กรุงเทพฯ 16 มี.ค.- รมว.มหาดไทย ไม่อนุมัติ “อภิรักษ์” ลากิจ อ้าง คตส.ยังไม่สรุปว่าผิดจริง รวมทั้งเหตุผลในใบลาไม่ตรงกับที่แถลงต่อสื่อ ขู่หากไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ต่อเท่ากับละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หากจะแสดงสปิริตควรลาออกดีกว่า เพื่อจะได้เลือกผู้ว่า ฯ กทม.คนใหม่
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงกรณีที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ส่งหนังสือขอลากิจเป็นเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม ว่า ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่เหตุผลในจดหมายลากิจบอกว่า ต้องการไปปฏิบัติภารกิจส่วนตัว ซึ่งไม่ตรงกับเหตุผลที่นายอภิรักษ์ แถลงต่อสื่อมวลชน ว่า ต้องการขอยุติการปฏิบัติหน้าที่เพื่อพิสูจน์ตัวเอง หลังคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ระบุว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตการจัดซื้อรถ เรือดับเพลิงของ กทม. และตามกฎหมายต้องถือว่า คตส.ยังไม่ได้สรุปว่า นายอภิรักษ์ ผิด หากสรุปว่าผิดจริง นายอภิรักษ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อยู่แล้ว จึงไม่อนุมัติให้ลากิจ และการจะลากิจได้ ต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติ ไม่ใช่อยู่ ๆ มาหยุดปฏิบัติหน้าที่ และบอกว่าลากิจ ดังนั้น ขอฝากบอกไปยังนายอภิรักษ์ ว่า ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนการหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่หากต้องการจะแสดงสปิริต ก็ควรจะลาออกไป เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยแทนที่จะเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม ก็เร็วขึ้น
“ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ต่อมสปิริตสูง ก็ขอให้ลาออก แต่ถ้าถามผม ผมต้องบอกว่า อยากให้อยู่ ปฏิบัติหน้าที่ไปเถอะ อภิรักษ์ น้องรัก มาช่วยกันทำงาน เว้นแต่ว่า คตส.มีมติว่าผิด ทุจริตแล้วค่อยยุติการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกฎหมาย จะไปมอบอำนาจให้ใครทำหน้าที่แทนไม่ได้ ต้องไปทั้งชุด แต่ตอนนี้ถ้าอยากแสดงสปิริต ขอให้ วันเวย์ทิกเก็ต คือลาออกไปเท่านั้นเอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (17 มี.ค.) จะแทงหนังสือกลับไป และให้นายอภิรักษ์ กลับมาทำหน้าที่ตามปกติ ถ้าไม่มาปฏิบัติหน้าที่จะถือว่าเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ขอยืนยันว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่การกลั่นแกล้ง แต่จะต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพราะตนกลัวติดคุกเหมือนกัน เนื่องจากการที่ผู้ว่า ฯ กทม.ไม่มาปฏิบัติหน้าที่ ก็จะมีปัญหา และเสียหายได้ เพราะจะต้องมีการอนุมัติเรื่องต่าง ๆ และตอนนี้ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นแล้ว ไม่เช่นนั้นปลัดกรุงเทพมหานคร คงไม่ทำหนังสือมาสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา. - สำนักข่าวไทย