วยราคาวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารเจสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผัก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการประกอบอาหารเจ
จากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพที่เป็นกลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารเจเฉลี่ยประมาณวันละ 100-120 บาทต่อคน ซึ่งใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเมื่อเทียบกับในปี 2550 เมื่อนำมาคำนวณโดยอิงกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารเจแล้ว คาดว่ามูลค่าของธุรกิจอาหารเจในกรุงเทพฯ ในปี 2551 จะอยู่ที่ประมาณ 2,100 ล้านบาท เฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน เพิ่มขึ้นประมาณ 8.2% เมื่อเทียบกับปี 2550 ซึ่งนับว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าตลาดอาหารเจในปีนี้ต่ำกว่าเมื่อปีก่อนที่มีอัตราการขยายตัวเกือบ 10%
ทั้งนี้ เนื่องจากคนกรุงเทพที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเน้นประหยัด และอยู่ในภาวะที่ไม่มีอารมณ์ร่วมในการที่จะเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ของเหตุการณ์ความเครียดจากความวุ่นวายทางการเมือง แต่ยังมีปัจจัยที่ยังคงเอื้ออำนวยในการเติบโตต่อธุรกิจอาหารเจ เนื่องจากจำนวนคนกรุงเทพรับประทานอาหารเจเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น แต่เลือกวันและเลือกมื้อ รวมทั้งการรับประทานอาหารเจเพื่อที่จะได้ทำตามประเพณีขอร่วมกินเจทำบุญล้างกายและล้างใจ โดยการละเว้นการรับประทานเนื้อสัตว์ เท่ากับเป็นการลดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ทั้งนี้ การบริโภคอาหารเจสำเร็จรูปหรืออาหารเจกึ่งสำเร็จรูปพบว่ามีมากขึ้น เพราะราคาไม่แพง มีคุณภาพ และสะอาด ซึ่งอาหารเจสำเร็จรูปหรืออาหารเจกึ่งสำเร็จรูปสามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้
ส่วนร้านอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขายหรือตามสั่งต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรักษายอดขาย และต้องพลิกแพลงสูตรอาหารเช่นกัน เนื่องจากคาดว่าราคาวัตถุดิบในการประกอบอาหารเจโดยเฉพาะผักต่างๆ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหารเจคาดว่าจะมีราคาสูงขึ้น ผู้ขายอาหารเจกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในปีนี้ โดยการปรับราคาเพิ่มขึ้นนั้นทำได้ยาก เนื่องจากมีคู่แข่งขันในตลาดค่อนข้างมาก
ดังนั้น ทางเลือกของร้านอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขายหรือตามสั่ง ที่จะรักษายอดขายได้ในช่วงเทศกาลกินเจคือ เลือกวัตถุดิบและหาแหล่งวัตถุดิบเพื่อลดต้นทุนในการผลิต ลดปริมาณอาหารลงเล็กน้อย หรือขึ้นราคาอาหารประมาณ 5-10 บาทต่อถุงหรือจาน
ทั้งนี้ เทศกาลกินเจที่จะมาถึงในวันที่ 29 กันยายนนี้ คาดว่าสภาพตลาดจะมีการแข่งขันอย่างรุนแรง เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ถดถอย และมุ่งเพิ่มยอดขายเพื่อให้ผลประกอบการปลายปีเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยรูปแบบการแข่งขันจะยังคงเป็นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตามจุดขาย จัดรายการส่งเสริมการจำหน่ายเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยตรง และพยายามลดต้นทุนทุกด้านเพื่อคงราคาสินค้าไว้ รวมถึงการเข้าสนับสนุนในชุมชนที่จัดพิธีกินเจ เช่น ภูเก็ต ตรัง เป็นต้น
สำหรับส่วนประกอบอาหารเจที่ได้รับความนิยมในช่วงเทศกาลกินเจ ได้แก่ ผักต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นวัตถุดิบสำคัญอย่างหนึ่งในการประกอบอาหารเจ โปรตีนเกษตร โดยยอดจำหน่ายโปรตีนเกษตรในช่วงเทศกาลกินเจในแต่ละปีคาดว่าสูงถึง 200 ล้านบาท และน้ำมันพืชและซอสปรุงรส ซึ่งประมาณการว่าในช่วงเทศกาลกินเจในแต่ละปียอดจำหน่ายน้ำมันพืชและซอสปรุงรสเพิ่มขึ้นอีก 5% ของยอดจำหน่ายปกติ