การที่ประชาชนไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ นั่นคงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าตื่นตัวทางการเมือง อย่าไปคิดโง่ ไม่รู้เรื่อง ไม่สนใจ ไม่ว่าจะคนในเมืองหรือคนบ้านนอก
เพียงแต่ว่าจะเลือกใคร พรรคไหน ต้องการให้ใครเป็นนายกฯ เป็นรัฐบาล ซึ่งก็แล้วแต่ความนึกคิดของคน 2 กลุ่มใหญ่
แต่ที่แน่ๆ ครั้งนี้สิ่งหนึ่งก็คือความรู้สึกที่ต้องการเปลี่ยนแปลง “การเมือง” ซึ่งประเด็นหนึ่งก็คือการอยู่ในอำนาจของ คมช. 1 ปีกว่าๆที่ผ่านมา ทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบการปฏิวัติยึดอำนาจ สนับสนุนหรือต่อต้าน
ต่างตกอยู่ในที่นั่งอันเดียวกันคือ เซ็ง เบื่อหน่าย ไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่เห็นอนาคต
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการยึดอำนาจ มีรัฐบาลภายใต้อำนาจทหาร แต่ไม่สามารถจัดการปัญหาต่างๆให้บรรลุเป้าหมายได้ มันก็เลยไร้ ประโยชน์ และผลพวงแห่งความไม่เชื่อมั่นทางการเมืองก็นำไปสู่ปัญหาทั้งภายในและนอกประเทศ
“เศรษฐกิจ” คือตัวหลักที่ชัดที่สุด
การเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากปัญหาการเมืองแล้ว เศรษฐกิจก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าอยู่กันอย่างนี้ไม่ได้แล้ว มีหวังประเทศพังแน่
ดังนั้น พฤติกรรมการลงคะแนนของคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในชนบทยังคงยึดเศรษฐกิจเป็นด้านหลัก และเชื่อมั่นว่าพลังประชาชนที่แปลงร่างมาจากไทยรักไทย น่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ และจะส่งผลโดยตรงต่อพวกเขาที่จะได้ประโยชน์อย่างที่โครงการประชานิยมต่างๆ
นี่พูดถึงทั้งระดับล่างในเมืองและชนบท
เพราะการลงคะแนนเสียงที่ผ่านมา เท่าที่สอบถามคนระดับล่างในเมืองต่างก็ยังพูดถึงไทยรักไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ดังนั้น พรรคการเมืองต่างก็รู้ดีก่อนการเลือกตั้งเสียอีกว่าพลังประชาชนจะต้องชนะเลือกตั้ง เพียงแต่คาดว่าตัวเลขจะไม่สูงเกินไปนัก หรือไม่ถึงเกินกึ่งหนึ่ง และในส่วนนี้จะไหลไปสู่พรรคการเมืองขนาดเล็กและขนาดกลาง
แต่กลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ โดยเฉพาะที่อีสานนั้นเจาะแทบไม่ได้ มิหนำซ้ำพลังประชาชนกลับได้ ส.ส.เกือบเต็มพิกัดอีกพรรคเพื่อแผ่นดินที่ว่ามาแรงและมีฐานเสียงที่อีสานก็ยังเอาตัวแทบไม่รอด
“หัวหน้าพรรค” ยังสอบตกเลย นับประสาอะไร
กรณีนี้ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อแผ่นดินยังตั้งคำถามอยู่เลยว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น โดยเฉพาะเป้าหมายหลุดเกือบหมด นัยว่างานที่เจอแรงกระแทกจากพลังประชาชนที่คิดว่าเพื่อแผ่นดินเป็นคู่แข่งสำคัญ
ก็เลยทุ่มกันสะบัดช่อเพื่อเอาชนะให้ได้
ที่สำคัญก็คือการเมืองในห้วงวิกฤติการจะเลือกพรรคใหญ่-พรรคเล็ก จึงมีความสำคัญ อย่างพรรคเล็กก็ไม่มั่นใจว่าจะอยู่รอดหรือไม่ พูดง่ายๆไม่เชื่อมั่น แม้จะชมชอบตัวบุคคลก็ตาม และปัจจัยหลักอีกหนึ่งก็คือ “เงิน” ซึ่งก็รู้กันดีว่าไม่มีทางสู้พรรคนี้ได้
เช่นกัน พรรคประชาธิปัตย์ที่ตัวเลขสูงถึง 166 คน ถือว่าเกินเป้า โดยเฉพาะสนามกรุงเทพฯมาแบบพลิกล็อกกวาดไปถึง 27 ที่นั่ง เกินคาดหมาย ระบบสัดส่วนก็ได้ถึง 33 ที่นั่ง แพ้พลังประชาชนแค่ที่นั่งเดียวเท่านั้น
ต้องยอมรับว่าคะแนนตีตื้นอย่างมากของประชาธิปัตย์น่าจะมาจาก “พลังเงียบ” ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างจังหวัด รู้ดีว่าโอกาสเป็นรัฐบาลมีน้อย แต่น่าจะเป็นฝ่ายค้านที่ดีได้ มองทะลุไปด้วยว่าโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลก็ยังมีหากได้คะแนนดีหน่อยแล้วพรรคเล็กเอาด้วย
ยิ่ง “เพื่อแผ่นดิน” แค้นโดนทะลวง จึงจับมือกับชาติไทยที่ถูกตัดเชือกไม่ให้ร่วมรัฐบาล
“อภิสิทธิ์” ก็เลยได้ลุ้นเก้าอี้นายกฯขึ้นมาทันที.
"สายล่อฟ้า"
คอลัมน์ กล้าได้กล้าเสีย