WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, August 27, 2008

เทวทัต ต้นตำรับเจ้าลัทธิมังสวิรัติ (1)

บทความชิ้นนี้เป็นบทความจากผู้อ่านที่กรุณาเขียนส่งมาให้ นสพ.ประชาทรรศน์ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ที่มีผู้นำเอาสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาไปใช้อย่างน่าวิตกว่าจะก่อให้เกิดความสับสน ไม่เข้าใจว่าผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านั้น ความจริงคือใคร มีเจตนาอย่างไรกันแน่ เหตุใดจึงแสดงบทบาทท่าทีเหมือนเป็นผู้สูญเสียผลประโยชน์ทางการเมืองเสียเอง แทนที่จะวางตนอยู่เหนือการเมือง และให้สติแก่ผู้คน พร้อมทั้งช่วยคลี่คลายความขัดแย้ง ทว่าไม่
จึงขอเสนอบทความเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย ในลักษณะการมองย้อนไปในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในอดีตอันยาวนาน ช่วงที่ยังมีพระพุทธเจ้าอยู่ แล้วชักชวนให้ตรึกตรองถึงเหตุการณ์ในปัจจุบัน
*******************************
เทวทัตเป็นใคร มีเหตุจูงใจอะไรในการประกาศลัทธิไม่กินปลาและเนื้อ (มังสวิรัติ) ตลอดชีวิต เกิดผลสืบเนื่องอย่างไรต่อพุทธศาสนาในขณะนั้น และพระพุทธเจ้าทรงแก้ปัญหาอย่างไร คือประเด็นที่จะได้กล่าวไปตามลำดับ แต่ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าว ขอนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้มาใหม่ในแวดวงพุทธศาสนาได้ใช้ประกอบการพิจารณา ดังนี้
เทวทัตเป็นพระราชโอรสในราชวงศ์ศากยะ เป็นญาติของพระพุทธเจ้า ออกบวชตามพระพุทธองค์ พร้อมด้วยพระราชกุมาร 6 พระองค์ คือ ภัททิยราชกุมาร อนุรุทธราชกุมาร อานนทราชกุมาร ภคุราชกุมาร กิมพิลราชกุมาร และเทวทัตราชกุมาร ในช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่พระธรรมคำสอนเป็นที่ประจักษ์ มีผู้เลื่อมใสเข้าบวชเป็นพระสาวกจำนวนมาก จนกลายเป็นกระแสทางเลือกใหม่ของสังคมในขณะนั้น
ในจำนวนพระราชกุมารทั้ง 6 ที่บวชเป็นพระภิกษุแล้ว ส่วนใหญ่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์หมดสิ้นกิเลส โลภ โกรธ หลง ในเวลาไล่เลี่ยกัน มีเพียงพระอานนท์ที่บรรลุธรรมขั้นโสดาบัน (ละกิเลสได้เพียงบางส่วน ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์) ส่วนพระเทวทัตได้ฌาณสมาธิที่ทำให้มีฤทธิ์เดช สามารถแปลงร่างเหาะไปไหนมาไหนได้ เป็นอำนาจพิเศษที่เกิดจากการปฏิบัติสมถกรรมฐาน บำเพ็ญสมาธิเช่นเดียวกับฤๅษีชีไพรทั้งหลาย หรือนักบวชนอกพุทธศาสนาอื่นๆ ที่เกิดได้และเสื่อมได้ เพราะเป็นฤทธิ์ของปุถุชนผู้ยังมีกิเลส ซึ่งหากพระรูปใดยึดติดไม่ปล่อยวาง ก็จะถลำลึกทำตนเป็นดั่งฤๅษีเจ้าอาคมมนต์ดำ หยุดชะงักการปฏิบัติลงเพียงเท่านั้น ไม่สามารถบรรลุธรรมที่สูงขึ้นไปอีกได้ แม้แต่ระดับโสดาบัน
พุทธศาสนาในช่วงนั้นถือเป็นกระแสใหม่ที่มาแรง การสนทนาโจษขานเกี่ยวกับพุทธศาสนาแพร่สะพัดไปทั่ว โดยเฉพาะการกล่าวขวัญถึงพระที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์จำนวน 80 รูป ที่เรียกว่า อสีติมหาสาวกนั้น ถือว่าเป็นประเด็นร้อนแรงแห่งยุคสมัย ทั้งหญิงชายต่างมุ่งหน้าไปนมัสการกราบไหว้ ถวายข้าวของเนืองแน่น พระภัททิยะอยู่ไหน พระอนุรุทธะอยู่ไหน พระอานนท์อยู่ไหน พระภคุอยู่ไหน ฯลฯ คือบรรดาสุ้มเสียงถามไถ่ของผู้คน ทว่าปราศจากสุ้มเสียงที่เอ่ยถามถึงพระเทวทัต ทั้งที่เป็นกษัตริย์ราชวงศ์เดียวกัน มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน แต่ลาภสักการะคำชื่นชมกล่าวขวัญที่ควรจะได้รับกลับไม่มี
เมื่อเป็นเช่นนั้น พระเทวทัตจึงคิดหาวิธีทำให้ผู้คนเลื่อมใสตนเอง และก็ไม่มีวิธีใดที่จะได้ผลดีไปกว่าการกระทำสิ่งเหนือวิสัยที่คนทั้งหลายจะกระทำได้ ท่านแปลงร่างเป็นเด็กชายมีงูพันตามแขนและขาข้างละตัว หนึ่งตัวพันคอ หนึ่งตัวพันรอบศีรษะ และอีกตัวพาดเฉวียงบ่า เหาะลงไปนั่งบนตักอชาตศัตรูราชกุมาร ราชโอรสพระเจ้าพิมพิสาร แห่งกรุงราชคฤห์ พระองค์ตกพระทัยแทบสิ้นสติ ร้องถามได้ความว่าเป็นพระเทวทัต จึงผ่อนคลายความหวาดกลัว พระเทวทัตกลายร่างกลับเป็นพระภิกษุเช่นเดิม สร้างความประหลาดพระทัยเลื่อมใสในฤทธิ์เดช ถวายการอุปถัมภ์บำรุงด้วยลาภสักการะเป็นอย่างดี กระทั่งส่งผลให้พระเทวทัตเกิดความลำพองเหิมเกริม คิดจะบริหารปกครองคณะสงฆ์แทนพระพุทธเจ้า
เพียงแต่เกิดความคิดขึ้นเท่านั้น ฤทธิ์เดชที่เป็นของปุถุชนธรรมดาของพระเทวทัตก็เสื่อมสูญลงทันใด ทว่าก็ยังไม่หยุดยั้งความคิด ไม่หวั่นเกรงที่จะเข้าไปกราบทูลตามตรง แม้จะโน้มน้าวว่าพระองค์ชราภาพแล้ว ควรปล่อยให้ท่านดูแลปกครองสงฆ์แทน พระองค์ก็ไม่ทรงยินยอม พระเทวทัตไม่พอใจ ทั้งยังผูกอาฆาต พระพุทธองค์ได้จัดให้มีการประชุมทำพิธีปกาสนียกรรมในเมืองราชคฤห์ ให้พระภิกษุและผู้คนได้รับรู้ถึงการกระทำอันไม่เหมาะไม่ควรของพระเทวทัต ถึงกระนั้น ท่านก็ยังไม่หยุดยั้ง ได้เริ่มแผนการใหม่ด้วยการยุยงให้อชาตศัตรูกุมารจับพระราชบิดาคุมขัง แล้วขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แทน ต่อมาก็รุกคืบให้พระองค์จัดหานักยิงธนูฝีมือดีไปลอบปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า แต่ไม่สำเร็จ จึงลงทุนขึ้นภูเขาคิชฌกูฏกลิ้งก้อนหินลงมา หมายสังหารพระองค์ในวันหนึ่ง ทว่าก้อนหินแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยตกกระทบพระบาทเพียงแต่ห้อโลหิตขึ้นมา ท้ายที่สุดจึงปล่อยช้างนาฬาคิรีตกมันอาละวาดพุ่งเข้าหาพระพุทธองค์ แต่พระอานนท์ก็ขวางเอาไว้เสียอีก
แผนการสังหารที่ล้มเหลวไปถึง 3 ครั้ง เป็นที่รับรู้โจษขานไปทั่วเมือง กระทั่งถึงพระกรรณพระเจ้าอชาตศัตรู พระองค์เกิดความละอายที่เผลอไปสมคบพระเทวทัต กระทำสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง จึงทรงงดการอุปถัมภ์ดูแลพระเทวทัตและบริวารตั้งแต่นั้นมา
พระเทวทัตตกที่นั่งลำบาก ต้องคิดแผนการแก้ไขสถานการณ์อีกครั้ง ด้วยการสู้ทนบากหน้าเข้าไปขอให้พระพุทธองค์ประกาศสนับสนุนข้อปฏิบัติอันเคร่งครัดอุกฤษฏ์ 5 ประเด็นคือ อยู่ป่า บิณฑบาต ครองผ้าบังสุกุล อยู่ใต้โคนต้นไม้ และไม่ฉันปลาและเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต พระพุทธองค์ไม่ทรงยินยอมรับข้อเสนอนั้น ด้วยพิจารณาเห็นปัญหาความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกมาก ทรงอนุญาตให้ปฏิบัติไปตามความประสงค์ของพระสงฆ์สาวกแต่ละรูป ซึ่งอาศัยอยู่ในท้องถิ่นภูมิประเทศ และวิถีชีวิตที่แตกต่าง มีชีวิตที่อิงแอบแนบชิดอยู่กับประชาชน
เมื่อเห็นพระพุทธองค์ปฏิเสธ พระเทวทัตรีบฉวยโอกาสป่าวประกาศท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ให้เลือกข้างทันที พระรูปใดปรารถนาจะปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดอุกฤษฏ์ให้ไปอยู่กับตน พระภิกษุบวชใหม่ด้อยการศึกษาจำนวนหนึ่งหลงเชื่อ พากันออกติดตามพระเทวทัตไป กระทั่งพระพุทธองค์เรียกพระเทวทัตมาตรัสถามในวันหนึ่งว่า จะทำลายสงฆ์ให้แตกแยกกันหรือ พระเทวทัตยอมรับอย่างไม่สะทกสะท้านว่าเป็นความจริง แม้พระพุทธองค์จะทรงชี้แนะว่า นั่นเป็นบาปกรรมอันหนักหนา (อนันตริยกรรม คือบาปอันมีผลอเนกอนันต์เหลือคณานับ) แต่ก็มิได้นำพา ทั้งยังกล่าวย้ำกับพระอานนท์ขณะบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ว่า ตนเองและบริวารจะทำอุโบสถและสังฆกรรมใดๆ โดยปราศจากพระพุทธองค์และพระสงฆ์ฝ่ายพระองค์
พระพุทธเจ้ารับทราบคำประกาศของพระเทวทัตอย่างสังเวชและปริวิตกว่า พระเทวทัตจะกระทำการอันเป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวง มีผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อตนเองและผู้ที่ศรัทธาในข้อปฏิบัติทั้ง 5 ข้อ โดยเฉพาะการทำให้คณะสงฆ์ต้องแตกสามัคคี (สังฆเภท) ซึ่งต่อมาพระเทวทัตได้ประกาศแยกตัวออกไปอย่างเด็ดขาด ตั้งสำนักตนเองขึ้นที่ตำบลคยาสีสะ
พระพุทธองค์ต้องส่งพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร ติดตามไปเทศนาสั่งสอนในโอกาสต่อมา สามารถนำพาพระภิกษุส่วนใหญ่กลับมาได้สำเร็จ พระเทวทัตรับรู้อย่างผิดหวัง ซ้ำยังถูกพระโกกาลิกะทำร้ายเพราะโกรธที่มัวเผลอไผลปล่อยให้บริวารตีจากไป ต้องล้มป่วยมาเป็นเวลา 9 เดือน ก่อนตัดสินใจเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ในวันหนึ่ง ทว่าเมื่อเดินทางมาใกล้ถึงและหยุดพักที่ริมฝั่งสระน้ำใกล้วัดเชตวันมหาวิหาร เพียงแต่หย่อนเท้าลงจากเตียงที่บริวารช่วยกันแบกหามมาเท่านั้นเอง แผ่นดินก็แยกออกสูบร่างพระเทวทัตจมลงไปทีละน้อย กระทั่งกระดูกคางแตะพื้นดิน จึงเอ่ยคำสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าด้วยสำนึกผิด
เรื่องราวที่กล่าวมานี้ถูกบันทึกไว้ในหนังสืออรรถกถาธรรมบท เล่มที่ 1 หน้า 179-202 จากเหตุการณ์ที่เรียบเรียงมา ให้คำตอบต่อคำถามข้างต้นได้ ดังนี้

(1) พระเทวทัตคือใคร คำตอบคือ
1.ท่านเป็นญาติที่ใกล้ชิดพระพุทธองค์ แต่กลับมีความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธองค์ คงไม่ต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ที่เรื่องราวยุ่งยากทั้งหลายมักเกิดจากคนใกล้ตัว หรือคนในแวดวงเดียวกัน ที่ขาดความเข้าใจ ละเลยผลประโยชน์ส่วนรวมหรือองค์กร แสวงหาแต่ผลประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก เพราะภาวะแห่งการพัฒนาจิตสำนึกของผู้คนเติบโตได้ไม่พร้อมเพรียงกัน และถึงอย่างไรก็ไม่อาจทำให้เกิดขึ้นครอบคลุมครบถ้วนเท่าเทียมกันได้ทุกคน เพราะความจริงคือ คนมีความแตกต่าง พัฒนาไปได้ไม่เท่าเทียมในขณะเวลาเดียวกัน นี่กล่าวในแง่ความจริงตามธรรมชาติ ยังไม่กล่าวถึงปัญหาการปิดบัง บิดเบือน และสร้างการเรียนรู้ในทางที่ผิด ที่มีอยู่ทั่วไปในสังคม
2.พระเทวทัตไม่ได้บรรลุธรรมขั้นสูง ท่านปฏิบัติธรรมบรรลุผลเพียงระดับฌาณสมาธิ ซึ่งทำให้มีสถานะเป็นเพียงพระสงฆ์ปุถุชนที่มีกิเลสรูปหนึ่ง จึงมีความปรารถนาใฝ่ฝันอย่างผิดๆ เกิดขึ้น เพียงเพราะน้อยใจที่ตนเองไม่ได้รับความสนใจ เช่นเดียวกับพระอนุรุทธะหรือพระอานนท์ที่บวชพร้อมกัน ซ้ำยังไม่ยอมละเลิกความคิดจะหาทางยกระดับตนเองให้ทัดเทียมพระอรหันต์ ในแนวทางที่ไม่บังควร ทั้งยังเพียรพยายามอย่างไม่รับรู้ถึงความผิดถูกในสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ นั่นเป็นเพราะพระเทวทัตเป็นเพียงพระปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส จึงไม่อาจจะซาบซึ้งดื่มด่ำในรสพระธรรมคำสอน ความเกรงกลัวและความละอายต่อบาปจึงไม่มี ท่านคิดถึงแต่ความยิ่งใหญ่ ลาภสักการะ และความเคารพนับถือ ที่จะได้จากผู้คนที่ขาดวิจารณญาณ ในการรับฟังคำอวดอ้างว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเคร่งครัดกว่าพระรูปใด แม้กระทั่งพระพุทธเจ้า
3.พระเทวทัตยกตนเหนือพระพุทธเจ้า การประกาศตนว่าเคร่งครัดกว่าพระสงฆ์กลุ่มที่อยู่ในสังกัดพระพุทธเจ้า ย่อมเป็นการยกตนเองว่าดีเลิศกว่าพระพุทธเจ้า ซ้ำยังประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับพระพุทธเจ้า แยกตัวออกไปตั้งสำนักเป็นเอกเทศ นับเป็นที่สุดของการยกตนข่มท่าน ซึ่งวิญญูชนทั้งหลายมิอาจยอมรับได้ ทว่าก็ต้องยอมรับ เพราะว่านั่นเป็นการกระทำของพระที่ความจริงคือปุถุชน ซึ่งไร้ญาณทรรศนะที่จะล่วงรู้ผิดถูก ท่านมีเพียงความรู้ระดับสัญญา คือรู้เพราะฟังเขาว่ามาแล้วจำได้ มิใช่ความรู้ที่เกิดจากใจอันมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการกระทำ เทวทัตไม่มีความรู้ส่วนนี้เลย หากวิเคราะห์จากพฤติกรรมที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะชี้แนะและให้โอกาสกลับตัวกลับใจสักเพียงใดก็ตาม กระทั่งต้องประกาศไม่ยอมรับแนวความคิดของพระเทวทัตต่อที่ประชุมสงฆ์ (ปกาสนียกรรม) เป็นที่รับรู้ในหมู่มหาชน แต่ท่านก็ยังดึงดันที่จะเดินหน้าแยกตัวออกไปอย่างไม่ลังเล แม้ว่าพระเจ้าอชาตศัตรูจะยุติการให้ความอุปถัมภ์ดูแลแล้วก็ตาม แสดงว่าแม้เพียงจริยธรรมคุณธรรมพื้นฐานก็ไม่มีในใจท่านเช่นกัน
4.เทวทัตขาดจากความเป็นพระแล้ว เพราะท่านได้ทำให้พระสงฆ์แตกแยกกัน ถึงแม้จะเป็นเพียงอาบัติสังฆาทิเสส แต่เพราะเป็นความผิดทางธรรมที่มีฐานแห่งความผิดรุนแรง เท่าเทียมการละเมิดวินัยขั้นร้ายแรง คือปาราชิก ที่มีโทษสูงสุดเทียบเท่าโทษประหาร จึงต้องขาดจากความเป็นพระสถานเดียว จะทำพิธีสึกหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ จะบวชอีกก็ไม่ได้ ถือว่าได้ถูกประหารจากความเป็นพระตลอดชีวิตไปแล้ว เช่นเดียวกับความผิดเรื่องการประกาศตนว่าบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ทั้งที่ไม่ได้บรรลุอะไรเลย ซึ่งมีโทษปาราชิกเช่นกัน
ประเด็นความจริงที่สาธารณชนมักไม่เข้าใจก็คือ พระปุถุชนนั้นมีกิเลสจึงอาจพลาดพลั้งทำความผิดได้ ขึ้นอยู่กับจังหวะ โอกาส และเหตุปัจจัยที่เอื้ออำนวย สิ่งที่ต้องศึกษากันทั้งพระและประชาชนทั่วไปคือ สิ่งใดบ้างเป็นเงื่อนไขสนับสนุนทำให้เกิดการปฏิบัติผิด และจะร่วมมือกันแก้ไขได้อย่างไร ที่ว่าปฏิบัติเคร่งนั้น จริงหรือไม่ ถูกต้องตามพระธรรมวินัยหรือไม่ หรือเป็นเพียงการสร้างกระแส เพื่อวัตถุประสงค์แอบแฝงอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบรรลุธรรม นำไปสู่การมีพฤติกรรมสงบระงับเป็นสมณะอย่างแท้จริง นี่คือประเด็นที่ควรตรึกตรองตรวจสอบ โดยไม่ต้องกลัวบาป เพราะนี่คือหน้าที่ของชาวพุทธ ที่ต้องดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อความสงบสุขของคณะสงฆ์และสังคมโดยรวม แต่สิ่งที่เป็นปัญหาน่าหนักใจในปัจจุบันคือ ผู้ที่ทำความผิดมักดื้อด้าน ขัดขืน ไม่ยอมรับว่าทำผิด เพราะโทษแห่งการฝ่าฝืนนั้นเล็กน้อย ไม่เพียงพอที่จะทำให้สำนึกหรือหยุดยั้งพฤติกรรมผิดๆ นั้นได้
5.เทวทัตเอาแต่ได้ ไม่เคารพสิทธิผู้อื่น เห็นได้จากการเสนอแนวความคิดเรื่องวัตถุ 5 โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขสังคมหรือข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะเป้าหมายแห่งการเสนอแนวความคิดนั้น ท่านต้องการอะไรกันแน่ ระหว่างความสงบสุข ฟุ้งซ่าน แตกแยก และความยิ่งใหญ่
เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เสรีภาพทางความคิดนั้นจำเป็นต้องมี แต่การเสนอความคิดของตนฝ่ายเดียว กระทั่งผลักดันให้บัญญัติความคิดนั้นขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตาม ซึ่งส่งผลให้มีการกำจัดสิทธิผู้อื่น และก่อให้เกิดความยุ่งยากวุ่นวายไม่รู้จบสิ้นนั้น ย่อมมิใช่ทรรศนะพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ที่มีความรับผิดชอบ ใส่ใจต่อทุกข์สุขของผู้คนร่วมสังคมเดียวกัน ไม่เลือกว่าพระหรือประชาชนผู้ที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาอาศัยอยู่ในปริมณฑลของสังคมเดียวกัน
การเสนอแนวความคิดใดๆ ย่อมต้องดำเนินไปอย่างตระหนักถึงคนส่วนใหญ่ และสถานการณ์ของโลก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่โลกและสังคมถูกบีบให้แคบลงด้วยเทคโนโลยีสื่อสารไร้พรมแดน ความเสียหายและดีงามแพร่กระจายไปได้รวดเร็ว แต่ส่งผลแตกต่างกัน แล้วแต่ว่าแนวความคิดใดจะถูกส่งผ่านออกไป โดยมักอ้างว่าประชาชนจะตัดสินเอง ปล่อยให้สาธารณชนใช้วิจารณญาณเอาเอง ซึ่งอาจไม่พอเพียงจะสร้างสรรค์สังคมที่ดีได้ หากผู้ส่งสารไร้ความรับผิดชอบ และผู้เกี่ยวข้องต่างเพิกเฉยไม่นำพา
การที่พระเทวทัตยื่นข้อเสนอให้พระพุทธเจ้าประกาศเรื่องวัตถุ 5 ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดของตน เท่ากับเป็นการยืมพระโอษฐ์ของพระองค์มารับรองความสามารถ ความถูกต้องชอบธรรมของตนเอง เพื่อแสวงหาลาภผลและพรรคพวกซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนตน มากกว่าจะปรารถนาประกาศข้อปฏิบัติเพื่อลดละเลิกกิเลสอย่างแท้จริง พฤติการณ์ทั้งหลายของพระเทวทัตที่ปรากฏตั้งแต่ต้น ชี้ชัดว่าท่านมิได้นำพาต่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เลย ไม่มีความจริงใจเลยก็ว่าได้ ข้อเสนอ 5 ประเด็นนั้น ความจริงก็คือข้อปฏิบัติที่พระสงฆ์ส่วนใหญ่ปฏิบัติกันอยู่แล้วในขณะนั้น ที่เรียกว่า นิสสัย 4 ประกอบด้วย บิณฑบาต นุ่งห่มผ้าบังสุกุล อยู่อาศัยใต้โคนต้นไม้ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า ท่านเพียงแต่เพิ่มข้อ 5 เข้ามา คือ ไม่ฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต
การเพิ่มข้อ 5 เข้ามานั้น ไม่อาจวิเคราะห์เป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากเป็นการชี้ให้เห็นว่า ท่านต้องการสร้างกระแสความนิยมเลื่อมใสในตัวท่านเองและกลุ่มของท่าน ขณะเดียวกันก็เป็นการปฏิเสธในทีว่า กลุ่มของพระพุทธองค์ปฏิบัติย่อหย่อน เคร่งครัดสู้กลุ่มตนเองไม่ได้ ผู้คนจะได้หลั่งไหลไปนับถืออย่างมืดฟ้ามัวดิน เป็นผู้นำทางศาสนาที่เป็นดั่งทางเลือกใหม่ ชี้ให้เห็นว่าเทวทัตมีความคิดไม่ยอมรับในพระปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เพราะท่านมีความรู้เพียงระดับสัญญาดังได้กล่าวแล้ว