ที่มา Thai E-News
ที่มา ไทยรัฐ
14 มกราคม 2552
ความเสียหายของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ได้รับจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิยังสร้างความหวาดวิตกต่อนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นระบุว่า หากมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอีกจะเป็นความเสี่ยงต่อการเข้ามาลงทุนในไทย
ชี้ภาพปิดสนามบินยังหลอนติดตา ญี่ปุ่นขอเวลา 2 ปีว่ากันใหม่ลงทุนต่างประเทศ
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอของบประมาณในการกระตุ้นการลงทุน 900 ล้านบาทต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีแผนที่จะสร้างโอกาสและการขยายตัวการลงทุนของประเทศไทยด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างประเทศ, การไปพบปะนักลงทุนในต่างประเทศ (โรดโชว์) เพื่อให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นในการลงทุนในไทย พร้อมกับตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในต่างประเทศเพิ่มเติม
โดยเตรียมที่จะออกไปโรดโชว์เพื่อกระตุ้นการลงทุนยังประเทศญี่ปุ่นในเร็วๆนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ว่า เจโทรได้สำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในไทย ล่าสุดพบว่า การลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นที่จะเข้ามาในประเทศไทยปีนี้คงปรับลดลง 10-20% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและการเมืองไทยที่ยังมีปัญหาความวุ่นวาย โดยนักลงทุนญี่ปุ่นต้องการให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนญี่ปุ่น เพราะขณะนี้บริษัทแม่ของบริษัทของญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ประกาศว่า บริษัทแม่จากญี่ปุ่นจะสั่งการให้บริษัทลูกที่ออกไปลงทุนในทั่วโลกชะลอการลงทุนในทุกประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกัน บริษัทแม่ในญี่ปุ่นก็ยืนยันว่าจะลดการลงทุนในประเทศญี่ปุ่นไปพร้อมๆกันเพื่อลดต้นทุนและลดความเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เริ่มขยายวงกว้างไปทั่วโลก และนักลงทุนที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า นักลงทุนญี่ปุ่นคาดว่าวิกฤติดังกล่าวจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีจึงจะฟื้นตัวและทำให้การลงทุนกลับคืนสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้เจโทรระบุว่า ในปีนี้หากปัญหาความวุ่นวายของการเมืองไทยยังไม่สงบลงแต่กลับมีความวุ่นวายอย่างต่อเนื่อง ปัญหาดังกล่าวจะสร้างความไม่มั่นใจให้นักลงทุนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เพราะปัญหาและความเสียหายของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ได้รับจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิยังสร้างความหวาดวิตกต่อนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นระบุว่า หากมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอีกจะเป็นความเสี่ยงต่อการเข้ามาลงทุนในไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า ในปี 51 ในส่วนของเม็ดเงินจากการลงทุนของต่างชาติมีโครงการขอรับบีโอไอ รวม 832 โครงการ ลดลงจากปี 50 ในอัตรา 1.5% มีมูลค่าการลงทุน 297,461 ล้านบาท ลดลง 40% เมื่อเทียบกับปี 51 ที่มีมูลค่า 502,432 ล้านบาทโดยการลงทุนของต่างชาติมีสัดส่วนถึง 66% โดยอุตสาหกรรมที่นักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุด คือ กิจการผลิตภัณฑ์ โลหะและอุปกรณ์ขนส่ง กิจการบริการและกิจการระบบสาธารณูปโภค
โดยนักลงทุนญี่ปุ่นยังเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ที่เข้ามามากที่สุดในปีที่ผ่านมา โดยมีโครงการที่ยื่นขอบีโอไอ 324 โครงการ ลดลง 1.8% มูลค่าการลงทุน 102,994 ล้านบาท ลดลง 30% โดยอุตสาหกรรมที่นักลงทุนญี่ปุ่นยื่นขอส่งเสริมมากที่สุด คือ กิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะและยานพาหนะ รองมาคือ กิจการบริการในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่สหภาพยุโรปมีโครงการยื่นขอส่งเสริม 170 โครงการ เพิ่มขึ้น 11% มูลค่าการลงทุนรวม 67,349 ล้านบาท ลดลง 11%
กลุ่มประเทศอาเซียนลดลงทั้งจำนวนโครงการและปริมาณเงินคือ 7% และ 0.15% ตามลำดับ โดยมีโครงการที่ยื่นขอส่งเสริม 117 โครงการ ปริมาณเงินลงทุนรวม 44,635 ล้านบาท แหล่งเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนสหรัฐฯ มีโครงการยื่นขอส่งเสริม 34 โครงการ มูลค่า 7,471 ล้านบาท ส่วนจีนยื่นขอส่งเสริม 21 โครงการ มูลค่า 1,505 ล้านบาท.