ที่มา ประชาทรรศน์
นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง กรณีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการมาตรการเพิ่มรายได้เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน และบุคลากรภาครัฐ รวมทั้งผู้ประกันตนที่รายได้ไม่เกิน 14,000 บาท ในวงเงิน 19,000 ล้านบาท ว่า จำนวนเงินดังกล่าวเป็นเงินที่นำมาช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้ต่ำ พร้อมทั้งกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีหลายบุคคลที่เข้าใจผิดกับหลักการของเงินดังกล่าวว่าจะให้อย่างไร จำนวนเท่าไหร่
สำหรับกระทรวงแรงงานได้รับอนุมัติเงิน จำนวน 16,000 ล้านบาท ให้กับผู้ประกันตนกว่า 8 ล้านคน โดยให้สำหรับผู้ที่มีฐานเงินเดือนไม่ถึง 14,000 บาท คนละ 2,000 บาท เพียงครั้งเดียว คาดว่าภายหลังการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะสามารถโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ประกันตนได้ภายในเดือนเมษายน โดยสำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องฐานข้อมูลผู้ประกันตน พร้อมกับวางระบบเพื่อขอเลขบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน แยกสมาชิกของแต่ละธนาคาร จากนั้นจะนำเสนอให้กับกรมบัญชีกลางเพื่อจ่ายเงินเข้าสู่บัญชีของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนโดยตรง
ส่วนบุคลากรภาครัฐ และข้าราชการที่มีฐานเงินเดือนไม่ถึง 14,000 บาท กระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการวางมาตรการให้การช่วยเหลือ ว่าจะนำเงินจำนวน 2,000 บาท จ่ายให้กับบุคลากรภาครัฐอย่างไร
ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ ศาสตราพิชาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว ถึงมาตรการการอัดฉีดเงิน 115,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่า เป็นมาตรการที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ กระจัดกระจายเกินไป ไม่ได้มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ต้องการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่สุด
ส่วนมาตรการช่วยเหลือแรงงานโดยเฉพาะการให้เงินผู้ที่มีเงินเดือนไม่ถึง 14,000 บาท จำนวน 2,000 บาท เป็นมาตรการที่ไร้ประโยชน์ และไม่เข้าใจว่ารัฐบาลทำเพื่ออะไร พร้อมตั้งข้อสังเกตุว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการหาเสียงมากกว่า
สำหรับมาตรการที่รัฐบาลที่ควรจะทำ คือ ใส่เงินเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยตรง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและควรจะมีมาตรการชะลอการเลิกจ้าง หากรัฐบาลจ่ายเงินให้ผู้ถูกเลิกจ้าง ก็ทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ที่ถูกเลิกจ้างจะนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยทันที ไม่นำไปเก็บออมหรือซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย
นอกจากนี้ รัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง โดยมีตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างร่วมมือกัน ส่วนวงเงินกองทุนเท่าใด รัฐบาลจะต้องมีการประเมินว่าคนถูกเลิกจ้างจะมีเท่าใด จึงจะสามารถจัดสรรงบประมาณสำหรับกองทุนได้อย่างชัดเจน
“ไม่อยากเห็นนายจ้างมองแรงงานเป็นเพียงทรัพยากร ควรมองว่าเป็นมนุษย์ และไม่ต้องการให้นายจ้างฉวยโอกาสอ้างว่าภาวะเศรษฐกิจไม่ดีแล้วปลดคนงาน ทั้ง ๆ ที่ธุรกิจยังเดินหน้าได้ รวมทั้งเห็นว่าหากเกิดภาวะเศรษฐกิจควรที่จะลดต้นทุนส่วนอื่น เช่น ค่าน้ำมัน วัตถุดิบ หรือภาษี ก่อนที่จะปลดคนงาน ซึ่งควร เป็นสิ่งที่ทำขั้นสุดท้าย”
รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปี 2551 มีโรงงานแจ้งขอเลิกกิจการกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม 2,294 แห่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.13% ทำให้คนงานตกงานทันที 61,577 ราย เพิ่ม 41.2% เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงส่งผลต่อการดำเนินงานภาคธุรกิจ โดยเฉพาะคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศลดลงอย่างมาก
โดยอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหามาก เช่น เครื่องแต่งกายเลิกจ้างแรงงาน 10,792 ราย เพิ่ม 92.58% ปิดโรงงาน 81 แห่ง เพิ่ม 28.57%, ผลิตหนังสัตว์และผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์เลิกจ้าง 7,863 ราย เพิ่ม 133.46% ปิด 44 แห่ง เพิ่ม 18.92%
นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์เลิกจ้าง 5,144 ราย เพิ่ม 61.61% ปิด 49 แห่ง เพิ่ม 13.95%, สิ่งทอเลิกจ้าง 4,930 ราย เพิ่ม 81.72% ปิด 56 แห่งเพิ่ม 33.33%, อาหารเลิกจ้าง 4,052 ราย เพิ่ม 36.43% ปิด 166 แห่ง เพิ่ม 22.06%, ผลิต ภัณฑ์อโลหะเลิกจ้าง 3,983 ราย เพิ่ม 44.10% ปิด 208 แห่ง เพิ่ม 10.64%, แปรรูปไม้ เลิกจ้าง 3,848 รายเพิ่ม 21.54% ปิด 193 แห่ง เพิ่ม 18.4% และผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์เลิกจ้าง 2,326 ราย เพิ่ม 11.61% ปิด 254 แห่งเพิ่ม 22.12% เป็นต้น
สำหรับจังหวัดที่ปิดมากเช่นกรุงเทพฯ 500 แห่ง เลิกจ้างงาน 10,413 คน, นครปฐม 110 แห่ง เลิกจ้าง 4,858 คน, ตรัง 93 แห่งเลิกจ้าง 1,659 คน, ปทุมธานี 77 แห่ง เลิกจ้าง 5,928 คน, ชลบุรี 76 แห่ง เลิกจ้าง 2,253 คน