วันที่ 25 ธ.ค.สำนักข่าวต่างประเทศยังเกาะติดความคืบหน้าการเลือกตั้งของไทยอย่างใกล้ชิด โดยอ้างการให้สัมภาษณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากฮ่องกง ระบุอดีตนายกฯทักษิณกำลัง “หาทางเลือก” เพื่อเดินทางกลับเมืองไทยภายในช่วงกลางเดือน ก.พ.หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกินเดือน เม.ย. แต่จะไม่ลงเล่นการเมืองอีกต่อไปและต้องการเดินทางกลับเมืองไทยในฐานะพลเมือง “ผมอยากกลับเมืองไทยแค่ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง พอคือพอสำหรับการเมือง ผมจะไม่รับตำแหน่งใดๆทางการเมือง ยกเว้นหากพวกเขาเหล่านั้นต้องการคำปรึกษา ซึ่งผมจะให้โดยไม่คิดเรื่องค่าใช้จ่าย” อดีตนายกฯทักษิณระบุ อย่างไรก็ตาม อดีตนายกฯทักษิณกล่าวว่า ตนอาจทำหน้าที่ที่ปรึกษาให้แก่พรรคพลังประชาชน หรือพีพีพี เพื่อผสานกลุ่มสนับสนุนตนกับนักการเมืองฝ่ายพันธมิตร พร้อมเรียกร้องให้เกิดความปรองดองกันภายในชาติ รวมถึงขอบคุณรัฐบาลทหารที่ทำให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นได้ อันนำมาซึ่งประชาธิปไตยสู่เมืองไทยอีกครั้ง แต่สิ่งที่ทุกคนควรช่วยกันคือสร้างความปรองดองขึ้นภายในชาติ ทุกฝ่ายต้องทิ้งอดีตขมขื่นและมองไปข้างหน้าเพื่อสร้างอนาคตสดใสและความมั่งคั่งให้แก่ประเทศชาติ อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของอดีตนายกฯทักษิณยังระบุด้วยว่า แม้ตนไม่ปรารถนากลับสู่เส้นทางการเมืองจนกว่าจะรู้สึกว่าปลอดภัยดีแล้ว แต่ถ้าถึงเวลานั้นจริงๆ อาจต้องประเมินสถานการณ์ อีกครั้ง ส่วนประเด็นการตั้งรัฐบาลใหม่ อดีตนายกฯทักษิณ ระบุเชื่อมั่นจะสามารถตั้งรัฐบาลผสมได้ด้วยดี ถ้าไม่มีใครแทรกแซง
ปัดข่าว “ทักษิณ” หวนคืนการเมือง
ด้านนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ฮ่องกงว่า เนื้อหาที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าวออกมามีความคลาดเคลื่อน ขอยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่กลับมาทำงานการเมืองอย่างสิ้นเชิง หากเดินทางกลับมาประเทศไทยก็จะมาทำงานด้านสาธารณกุศล ขอตั้งข้อสังเกตถึงสำนักข่าวรอยเตอร์ที่นำเสนอนี้มีจุดประสงค์ อะไร เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยแปลคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณผิดมาแล้วครั้งหนึ่ง กรณีเงินในธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณพูดชัดว่าจะกลับมาช่วงกลางเดือน ก.พ.-เม.ย.2551 เพื่อมาต่อสู้คดีในฐานะประชาชนคนหนึ่ง จะไม่มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมแน่นอน ส่วนคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ก็คาดว่าจะกลับมาพร้อมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ
ย้ำไม่รับเป็นที่ปรึกษานายกฯแน่
นายนพดลกล่าวว่า สำหรับข่าวที่ระบุว่า พรรคพลังประชาชนจะให้ พ.ต.ท.ทักษิณมาเป็นที่ปรึกษาของพรรคนั้น พ.ต.ท.ทักษิณพร้อมให้คำปรึกษากับทุกรัฐบาล แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมารับตำแหน่ง หรือเป็นที่ ปรึกษานายกฯอย่างเป็นทางการ เมื่อถามว่ามีข่าว พ.ต.ท.ทักษิณร่วมมีบทบาททาบทามพรรคอื่นเพื่อตั้งรัฐบาล นายนพดลตอบว่า ไม่มีการทำเช่นนั้น ก่อนหน้านี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็เคยออกมาพูดว่าอดีตนายกฯส่งเงิน 1 หมื่นล้านมาช่วยเลือกตั้งผ่านทางสนามบินสุวรรณภูมิ แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไร เป็นการคาดการณ์จากความรู้สึก ไม่มีข้อเท็จจริง เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้คุยกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เพื่อทาบพรรคเล็กเข้าร่วมรัฐบาล นายนพดลตอบว่า เป็นแค่รายงานข่าว ไม่จริงทั้งสิ้น
เมื่อถามว่า คตส.แจ้งให้อดีตนายกฯเดินทางมาชี้แจงคดีในวันที่ 4 ม.ค.2551 นายนพดลตอบว่า เบื้องต้นทราบว่าจะส่งตัวแทนรับทราบข้อกล่าวหา แต่ตัว พ.ต.ท. ทักษิณจะยังไม่เดินทางกลับมาแน่นอน เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณเคยคุยกับนายสมัครหรือไม่ นายนพดลตอบว่า ได้โทร.มาแสดงความยินดี และก็เป็นธรรมเนียมจารีตที่ชัดเจนว่าหัวหน้าพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดก็ต้องได้เป็นนายกฯ เชื่อว่าการยกมือเลือกตัวนายกฯคงไม่มีปัญหา และเสียงที่จะตั้งรัฐบาลได้อยู่ที่ 280-300 คน แต่หากเกิน 300 คนก็อาจจะมากเกินไป
อัด “เติ้ง” ตั้งแง่ต่อรองเก้าอี้นายกฯ
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ต่อรองขอตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แลกกับการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล นายนพดลตอบว่า แม้จะเป็นธรรมชาติของการเมืองที่ต้องมีการต่อรองในการมาร่วมรัฐบาลกัน แต่นายบรรหารก็ต้องหันกลับไปดูตัวเองด้วยว่ามีอำนาจต่อรองแค่ไหน ต้องดูจำนวน ส.ส.ของตัวเองด้วย ถึงมาเรียกร้องเป็นนายกฯ นายบรรหารต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนด้วย วันนี้เขาเลือกพรรคพลังประชาชนมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล วัฒนธรรมการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ต้องให้ หัวหน้าพรรคที่ได้รับเลือกเป็นอันดับที่ 1 เป็นนายกฯ มันเป็นไปไม่ได้ที่พรรคคะแนนเสียงน้อยกว่าจะมาเป็นนายกฯ พรรคพลังประชาชนไม่สามารถรับเงื่อนไขนี้ได้ พรรคชาติไทยไม่ควรมองประโยชน์ของตนเองมากกว่าประโยชน์ ของประเทศ ตรงนี้จะทำให้พรรคชาติไทยเสียเอง ส่วนอนาคตจะสามารถมาร่วมรัฐบาลกันได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ของพรรคว่าจะพิจารณาอย่างไร ขณะเดียวกัน ก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของพรรคชาติไทยด้วยว่าจะปรับตัวให้เดินไปกับพรรคพลังประชาชนได้หรือไม่