คอลัมน์ : สิทธิประชาชน
ที่มา : ประชาไท
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน กลุ่มประชาชนผู้ห่วงใยประเทศไทยเข้าพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อติดตามผลและให้คำร้องเพิ่มหลังจากได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องขอเสนอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งลงนามโดยประชาชน 220 คน เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2551
โดยข้อเรียกร้องของกลุ่มดังกล่าวมี 2 ประเด็นหลัก คือให้ทางคณะกรรมการสิทธิฯ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ความรุนแรงจากการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่หน้ารัฐสภา ไม่เพียงแต่การละเมิดสิทธิของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ต้องรวมถึงการกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยตามหลักการกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง (ICCPR) ที่ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติและมีความเอนเอียงทางการเมือง เนื่องจากมีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่เช่นกัน
อีกประการคือ เรียกร้องให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกลุ่มพันธมิตรฯ นอกเหนือกรณีการสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม อย่างน้อย 3 กรณี ได้แก่ การปะทะกันในวันที่ 2 กันยายน 2551 ระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ กับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยเฉพาะกรณีการเสียชีวิตของ นายณรงศักดิ์ กรอบไธสง และการบาดเจ็บของทั้งสองฝ่าย ซึ่งต้องตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งสองฝ่าย
อีกกรณีหนึ่งคือ การกล่าวปราศรัยและใช้พื้นที่สื่อในเครือผู้จัดการบิดเบือนข้อมูล โจมตี ทำลายชื่อเสียง และสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นต่อนักกิจกรรม นักวิชาการ นักสหภาพแรงงาน ที่มีความเห็นและ/หรือข้อเสนอแตกต่างจากกลุ่มพันธมิตรฯ อันเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และบางกรณีมีการเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงต่อคนเหล่านั้นด้วย ส่วนกรณีสุดท้าย คือกรณีการบุกยึดสถานีโทรทัศน์ NBT การปิดล้อมรัฐสภา ตลอดจนการมีอาวุธในครอบครอง
นอกจากนี้ ทางกลุ่มประชาชนผู้ห่วงใยประเทศไทยยังได้ให้คำร้องเพิ่มใน 3 กรณี ได้แก่ กรณีที่เว็บไซต์ผู้จัดการเปิดให้มีการแสดงข้อความ ความเห็นเชิงปลุกระดม ให้เกิดความเกลียดชังต่อผู้ที่เห็นต่างจากแนวทางพันธมิตรฯ โดยใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจนเป็นเหตุให้นายจ้างเลิกจ้างผู้ถูกกล่าวหา
อีกกรณีหนึ่งเป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนผ่านการปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ และทางเว็บไซต์ผู้จัดการ รวมทั้งเรียกร้องให้ปิดเว็บไซต์ด้วยข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกรณีสุดท้ายคือการคุกคามต่อปัจเจกบุคคลผ่านการยั่วยุบนเวทีพันธมิตรฯ หรือการใช้พื้นที่ในเว็บไซต์ผู้จัดการในการปลุกระดมยั่วยุให้ไปทำร้ายปัจเจกบุคคลที่เห็นต่างจากพันธมิตรฯ ด้วยข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ด้าน นางสุนีย์ ไชยรส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ทางคณะกรรมการจึงกำลังทำการตรวจสอบทุกฝ่ายและใช้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณา นอกจากนี้ ยังกล่าวด้วยว่า กรณีนี้เป็นกรณีพิเศษที่คณะกรรมการชุดใหญ่มีโอกาสได้รับฟังและแลกเปลี่ยนในที่ประชุม ทั้งนี้คณะกรรมการสิทธิฯ มีการตรวจสอบบ้างแล้วและการทำงานยังไม่ยุติ โดยในกรณี 7 ตุลาคม 2551 ได้ลงไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บและเจ้าหน้าที่แล้ว
ส่วนกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากพันธมิตรฯ เป็นประเด็นที่ต้องแยกออกไปอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกรรมการจะรับฟังข้อเท็จจริงวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาด้วย ทางกรรมการจะทำการแยกแยะเพราะประเด็นมีความซับซ้อน