การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงจะเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของการเมืองไทย แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้อยู่เพียงลำพังบนแผนที่โลก รัฐบาล นักการทูต นักวิชาการ และสื่อมวลชนต่างประเทศต่างจับตามองพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่เกาะติดนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนข่าวที่มากถึงเกือบ 4,000 ชิ้นที่นำเสนอออกมาทั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้ง
"ประชาชาติธุรกิจ" ได้รวบรวมมุมมอง และความคิดผ่านบทวิเคราะห์ และบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์และสำนักข่าวต่างประเทศ ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ต่างๆ อาทิ นิว สเตรทส์ ไทมส์ ของมาเลเซียและ อิเล็กทริก นิว เปเปอร์ ของสิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นตัวแทนมองในแบบโซนตะวันออก ขณะที่วอลล์สตรีต เจอร์นัล ของสหรัฐ ดิ อินดิเพนเดนต์ และเดอะ การ์เดี้ยน ของอังกฤษ เป็นหนึ่งในกลุ่มสื่อตะวันตก ที่สะท้อนมุมมองมาถึงไทย
ในบทบรรณาธิการ "Return to democracy" นิว สเตรทส์ ไทมส์ มองการเลือกตั้งที่ผ่านมาในด้านบวกว่า กำลังนำประเทศไทยหวนคืนสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยอีกครั้ง บรรดานายพล ซึ่งทำรัฐประหารโดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ เพื่อโค่นรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นจากอำนาจเมื่อ 15 เดือนก่อน ได้ทำตามคำพูดที่จะฟื้นการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้กับประเทศไทย
แต่ในอีกด้านหนึ่ง นิว สเตรทส์ ไทมส์ ได้ชี้ไปที่ความล้มเหลว 2 ประการของคณะปฏิรูปการปกครอง โดยระบุว่า พวกเขาไม่สามารถทำได้ดีตามคำมั่นสัญญาที่จะผสานรอยร้าวในประเทศที่แตกแยกกันอย่างลึกซึ้ง และอีกประการหนึ่งคือ พวกเขาไม่สามารถขจัด "ทักษิณ" ออกไปพ้นระบบการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ พวกเขาเพียงทำได้แค่ ทำให้ทักษิณลี้ภัยตัวเองไปอยู่ต่างประเทศ อายัดทรัพย์สิน ตั้งข้อกล่าวหาคอร์รัปชั่น ยุบพรรคการเมืองของเขา และห้ามคนใกล้ชิดและแกนนำของ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ให้ลงเล่นการเมือง
"แรงสนับสนุนที่น่าประทับใจของพรรคพลังประชาชนเป็นสัญญาณหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังมีคนรักอยู่มากน้อยแค่ไหน ขณะที่ความแข็งแกร่งของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็เป็นตัวบ่งชี้ว่า ยังมีคนเกลียดเขาอยู่มากน้อยแค่ไหนเช่นกัน" บทบรรณาธิการของสื่อมาเลเซีย ตั้งข้อสังเกตและทิ้งท้ายว่า แม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะยังไม่จบ แต่หากพรรคใดหรือใครก็ตามที่มีคะแนนนำ จะได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่ในฐานะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และนำพาประเทศไทยกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย
มุมมองข้างต้นสอดคล้องกับบทความใน "เดอะ อิเล็กทริก นิวส์เปเปอร์" ของสิงคโปร์ ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนความนิยมที่ต่อ "นักการเมือง" ของพวกเขา ดังความเห็นที่สื่อฉบับนี้สอบถามจากผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์รายหนึ่ง หลังจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในวงล้อมของฝูงชนที่ชื่นชมและมอบดอกไม้ให้กำลังใจ โดยกล่าวว่า นายอภิสิทธิ์เป็นคนที่ดูจริงใจและซื่อสัตย์คนหนึ่ง ซึ่งเขาจะโหวตให้พรรคการเมืองนี้ เพื่อให้นายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลทักษิณเป็นที่นิยมในฐานเสียงภาคตะวันออก เฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนฯ ในพื้นที่นี้ถึง 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ ดังนั้นหากผลการเลือกตั้ง ใครได้ครองพื้นที่นี้ก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งสูง
อย่างไรก็ดี มุมมองจากตะวันออกกลาง อย่าง "เยรูซาเล็ม โพสต์" ซึ่งแสดงความแคลงใจผ่านบทวิเคราะห์ ของ ดร.อิสซัค คาฟีร์ นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากสถาบันอินเตอร์ดิสซิปีนารี เซ็นเตอร์ ในเฮอร์ซลิยาที่ตั้งข้อสังเกตว่า ไทยกำลังหวนคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยจริงๆ หรือเขาเริ่มต้นที่หากพรรคพลังประชาชน ซึ่งครองเสียงข้างมากในการเลือกตั้งไม่ถูกตั้งข้อหาซื้อเสียงหรือโกงการเลือกตั้งมากเกินไปก็จะมีโอกาสได้ฟอร์มรัฐบาล แต่พรรคพลังประชาชนก็จะบริหารประเทศ โดยที่กองทัพมีอำนาจมากมาย ภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติ โดยเฉพาะในประเด็นที่สามารถแทรกแซงกระบวนการทางการเมืองได้โดยไม่ต้องปรึกษารัฐบาลพลเรือนก่อน
"ขณะนี้มีความกังวลบางประการว่า ทหารจะพยายามขัดขวางพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีเวลา 30 วันในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ให้สามารถทำเช่นนั้นได้ ซึ่งอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะเป็นการตัดสินว่า ไทยจะมุ่งหน้าไปสู่เสถียรภาพ หรือ ไร้ความมั่นคงต่อไป"
ในอีกฟากหนึ่งของโลก สื่อตะวันตก ให้น้ำหนักไปกับพัฒนาการที่จะตามมาหลังการเลือกตั้ง ดังบทวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์ เดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล ฉบับเช้าวันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม ที่ตั้งข้อสังเกตว่า การชนะการเลือกตั้งโดยไม่ได้มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรของพรรคพลังประชาชน ผลที่ตามมาอาจนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองและความปั่นป่วนในตลาดเงิน ตลาดทุนในประเทศไทยอีกครั้ง
สตีเฟน ไรต์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ เดอะ วอลล์สตรีตฯ อ้างคำกล่าวของนักวิเคราะห์ทางการเมือง ซึ่งระบุว่า ชัยชนะของพรรคพลังประชาชนย่อมเป็นการปูทางให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ กลับมาประเทศไทยหลังจากต้องลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พร้อมทั้งคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่ว่า ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่กองทัพไทยจะเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองเพื่อป้องกันการเข้าสู่อำนาจการเมืองของพรรคพลังประชาชน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ความวุ่นวายปั่นป่วนย่อมเกิดขึ้นกับนักลงทุน
วอลล์สตรีตฯ ได้อ้างความเห็นของวาณิชธนกิจ CIMB ที่คาดการณ์ว่า ดัชนีหุ้นตลาดหลักทรัพย์ไทยน่าจะตกลงไปมากกว่า 10% หากกองทัพเข้ามาเคลื่อนไหวเพื่อหยุดยั้งการเป็นผู้นำรัฐบาลของพรรคพลังประชาชน เนื่องจากมีสัญญาณบ่งชี้ นับตั้งแต่ 1 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติผ่านกฎหมายร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้อำนาจกับกองทัพเข้ามาจัดการแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ ในช่วงหลังการเลือกตั้ง
การเคลื่อนไหวของกองทัพ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สื่อนอกจับตามอง ดังที่สำนักข่าวรอยเตอร์ ตั้งข้อสังเกตหลังประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการว่า คำถามใหญ่สำหรับเวลานี้คือ กองทัพและเหล่ารอยัลลิสต์ที่ฝ่าย ผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรอ้างว่าเป็นกลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น จะยอมรับและปล่อยให้พรรคการเมืองจากฝ่ายผู้สนับสนุนนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่
เพราะทั้งทหารและชนชั้นนำเก่าในประเทศไทยยอมต้องเรียกร้องให้หยุดยั้งการกลับมามีอำนาจทางการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรผ่านตัวแทนทางการเมือง ซึ่งหนึ่งในหลายวิธีของการยับยั้ง พ.ต.ท.ทักษิณอาจรวมถึงการเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบการทุจริตในการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน อีกทั้งกองทัพย่อมยินดีให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลมากกว่า แม้ว่านักวิเคราะห์หลายคนจะชี้ให้เห็นว่า การรวมกันเป็นพรรครัฐบาลผสมจากพรรคการเมืองถึง 5 พรรคจะทำให้รัฐบาลอยู่ได้ไม่ถึง 1 ปีก็ตาม ซึ่งตรงกับการรายงานของ โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ซึ่งระบุว่า หากเกิดรัฐบาลผสมหลายพรรคในครั้งนี้ รัฐบาลย่อมเกิดความอ่อนแอและมีอายุสั้นได้
ขณะที่ เดวิด โคเฮน จากแอ็กชั่น อีโคโนมิกส์ ในสิงคโปร์ระบุว่า มองในแง่ดี ผลการเลือกตั้งอาจดำเนินต่อไป แต่เราไม่สามารถรู้ได้ว่า กองทัพจะทำอย่างไรต่อไป และไม่มีใครจะแกล้งทำเป็นรู้ได้ว่าทหารจะทำอะไรต่อ ซึ่งเรื่องนี้อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความกังวลและหัวเสียขึ้นมาบ้าง
แต่อย่างไรก็ตาม ในรายงานข่าวจากรอยเตอร์ที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ นิวยอร์ก ไทมส์ ได้ระบุว่า ตลาดทุนเริ่มมีความหวังกลับมาอีกครั้ง เมื่อรู้ว่าประเทศไทยกำลังจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ถึงจุดสิ้นสุดของช่วงเวลาความผิดหวังจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในไทยแล้ว หลังจากที่เมื่อปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยตกลงไปต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี มาอยู่ที่ 4% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2549 ที่มีการเติบโตอยู่ที่ 5%
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องการจับขั้วตั้งรัฐบาล ที่ปรากฏในบทวิเคราะห์ของสื่อต่างประเทศ เช่นเดียวกับสื่อไทย เริ่มจากเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ฉบับวันอังคารที่ 25 ธันวาคม ระบุถึงความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองในประเทศไทยในเรื่องการจับขั้วรวมพรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยระบุว่า ความผิดพลาดจากการได้รับเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองทั้งพรรคพลังประชาชนและพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำให้เกิดการต่อรองระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อการจัดตั้งรัฐบาลให้ลำบากมากขึ้น
"ไม่ว่าความเข้มแข็งของพรรคพลังประชาชนที่มี พ.ต.ท.ทักษิณและผู้สนับสนุนซึ่งมีอำนาจทางการเมืองอยู่มาก จะเป็นพลังพอจะจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ แต่การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจในประเทศไทยจะยังดำเนินต่อไป ซึ่งเหตุจากความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่เกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย"
ขณะที่หนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนต์ ในอังกฤษระบุว่า ชัยชนะจากการเลือกตั้งคือชัยชนะของผู้ถูกขับไล่ ซึ่งหลังการเลือกตั้งไม่ว่าจะพรรค พลังประชาชนหรือพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือ สมัคร สุนทรเวช จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังต้องเป็นผู้ที่ถูกจับจ้องอย่างแท้จริงอยู่ดี
โดย แคธี มาร์ก จาก ดิ อินดิเพนเดนต์ได้ตั้งคำถามไว้ในตอนท้ายบทความว่า หลังผลการเลือกตั้งปรากฏแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับไปรับคำพิพากษาตามที่ให้สัญญาหรือไม่ และหากเขากลับเมืองไทย เขาจะมีบทบาทใดในทางการเมือง และทหารจะปล่อยให้เขาจัดการอะไรได้มากแค่ไหน ซึ่งทั้งหมดนี้ดูเหมือนวิกฤตทางการเมืองในประเทศไทยยังคงอีกไกลกว่าจะสิ้นสุด
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เอสแอนด์พี ระบุในรายงานข่าวของเว็บไซต์ www.nytimes.com ระบุว่า หวั่นจะเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในประเทศไทย และหากกองทัพเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอีกครั้ง อาจเป็นสาเหตุทำให้ประเทศไทยถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะยิ่งสร้างความลำบากให้กับประเทศไทยและธุรกิจไทยที่ต้องการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศ
"ถ้ามีความแตกแยกจากสถาบันอื่นๆ นอกรัฐธรรมนูญเข้ามาเป็นรัฐบาล อีกครั้งในประเทศไทย หรือเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในสังคมอีก ย่อมมี ผลร้ายทั้งต่อเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ ซึ่งจะแย่ยิ่งกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา" เอสแอนด์พีระบุ
นายแม็กซิม เบอร์เนียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของแคนาดา ระบุในแถลงการณ์ว่า แคนาดารู้สึกยินดีที่ไทยสามารถกลับเข้าสู่เส้นทางของประชาธิปไตยได้อีกครั้ง และเรากำลังรอผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยเราจะติดตามและตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป