ที่มา ประชาทรรศน์
โดย จรัล ดิษฐาอภิชัย
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีคนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำย่อ “อาเซียน” (Association of Southeast Asian Nation) ค่อนข้างมาก เนื่องมาจากแกนนำบางคนของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศจะประท้วงการประชุมนี้อย่างแข็งขัน เริ่มจากฝ่ายรัฐบาล หลังจากออกมาแถลงขอร้องให้เห็นแก่ประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน เป็นเจ้าภาพจัดประชุมแล้ว ก็มีมติเลื่อนสถานที่ประชุมไปหัวหิน ส่วนฝ่ายประชาชนคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า นปช. จะต้องแถลงต่อรัฐบาล 9 ประเทศสมาชิกว่ารัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีที่มาโดยไม่ชอบธรรมทางการเมือง และจะต้องประท้วงมิให้ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าประชุม เพราะเป็นผู้ร่วมยึดสนามบินสุวรรณภูมิ มีลักษณะเป็นผู้ก่อการร้ายสากล มิใช่ล้มการประชุมสุดยอดอาเซียน ในฐานะที่พอรู้เรื่องอาเซียนบ้าง ผมขอแสดงทรรศนะ ท่าทีต่อการประชุมดังกล่าวด้วยคน
คงต้องย้อนหลังไปสักนิด อาเซียน ตั้งขึ้นจากการประชุมผู้นำ 5 ประเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2510 ขณะนั้น ผมเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มมีความคิดซ้ายหรือสังคมนิยม คนมีความคิดดังกล่าว ส่วนใหญ่จะมีท่าทีต่อต้านการตั้งอาเซียน เพราะเห็นว่าองค์การระหว่างประเทศนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อร่วมมือกันต่อต้านประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น จีน เวียดนามเหนือ และปราบปรามคอมมิวนิสต์ในแต่ละประเทศ ผมเองก็มีท่าทีเช่นนี้ แต่ต่อมาก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาสนับสนุนอาเซียนเพื่อให้เป็นองค์การภูมิภาคที่แข็งแกร่งมีอำนาจต่อรองและแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์ และให้มีกลไกส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิกอาเซียน ผมเคยพูดในที่ประชุมภูมิภาคเกี่ยวกับอาเซียนและสิทธิมนุษยชน ณ กรุงมนิลา เมื่อปี พ.ศ.2548 ว่า 30 กว่าปีที่แล้ว ผมต่อต้านอาเซียน วันนี้ มาพูดสนับสนุน แต่อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอวิจารณ์ว่าตราบถึงทุกวันนี้ รัฐบาลประเทศอาเซียน ไม่เฉพาะพม่า ทุกประเทศ รวมทั้งไทย ยังไม่สนใจเคารพสิทธิมนุษยชนของพลเมืองตน
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว อาเซียนครบ 40 ปี และได้ยกร่างกฎบัตรของอาเซียน (Asean Charter) เพื่อเป็นกฎ กติกา และหลักการยึดถือร่วมกันของสมาชิก 10 ประเทศ เพื่อให้กฎบัตรอาเซียนสมบูรณ์ คณะทำงานส่งเสริมการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชน อาเซียนจัดประชุมหลายครั้งเพื่อรวบรวมความคิดเห็น ทำข้อเสนอต่อคณะผู้ยกร่างว่าควรจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอะไรบ้าง ผมเข้าร่วมประชุมดังกล่าวที่จาการ์ตา และเสนอความคิดเห็นว่า อาเซียนตั้งมาจะครบ 40 ปีแล้ว ประชาชนแต่ละประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ามีองค์การนี้ อย่างในประเทศไทย คนที่รู้จักอาเซียนไม่น่าจะเกินแสนคน ถือเป็นความล้มเหลวของอาเซียน สุดท้าย ผมเสนอความคิดให้นำร่างกฎบัตรอาเซียนมาถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนประกาศใช้
กล่าวเฉพาะการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะมีขึ้นปลายเดือนหน้า ซึ่งหลายฝ่ายวิตกกังวลว่า นปช. จะประท้วงอย่างนั้นอย่างนี้ ผมขอทบทวนความทรงจำของผู้วิตกว่า การประท้วงการประชุมนานาชาติ การประชุมภูมิภาคเกิดขึ้นอยู่แทบทุกครั้ง ไม่ว่าการประชุมขององค์การค้าโลก (World Trade Organization) เวทีโลกเศรษฐกิจ (World Economic Forum) เมื่อมีการประชุมเอเชียและยุโรป (ASEM) ในประเทศไทย สมัยรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา บรรดาเอ็นจีโอก็ประท้วง ต่อมา มีการประชุมว่าด้วยการค้าและพัฒนาของสหประชาชาติ (UNCTAD) สมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย และการประชุมเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เอ็นจีโอก็ประท้วงเช่นกัน เพราะฉะนั้นการประท้วงการประชุมองค์การระหว่างประเทศไม่ว่าประเทศไหนเป็นเจ้าภาพ เอ็นจีโอและประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการประชุมด้วยเหตุผลต่างๆ กัน จะเคลื่อนไหวประท้วงอันเป็นสิทธิทางการเมืองของประชาชนอาเซียน
ในช่วงที่ผ่านมา เอ็นจีโอไทยหลายคนก็เคยไปร่วมประท้วงผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าในการประชุมสุดยอดอาเซียนกับเอ็นจีโอประเทศอื่นๆ มาแล้วหลายครั้ง หากมีใครประท้วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ อย่าโวยวายจนเกินเหตุ