ที่มา ไทยรัฐ
การเกิดขึ้นของพรรคภูมิใจไทยต้องบอกว่าไม่ธรรมดาและถูกมองว่าคือขั้วที่ 3 ของการเมืองอนาคตจากนี้ไปเพราะเป็นการรวมตัวของนักการเมืองระดับ “เขี้ยว” ที่มีบทบาททางการเมืองมานานพอสมควร
3 ขั้วที่ว่าก็คือประชาธิปัตย์ เพื่อไทยและภูมิใจไทย
แม้ว่าตอนนี้ยังมี ส.ส.ไม่มากนัก แต่ก็เป็นลำดับ 3 รองจากเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ แต่ดูจากความเคลื่อนไหวจากงานเปิดตัวก็คงจะพอมองเห็นแล้วว่ามีอนาคตแน่ และจะมี ส.ส.เข้ามาสังกัดอีกไม่น้อย โดยเฉพาะจากพรรคร่วมและพรรคเพื่อไทย
“เพื่อไทย” ส่อเค้ามากที่สุด แต่เนื่องจากยังติดขัดข้อกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติจึงยังออกมาไม่ได้ ต้องรอ “ยุบสภา” เลือกตั้งใหม่จึงจะย้ายพรรคได้
ดูจากฐานสำคัญทั้งในแง่บุคคลและเงินทุนแล้วถือว่ามี “หน้าตัก” ไม่เบา โดยเฉพาะแกนนำจริงๆ ที่ยังถูกเว้นวรรคการเมืองเข้ามาร่วมประสานไม่ว่าจะเป็นนายเนวิน ชิดชอบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายอนุทิน ชาญวีรกูล นาย
สุชาติ ตันเจริญ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม
นี่คือตัวหลักของพรรคภูมิใจไทย รุ่นราวคราวเดียวกัน
และที่แน่นอนหัวหน้าพรรคน่าจะชื่อ “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล”
และมี “พรทิวา นาคาศัย” เป็นเลขาธิการพรรค หัวหน้าและเลขาธิการ มีหลักประกันในตัวอยู่แล้วคือ “ทุนหนา”
ดังนั้น จึงมีความพร้อมทั้งคนและทุน โดยมีภาคอีสานเป็นฐานสำคัญ การเลือกตั้งครั้งต่อไปหากมองตามรูปการณ์แล้ว ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย โอกาสที่ชนะเลือกตั้งเพื่อเป็นรัฐบาล พรรคเดียวคงจะยาก เพราะประชาธิปัตย์นั้นถือว่าบอดที่อีสาน
แม้การได้เป็นนายกฯและแกนนำรัฐบาลพยายามที่จะนำนโยบายประชานิยมมาใช้อย่างเต็มที่โดยอาศัยวิกฤติเศรษฐกิจที่ต้องกระตุ้นให้ฟื้นตัวเป็นช่องทาง แต่เนื้อแท้แล้วมันก็ครือกัน เพียงแต่ว่าจะใช้อย่างไร เน้นไปตรงจุดไหน
เพียงแต่ยังเป็นประเภทมือใหม่หัดขับ การพยายามเล่นบทพ่อบุญทุ่มจึงไม่ถนัดนัก ยิ่งมีการจ่ายให้หัวละ 2,000 บาท ฟรีให้กับผู้ประกันตนที่มีรายได้ตํ่ากว่า 1.5 หมื่นบาท และข้าราชการวงเงิน 19,000 ล้านบาท ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ฟรีๆ ราว 9 ล้านคน
ประชานิยมตัวนี้จึงถูกโจมตีเช็ดว่าเป็นการตำนํ้าพริกละลายแม่นํ้า ไม่ได้ผล ไม่ได้ประโยชน์ต่อการแก้ปัญหา แม้จะโต้ว่าเอามาจากตำราต่างประเทศ ก็ทำอย่างสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ได้ดูว่าทำแล้วมันได้ผลหรือไม่
แน่นอนว่าประชาธิปัตย์ก็คาดหวังว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ และประชานิยมจะช่วยให้ชาวรากหญ้าหันมาหนุนประชาธิปัตย์ เพื่ออนาคตทางการเมืองข้างหน้าที่จะทำให้ภาคอีสานได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างที่นายอภิสิทธิ์พยายามดึง “ยายเนียม” มาเป็นตัวเชื่อม
เช่นกันในสถานการณ์ที่เป็นจริง พรรคเพื่อไทยหากไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือขยับตัวต่อโครงสร้างพรรคหรือการบริหารเสียใหม่ สร้างผู้นำใหม่ การแยกตัวออกจาก “ทักษิณ” ให้ชัดเจนขึ้น แม้จะมีเงินทุน แต่โอกาสคงไม่เหมือนที่ผ่านมาแน่
ยิ่งพรรคภูมิใจไทยที่ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.อีสานในเครือข่ายไทยรักไทยเดิมและมุ่งเน้นแนวทางประชานิยมเต็มตัวย่อมมีความได้เปรียบและเข้ามามีอิทธิพลแทนได้ แม้ว่าจะไม่ได้มากสุดจนเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ แต่ก็จะเป็นตัวแปรการเมืองที่สำคัญ
ไม่ว่าขั้วไหนก็ต้องการให้ร่วมรัฐบาล
ข้อสำคัญพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างรวมใจไทยชาติพัฒนา ประชาราช ชาติไทยพัฒนา เพื่อแผ่นดิน อนาคตต่อไปน่าจะไปรวมกับพรรคใหญ่ หรือถ้าได้ ส.ส.ก็ไม่มากนักมิอาจเป็นตัวแปรได้
และจะเป็นหนามยอกอกประชาธิปัตย์ในรัฐบาลชุดนี้ด้วย.
“สายล่อฟ้า”