ไม่แปลกหรอกที่ ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน จะชวนสังคมตั้งคำถามถึงการ “อยู่รอด” ของพรรคประชาธิปัตย์ได้ในทุกสถานการณ์
รอด...ทั้งที่ถ้าเป็นสถานการณ์เดียวกัน แต่เปลี่ยนตัวละครเป็นพรรคอื่นๆ เช่น พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคพลังประชาชน ฯลฯ ก็คงจะโดนเอาคอขึ้นเขียงหายใจพะงาบๆ น่าเสียวไส้อย่างที่เห็นกันอยู่
ความตงิดใจมันจึงไม่ได้ตงิดอยู่ในใจ ร.ท.กุเทพ คนเดียว...แต่ประชาชนอีกไม่น้อยก็รู้สึกสงสัยกันไปด้วย...
ไม่ได้เคลือบแคลงสงสัยองค์กรใดๆ ที่มีส่วนในการตัดสินชะตากรรม เพราะประเดี๋ยวจะหาว่า “ละเมิด...”
เอาเป็นว่าสงสัยเรื่องบุญทำกรรมแต่งก็แล้วกัน ชะรอยพรรคประชาธิปัตย์จะบุญวาสนาดี จึงได้แคล้วคลาดอยู่เสมอ เพียงแต่บุญบารมีอาจยังไม่แรงจั๋งหนับ รัฐบาลที่ (เขา) ว่าจะ (ให้) เป็นได้ ได้เป็น จึงกลับยังไม่ได้เป็นมาหลายปีแล้ว...
ว่ากันตามภาษาบุญภาษากรรม ก็เพราะ “จิต” ยังมี “ตัวถ่วง”
เจ้าความกลัว ความหวาดระแวง หวาดผวาแม้กระทั่ง “เงา” ของคนที่ต้องจรลีไปเมืองฝรั่ง มันเป็นอกุศลจิตที่ทำให้คิดการณ์ใหญ่แต่ไปไม่ถึงฝั่งฝันสักคราครั้ง เพราะคิดกี่เรื่อง พูดกี่ครั้ง มันก็ติดอยู่แต่ที่ “เงา” ของคนคนนั้น สู้อยู่กับเงาของคนคนนั้น ไล่ตามอยู่กับเงาของคนคนนั้น...
ทั้งที่เจ้าตัวเขาก็ไปไหนไม่รู้แล้ว ภาษาโฆษก พปช. ก็ต้องบอกว่าสู้กับคนที่แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังเอาตัวรอดไม่ได้ ยิ่งสู้จึงยิ่งติดอยู่กับกรงขัง
ถึงขั้นละเมอ เพ้อ จินตนาการหลอกหลอนตัวเองไปว่า อาจมีความพยายามจากฝ่ายตรงข้ามระดมกำลังคนเข้ามาปั่นป่วน...
ทั้งที่เวทีที่มีการ ปลุกปั่น อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่างเห็นได้ด้วยตาเปล่านั้น ก็ตั้งอยู่กลางเมืองนั่นเอง ไม่เห็นต้องเสียเวลาไประแวงมดปลวกในหลืบรูไหน ไอ้ที่มันจะแจ้งถึงใจอยู่กับตาตรงหน้านั้น ทำไมไม่รู้สึกหวาดกลัวกันมั่ง...
หรือเพราะผลประโยชน์มันเข้าทาง ก็เลยเฉยเสียดีกว่า...
อย่าลืมว่า “แนวคิด” ของพันธมิตรฯ มันก็ไปกันไม่ได้กับ “พรรคการเมือง” ทุกๆ พรรค
เพราะสิ่งที่พันธมิตรฯ ต้องการคือ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ล้มล้างการเลือกตั้ง เพื่อรื้อฟื้นระบบแต่งตั้งคัดสรรเข้ามาแทน...
อุดมการณ์ต่างกันเพียงนี้ เหตุใดประชาธิปัตย์กลับมองไม่เห็นว่ากลุ่มใดกันแน่ที่เป็น อันตราย กับตัวเอง
เหตุใดจึงยังยอมรับได้กับ ส.ส. คนหนึ่งในพรรค ที่ควรจะอยู่ข้างประชาธิปไตยรัฐสภา ปกป้องระบบการเลือกตั้ง (ซึ่งหัวหน้าพรรค ปชป. ก็ยังเคยยอมรับว่าแม้ได้คะแนนมายากแสนยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยพึงกระทำ) แต่กลับชูหน้าชูตาอยู่กับคณะบุคคลที่มีแนวคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยได้
ใครจะว่าเป็นพวกบ้าประชาธิปไตยก็ว่าไป แต่ให้กลับไปเอาอำมาตยาธิปไตยหรือเผด็จการ ก็คงไม่มีเอาเหมือนกัน…
ความล้าหลังของการเมืองไทยที่ไม่เคยก้าวพ้น “อาถรรพ์” ไปได้สักที มันจึงโยนความผิดให้พวก “อำมาตย์” หรือกล่าวโทษ “กองทัพ” ที่ทำรัฐประหาร...แค่นั้นไม่ได้
เพราะจะว่าไป หากคนทั้งประเทศมีสำนึกประชาธิปไตยเพียงพอ กลุ่มคนที่กล่าวมาก็คงไม่สามารถยัดเยียดอุดมการณ์อื่นเข้ามาได้อย่างที่เป็นอยู่
ที่สำคัญบางครั้ง บางคน เขาก็กล้าประกาศเลยว่าเขาไม่นิยมชมชอบประชาธิปไตย แต่อยากให้บ้านเมืองกลับไปสู่ระบอบการปกครองแบบอื่นๆ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดนี่คือความกล้าหาญ และไม่ใช่เกมการเมืองแบบหลอกล่อให้คนหลงผิดติดกับ
เพราะที่คนกำลังหลงผิดติดกับ คือพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีพฤติกรรมตรงข้ามกับอุดมการณ์ที่ควรจะมี จะเป็นนี่ต่างหาก
วันนั้นที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยตอบโต้ นายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ อดีต สนช. อย่างดุเดือดกลางสภา ด้วยเหตุที่ว่านายวุฒิพงษ์ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร กล่าวดูถูกนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้น...คนยังจำได้และยังชื่นชมว่านายอภิสิทธิ์ช่วยปกป้องหลักการ...
มาถึงวันนี้ คนเขาก็ยังหวังจะเห็นภาพแบบนั้นอีก ภาพที่แม้รู้ว่าตัวเองอาจจะยังไม่ชนะ อาจจะยังเสียเปรียบพรรคอื่นๆ แต่หากเป็นการยืนบนหลักการประชาธิปไตยแล้ว ก็จำเป็นต้องกระทำเพื่อคุณูปการต่อระบอบการเมืองการปกครองไทยสืบไปเบื้องหน้า
ที่สำคัญ ประชาชนหวังจะเห็นว่าประชาธิปัตย์น่าจะหลุดจากการตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของพรรคมัฆวานนครเสียที เพราะทุกวันนี้ประชาธิปัตย์มีแต่เสียกับเสีย กับภาพลักษณ์ที่ว่ายืนอยู่ข้างแก๊งนั่น
จะมีก็แต่พันธมิตรฯ เท่านั้น ที่ยิ่งเกาะกินสูบเลือดเนื้อกลุ่มอื่นๆ แล้วได้ดี
เพราะทำตัวเป็นเห็บแล้วอิ่มหนำ จึงยังต้องหาเรื่องชุมนุมจนทุกวันนี้ ทั้งที่ไม่มีประเด็นอะไรมาตั้งนานแล้ว