แม้ว่าผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการมีตัวเลข ส.ส. ให้เห็นพอที่จะนำเข้าสูตรจัดตั้งรัฐบาล แต่การจัด ตั้งรัฐบาลก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จ เสร็จสิ้นลงอย่างรวดเร็ว ดั่งที่นาย สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน ออกมาแถลงข่าวถึงผลการเจรจาดึงพรรคการเมืองอื่นเข้าร่วมจนมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือ 240 เสียแล้ว
เมื่อพิจารณาตามตัวเลข อย่างไม่เป็นทางการของ กกต. ที่ประกาศออกมาล่าสุด พรรคพลังประชาชน 232 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 165 เสียง พรรคชาติไทย 37 เสียง พรรคเพื่อแผ่นดิน 25 เสียง พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 9 เสียง พรรคมัชฌิมาธิปไตย 7 เสียง และพรรคประชาราช 5 เสียง ก็สามารถจัดสูตรรัฐบาลเสียงเกินครึ่งได้ดังนี้
สูตรที่ 1 พรรคพลังประ ชาชน 232 เสียง + พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 9 เสียง + พรรคประชาราช 5 เสียง = 246 เสียง เกินกึ่งหนึ่ง 6 เสียง อัตราส่วน ส.ส. 7.03 คน ต่อเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง
สูตรที่ 2 พรรคพลังประ ชาชน 232 เสียง + พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 9 เสียง + พรรคมัชฌิมาธิปไตย 7 เสียง = 248 เสียง เกินกึ่งหนึ่ง 8 เสียง อัตราส่วน ส.ส. 7.08 คน ต่อเก้าอี้รัฐ มนตรี 1 ตำแหน่ง
สูตรที่ 3 พรรคพลังประ ชาชน 232 เสียง + พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 9 เสียง + พรรคมัชฌิมาธิปไตย 7 เสียง + พรรคประชาราช 5 เสียง = 253 เสียง เกินกึ่งหนึ่ง 13 เสียง อัตราส่วน ส.ส. 7.23 คน ต่อเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง
สูตรที่ 4 พรรคพลังประ ชาชน 232 เสียง + พรรคชาติไทย 37 เสียง + พรรคเพื่อแผ่นดิน 25 เสียง = 294 เสียง เกินกึ่งหนึ่ง 54 เสียง อัตราส่วน ส.ส. 8.4 คน ต่อเก้าอี้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง
ทั้ง 4 สูตรนี้อยู่ภายใต้ ข้อสมมุติฐานที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ประกาศอยู่ตรงข้ามกับพรรคพลังประชาชน ฉะนั้นพรรคพลังประชาชนจึงมีทางเลือก 4 ทาง โดย 3 ทางเลือกแรกเป็นการรวมพรรคเล็กต่ำสิบ อันได้แก่พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคประชาราช ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจากมี ส.ส. ในสภาเกินกึ่งหนึ่งน้อยมาก จนแทบจะลาป่วยลากิจไม่ได้
ส่วนทางเลือกที่ 4 คือการดึงเอาพรรคชาติไทยซึ่งประกาศจับมือเป็นปาท่องโก๋กับพรรคเพื่อแผ่นดิน ก็จะทำให้รัฐบาลผสม 3 พรรคมีเสถียรภาพสูง เพราะมี ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง 54 คน อีกทั้งสูตร คำนวณเก้าอี้รัฐมนตรีก็กำลังพอดี ๆ นั่นคือ ส.ส. 8.4 คน ได้เป็นรัฐ มนตรี 1 คน
หากพรรคพลังประชาชนอยากไปดึงเอาพรรคเล็กมารวมอีกเพื่อให้มีเสียงเกิน 300 เสียง ก็สามารถทำได้ เพราะทำให้สูตรคำนวณ เก้าอี้รัฐมนตรีอยู่ในอัตรา ส.ส. 9 คน ต่อรัฐมนตรี 1 คน และเชื่อว่าจะเป็นรัฐบาล ที่มีเสถียรภาพสูงมาก เนื่องจากเป็นการโดดเดี่ยวพรรคประชาธิปัตย์ให้นั่งอยู่ซีกฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียว
แต่ปัญหามีอยู่ว่า พรรคชาติไทยกับพรรคเพื่อแผ่นดิน ยังใส่เกียร์ว่าง ไม่ตัดสินใจเดินหน้าจับขั้ว กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะต้องการให้ กกต. รับรองผลการเลือกตั้งจนได้จำนวนใบเหลืองใบแดงเรียบร้อยเสียก่อน ขณะที่พรรคต่ำสิบ 3 พรรคก็หันไปจับมือกันตั้งเป็นกลุ่ม 21 เพื่อให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า กลุ่ม 21 ก็ยังไม่ตัดสินใจเลือกฝ่าย
ดั่งจะเห็นจากกรณีนาย สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชนออกมาประกาศความ สำเร็จในการรวบรวมเสียง ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง แต่ปรากฏว่า ผ่านไปเพียงไม่กี่นาที นายสมศักดิ์ เทพ สุทิน หัวหน้ากลุ่มมัชฌิมา ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า ยังไม่มีใครติดต่อทาบทามเข้าร่วมรัฐบาล หรือแม้กระทั่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิ ปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันว่า ไม่เชื่อว่าพรรคพลังประชาชนจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จดั่งที่ประกาศ
เหตุที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่ลงตัวได้โดยง่าย เพราะ การแจกใบแดงใบเหลืองของ กกต. ยังไม่ปรากฏชัด เพราะพรรคการเมืองใดที่เจอใบแดง จะไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงได้อีก ทำให้ สูญเสียจำนวน ส.ส. ไปทันที และในทางกลับกันเป็นการเพิ่ม ส.ส. ให้กับพรรคการเมืองอื่นที่ไม่เจอใบแดง
หากคำนวณตามจำนวนสัดส่วนโดยมีสมมุติฐานว่า ทุกพรรคการเมืองน่าจะได้ใบแดงโดยเท่าเทียม กัน พรรคพลังประชาชน ก็มีโอกาส จะเจอใบแดงมากที่สุด เพราะมีจำนวน ส.ส. มากกว่าทุกพรรค หากเจอใบแดง 20 ใบ ก็จะเหลือ ส.ส. อยู่เพียง 212 คน ทำให้สูตรการจัดตั้งรัฐบาลตาม 3 สูตรแรกไม่สำเร็จ เพราะจะได้เสียงเพียง 234 เสียงเท่านั้น ทั้งนี้ต้องอยู่บนสมมุติ ฐานที่ว่า กลุ่ม 21 จะต้องไม่เจอใบแดงเลยสักใบเดียว ด้วยเหตุนี้ทางพรรคชาติไทย และพรรคเพื่อแผ่นดินจึงใจเย็นเป็นน้ำแข็ง เพราะเชื่อมั่นว่า ใบแดงน่าจะมากกว่า 20 ใบ เพราะ กกต. ยังไม่เคยแจกก่อนการเลือกตั้ง อีกทั้งการเลือกตั้งในอดีตก็จะมีตัวเลขใกล้เคียงเช่นนี้
เมื่อพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินไม่ยอมขยับหรือ แสดงท่าทีที่ชัดเจน ทำให้พรรคต่ำสิบหรือกลุ่ม 21 ก็ต้องหยุดนิ่งไปด้วย เพราะหากประกาศจับขั้วกับพรรคพลังประชาชนแล้วเกิดปัญหาใบแดงขึ้นมา อำนาจต่อรอง ก็จะพลิกกลับมาอยู่กับพรรคประชาธิ ปัตย์ และกลุ่ม 21 จะอยู่ในฐานะ ผู้เข้ามอบตัว มากกว่าเป็นผู้ร่วมก่อการ
ด้วยเหตุนี้ทางพรรคพลังประชาชนจึงเหยียบคันเร่งแบบ รถสองแถวตามตลาดสด เพื่อให้ ผู้โดยสารที่ยืนรอ รถคันอื่นอยู่ให้ รีบขึ้นรถของตัวเอง แต่พอไม่มี คนขึ้นก็เหยียบเบรก แล้วก็เหยียบคันเร่งใหม่เรียกลูกค้าสลับกันไปเช่นนี้
เพราะต้องการทำให้พรรคเล็ก 3 พรรคเกิดความหวั่นไหวกลัวตกรถเมล์เที่ยวสุดท้าย รีบตัดสินใจเข้าร่วม จัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะผู้นำของทั้ง 3 พรรคเล็ก ล้วนแต่เคยได้รับความเจ็บปวดมาจาก การร่วมรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาทั้งสิ้น
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เคยถูกบีบให้ยุบพรรคโดยเอาเรื่องคลองด่านมาต่อรอง ทำให้เกิดอาการ เครียดจนท้องเสียแทบทุกวัน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ถูกปลดออกจาก รมว.เกษตรฯ โดยไม่บอกล่วงหน้า ถึงกับกลั้นน้ำตาลูกผู้ชายไว้ไม่อยู่
นายเสนาะ เทียนทอง ถูกเด็ดปีกเด็ดหางเป็นรายแรก ๆ จนกลุ่มวังน้ำเย็นแทบไม่เหลือสภาพ และนายเสนาะ ที่เคยยิ่งใหญ่ เป็น ผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยจนมีความยิ่งใหญ่ ต้องกลายมาเป็นเสือลำบากอยู่ทุกวันนี้
หากยังไม่เข็ด อยากจะลองอีกครั้งก็ไม่มีใครว่าอะไร
แต่เชื่อว่า แผนขู่ให้ตกใจของพรรคพลังประชาชนไม่น่าจะได้ผล เพราะพรรคเล็กเหล่านี้ล้วนแต่เป็นขิงแก่ ไม่ค่อยตกใจอะไรง่าย ๆ มิหนำซ้ำยังทำเป็นใจเย็น นั่งรอดู กกต. ชี้ขาดใบเหลืองใบแดง แล้วค่อยมา ตักพุงปลากิน ภายหลัง