ที่มา ประชาทรรศน์
กนง.รับลูกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีมติลดดอกเบี้ย "ขุนคลังกรณ์"ส่งซิกรัฐวิสาหกิจ-หน่วยงานรัฐ เร่งเบิกจ่ายงบ 8 แสนล้าน หวังฟื้นศรัทธาภาคการลงทุน-บริโภค ชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่เหมาะลดดอกเบี้ย แต่ยืนยันในระยะยาวมีความจำเป็นต้องลด
วันนี้ (14 ม.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.75% จาก 2.75% เหลือ 2.00% เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ น.ส.ดวงมณี วงศ์ประทีป ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวมากและแรงกว่าที่คาด การใช้นโยบายต่างๆ ต้องช่วยกันทุกด้าน โดยนโยบายการคลังน่าจะเป็นตัวหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเงินเข้าถึงมือประชาชนได้โดยตรง ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว ขณะที่มาตรการการเงินเป็นตัวเสริม เพื่อให้ต้นทุนทางการเงินลดลง โดยจะทำให้การส่งผ่านนโยบายการคลังมีประสิทธิภาพขึ้น
"ขณะนี้มีสัญญาณว่าอัตราการขยายตัวจะลดลงต่ำกว่าการประมาณการครั้งล่าสุดที่ 0.5-2.5% จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวรุนแรง และกระทบต่อการส่งออก แต่การมีนโยบายการคลังที่ชัดเจน จากการตั้งงบประมาณกลางปีที่ 1.15 แสนล้านบาท ซึ่งได้รวมส่วนของงบประมาณที่ชดเชยการขาดดุลการคลังทั้งหมดไว้ 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง 1.1 แสนล้านบาท และน่าจะเบิกจ่ายได้ 100% ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2552 ยังอยู่ที่ 94% น่าจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ และแม้ว่า ไตรมาส 4 ปี 2551 จะติดลบ แต่โอกาสที่จะพลิกฟื้นในไตรมาสแรกปีนี้มีสูง ดังนั้น จึงไม่มีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจปี 2552 ติดลบ" น.ส.ดวงมณี กล่าว
น.ส.ดวงมณี กล่าวว่า สำหรับแนวนโยบายเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อ ยังอยู่ในกรอบการประมาณการของ กนง.คือ 0-3.5% ต่อปี ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำกว่าเงินเฟ้อพื้นฐาน แต่จะไม่เกิดภาวะเงินฝืดทางเทคนิคที่มาจากเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกัน ดังนั้น นโยบายการเงินจึงสามารถผ่อนคลายต่อเนื่องได้ เพื่อช่วยเศรษฐกิจในหลายๆทาง เพราะหากต้นทุนเงินถูกลง จะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยได้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เองจะสามารถปรับลดอกเบี้ยลงได้ แต่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว
"ขณะนี้เรามีดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2% ยังสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายได้ต่อเนื่อง หากเห็นว่ามีความจำเป็น เพราะดอกเบี้ยนโยบายของไทยเคยลงไปต่ำสุดที่ 1.25% เมื่อปี 2546 แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังจะมีผลโดยตรงมากกว่า ขณะที่นโยบายการเงินต้องผ่านกลไกในการส่งผ่าน คือ ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณาว่าจะลดดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งปกติจะใช้เวลา 2-6 ไตรมาส แต่ขณะนี้น่าจะเร็วขึ้น เพราะปัจจัยต่างๆ เกิดขึ้นเร็วมาก"น.ส.ดวงมณีกล่าว
ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจ กระทรวงการคลังได้เสนอให้เร่งรัดการใช้งบลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจ ที่มีวงเงินค้างอยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาท รวมถึงเร่งรัดการใช้งบลงทุนของหน่วยงานรัฐในปี 2552 ที่มีอยู่ 3 แสนล้านบาท ให้เกิดการลงทุนได้ตามแผนงานที่เสนอไว้จริง เพื่อให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจเป็นตัวนำในการกระตุ้นและฟื้นฟูความเชื่อมั่นในภาคการบริโภคและการลงทุนของประชาชนและนักลงทุน
"เมื่อรวมกับมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยใช้งบกลางปีประมาณแสนล้านบาท น่าจะช่วยชดเชยการจับจ่ายใช้สอยในภาคเอกชนที่ลดลงได้ และน่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมา รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันและระบบเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2552 จะขยายตัวมากกว่า 2% หรือน้อยกว่า 2% ก็ได้ เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับสูตรในการคำนวณ และรอบการหมุนของเม็ดเงิน" นายกรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ นายกรณ์ กล่าวถึงการใช้มาตรการด้านภาษีว่า จะสรุปเรื่องและนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งได้หารือร่วมกับนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง และนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังแล้ว เห็นว่ามาตรการภาษีเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก ดังนั้น ควรจะเสนอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี รับทราบก่อนนำเข้า ครม.
"ผมเห็นว่าภาษีในบ้านเรายังสูงเกินไป ในระยะยาวควรจะต้องปรับปรุงและแก้ไข เพื่อจะได้สามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาได้มากขึ้น เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่เห็นจังหวะที่เหมาะสมในการปรับลดอัตราภาษี” รมว.คลัง กล่าว