* กังขา!ตร.2มาตรฐานปิดเงียบประกาศจับ
“9 กบฏ” ยังไม่รู้สำนึก จงใจขัดขวางหมายจับ ซ้ำยังดื้อแพ่งขัดคำสั่งศาลที่ให้ออกจากพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลทันที ดิ้นเฮือกสุดท้ายขอคัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่ไม่เป็นผล ตำรวจเตือนผู้ชุมนุมรีบสลายตัวกลับบ้านก่อนจะกลายเป็นผู้ต้องหาร่วมก่อการกบฏ ขณะที่ม็อบเครียดจัดขนยางรถยนต์สร้างบังเกอร์ พร้อมระดมอาวุธครบมือ ตั้งป้อมสู้ตำรวจ เผย “จำลอง” ออกอาการลุกลี้ลุกลนจนเห็นได้ชัด ดัน “พัลลภ ปิ่นมณี” เป็นแกนนำหลักในยามติดคุก เพราะยังไม่เชื่อใจ 3 แกนนำมือใหม่ที่แต่งตั้งไว้ก่อนหน้า ขณะเดียวกันตั้งข้อสังเกตตำรวจส่อ 2 มาตรฐาน อุบเงียบหมายจับพวกกบฏป่วนเมือง
* ‘พัลลภ ปิ่นมณี’ รับเป็นทายาท ‘มหาจำลอง’
แม้ว่าศาลแพ่งจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกจากพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล และถนนโดยรอบเพื่อให้สามารถสัญจรได้ตามปกติ และขนข้าวของทั้งหมดออกไปในทันที นับตั้งแต่คืนวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา และไม่รับฟังการคัดค้านตามที่ทนายความพันธมิตรฯ ร้อง รวมถึงกรณีที่ศาลอาญาได้อนุมัติออกหมายจับ 9 แกนนำม็อบ ใน 4 ข้อหาฉกรรจ์ อันเป็นกบฏต่อแผ่นดินไปแล้ว
ม็อบพันธมิตรยังไร้สำนึก
แต่แกนนำม็อบพันธมิตรฯ ก็ยังคงพยายามปลุกระดมผู้ชุมนุมให้ดื้อแพ่งขัดคำสั่งศาล และมีการนำเอาสิ่งกีดขวางเข้ามาป้องกัน รวมทั้งเพิ่มความเข้มข้นในการักษาความปลอดภัย ถึงขั้นล่ามโซ่ขังตัวเองอยู่ภายในทำเนียบรัฐบาล และการ์ดบางคนถึงขั้นมีอาการคลุ้มคลั่งทำตาขวางใส่สื่อมวลชน จนเป็นเรื่องหวาดผวากันไปทั่ว ซ้ำร้ายท่ามกลางอากาศร้อนระอุยังพบอาการหวาดผวาระแวงกันเอง
โดยที่แกนนำการชุมนุมได้ประกาศว่าให้ชายตามองเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาลเอาไว้ เพราะอาจลงมือปฏิบัติการพร้อมกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจภายนอก และขณะเดียวกันคนที่นั่งอยู่ข้างๆ ก็อาจเป็นตำรวจสันติบาลแฝงตัวเข้ามาก็เป็นได้
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าการออกหมายจับ 9 แกนนำดังกล่าว ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่มีการนำหมายจับออกมาจ่ายแจก หรือนำไปติดในที่สาธารณะ หรือในห้องส้วมของสถานีตำรวจแบบเดียวกับกรณีหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร
กังวลตำรวจส่อ 2 มาตรฐาน
แม้ว่าผู้สื่อข่าวจะพยายามติดต่อไปที่ตำรวจหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ล้วนถูกปฏิเสธ ต่างจากกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีการระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนนำมาแจกเอง
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้รับการอ้างว่าเป็นความลับของทางราชการ และเป็นเรื่องของศาล ซึ่งผิดไปจากข้อเท็จจริง เพราะหมายจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น จะออกโดยกองทะเบียนประวัติอาชญากรรม
จากนั้นมีการสอบถามไปยังหน้าห้อง พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ รอง ผบ.ตร. นายเวรแจ้งว่าติดประชุม และให้ติดต่อที่สำนักงานรอง ผบ.ตร. แต่ก็ได้รับคำตอบว่าท่านไม่ได้ดูแลงานในส่วนนี้ ให้ติดต่อกับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ที่ดูแลงานด้านการปราบปราม หรือ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร. ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลม็อบ แต่หน้าห้อง พล.ต.อ.จงรัก ก็ระบุให้ติดต่อที่รอง ผบช.น. พล.ต.ต.วัจนนท์ ถิระวัฒน์ แต่ก็ถูกโบ้ยกลับไปที่ พล.ต.อ.จงรัก อีกรอบ
ทั้งนี้ ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตถึงความแตกต่างระหว่าง 2 คดีดังกล่าวว่าจะเข้าข่ายปฏิบัติงาน 2 มาตรฐาน อย่างไร หรือไม่
“จำลอง” เครียดกลัวถูกสลายม็อบ
ส่วนบรรยากกาศการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ตลอดวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา บรรยากาศเป็นไปอย่างตึงเครียดกว่าวันก่อนๆ ทั้งกลุ่มผู้ชุมนุม เริ่มอ่อนล้า และเฉอะแฉะจากฝนที่ตกอย่างหนักในคืนที่ผ่านมา ขณะที่บรรดาแกนนำและบรรดาการ์ดก็ยังคงตึงเครียดกับข่าวการสลายม็อบ และข่าวการจับกุมแกนนำตามหมายศาล ที่มีข่าวออกมาตลอดทั้งวัน ซ้ำยังพานสร้างความกดดันและแสดงท่าทีที่รุนแรงกับสื่อมวลชน จนถึงขั้นข่มขู่ทำร้ายร่างกาย ซึ่งนักข่าวหลายคนโดนกันไปอย่างถ้วนหน้า
นอกจากนี้แกนนำพันธมิตรฯ โดยเฉพาะ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ดูแลด้านการรักษาความปลอดภัย ที่ท่าทีเครียดและลุกลี้ลุกลนจนเห็นได้ชัด มีการประกาศปลุกระดม และเตือนให้ระวังการสลายการชุมนุมตลอดเวลา ทั้งยังบอกให้ระวังตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ทำเนียบ และให้ดูคนข้างๆ ที่อาจเป็นตำรวจแฝงตัวมา
สร้างบังเกอร์รับมือเจ้าหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านับตั้งแต่ช่วงสาย กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่ที่ชุมนุมอยู่ภายในทำเนียบรัฐบาลแสดงความไม่พอใจทันที เมื่อ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำพันธมิตร ได้ประกาศว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าประชิดประตูทางเข้า-ออก ด้านต่าง ๆ รอบทำเนียบรัฐบาล และได้มีการนำสิ่งกีดขวาง เช่น กระเบื้อง โต๊ะ เก้าอี้ ขวางบริเวณประตูทางเข้า-ออก โดยรอบด้าน
ขณะเดียวกันก็ยังมีการนำเอายางรถยนต์จำนวนมาก เข้ามารายล้อมเอาไว้ เพื่อป้องกันการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ท่ามกลางความกังวลกันว่าจะมีเจตนาอื่นแอบแฝงหรือไม่ อย่างเช่นการนำมาเพื่อเตรียมเป็นเชื้อเพลิงในการเผาทลายทำเนียบรัฐบาล
ขณะที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ คนสำคัญ ยังได้มีการเดินไปรอบสถานที่ชุมนุม เพื่อปลุกขวัญและให้กำลังใจกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย
กักผู้ชุมนุมไว้เป็นตัวประกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่มาร่วมในการชุมนุมประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล เริ่มมีการจับกลุ่มหารือกันเป็นกลุ่มๆ ถึงความไม่ปลอดภัยจากการอยู่ร่วมชุมนุมประท้วงต่อไป เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและทั่วถึงว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้นเป็นการทำผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ขอให้เดินทางกลับบ้าน เพราะถ้ายังร่วมชุมนุมอยู่และอาจติดร่างแหเป็นผู้ร่วมก่อการกบฏ ร่วมกับ 9 แกนำพันธมิตรฯ ได้ ซึ่งมีโทษสูงถึงประหารชีวิต และการที่แกนนำพันธมิตรฯถูกออกหมายจับแล้ว ซึ่งจะต้องมีการจับกุมตัวในไม่ช้านี้
ประกอบกับตอนเย็น เจ้าหน้าที่ได้นำแผ่นป้ายผ้ามีข้อความว่า “ห้ามเข้า ตามคำสั่งศาล ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย” มาติดที่ประตูทางเข้า ยิ่งทำให้สถานการณ์ของผู้มาร่วมชุมนุมเลวร้ายลงไปอีก สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความผิดปกติที่เห็นได้ชัดเจนในกลุ่มของแกนนำ ตลอดจนผู้ใกล้ชิดที่หารือกันอย่างเคร่งเครียด
แต่ก็มีรายงานข่าวว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ไม่อนุญาตให้คนในออก ให้แต่คนนอกเข้าเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ผู้ร่วมชุมนุมหลายคนเริ่มเกิดอาการหงุดหงิดแล้ว เพราะเสมือนเป็นตัวประกัน
ม็อบซกมก-อาวุธครบมือรอปะทะ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าบริเวณสวนหย่อมด้านข้างตึกบัญชาการ บริเวณหน้าตึกนารีสโมสร กลุ่มพันธมิตรฯ ได้นำผ้ายางมากั้นเป็นรั้วตามแนวต้นไม้ข้างตึก เพื่อสร้างเป็นห้องน้ำชั่วคราว ทำให้ดินบริเวณดังกล่าวเจิ่งนองไปด้วยน้ำและส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ
ส่วนประตู 7 ด้านตึกดังกล่าว กลุ่มพันธมิตรฯ ชายฉกรรจ์ ร่วมด้วยอาสาสมัครจำนวนมากพร้อมอาวุธครบมือ ไม่ว่าจะเป็นไม้คมแฟก เสาธง ไม้กอล์ฟ ไม้เบสบอล หนังสติ๊ก ได้ตรึงกำลังบริเวณรั้วกั้นหน้าตึกสำนักเลขาธิการ ครม.เก่า และถนนที่จะมุ่งหน้าไปยังสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ทั้ง 2 จุด ภายหลังจากที่แกนนำระบุว่าจะมีการสลายการชุมนุมหลังจากเวลา 16.00 น. เป็นต้นไป
ขณะที่ประตูทุกด้านของทำเนียบก็มีการตรึงกำลังเช่นเดียวกัน โดยใช้เด็กและผู้หญิงเป็นเกราะกำบังอยู่ด้านหน้า
ตร.พร้อมสลายม็อบตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมโล่หมวก ได้มีการเพิ่มเติมกำลังในพื้นที่ด้านนอกโดยรอบ เพื่อรอคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่าจะมีการบุกจับตัวแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 9 คนตามหมายจับของศาลอาญา
พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ระบุว่า จะยังคงกำลังตำรวจในบริเวณทำเนียบรัฐบาล ไว้ที่ 7-8 กองร้อย หรือประมาณพันนาย และเสริมกำลังตามความเหมาะสม แม้จะไม่มีการใช้เป็นสถานที่เพื่อจัดงาน "จากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน สร้างสามัคคี" ในวันที่ 30 สิงหาคม แล้วก็ตาม
ตำรวจจะไม่ใช้วิธีบุกเข้าไปเพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยังปักหลักอยู่ในบริเวณทำเนียบรัฐบาล แต่จะใช้วิธีการทางกฎหมายดำเนินการกับแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุม
ขณะเดียวกันก็ยังมีตำรวจขราบจลาจล 1 กองร้อย พร้อมรถกรงขัง คุมเชิงสะพานมัฆวานฯ รอคำสั่งเช่นกัน เช่นเดียวกับข่าวที่ระบุว่ามีตำรวจอีกหลายพันนาย สแตนด์บายพร้อมปฏิบัติการอยู่ในจุดต่างๆ โดยมีเวลานัดหมาย สามารถเดินทางถึงทำเนียบรัฐบาลได้ในเวลาไม่เกิน 10 นาทีทุกจุด
จัดรถฟรีให้กลุ่มผู้ชุมนุมกลับบ้าน
ขณะที่ความพยายามของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะยุติเรื่องราวด้วยความสงบ ก็ยังคงดำเนินอยู่อบย่างต่อเนื่อง มีการเจรจาผู้ชุมนุมที่จะจัดส่งกลับบ้านอย่างปลอดภัย มีการประสาน บขส. ให้โดยสารฟรี และขณะเดียวกัน พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง ยังระบุว่าประชาชนที่เดินทางมาชุมนุมที่ต้องการกลับบ้านนั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการจัดเตรียมรถบัส รถตู้ จำนวน 110 คัน ไว้ให้บริการส่งถึงบ้านไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งรถจะจอดอยู่ที่สนามม้านางเลิ้ง หากจะกลับบ้านก็ขึ้นไปขึ้นรถได้ทันที
พล.ต.ต.สุรพล กล่าวว่า อยากจะทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม และที่กำลังจะเดินทางมาร่วมชุมนุมว่า การเข้าไปอยู่ในทำเนียบรัฐบาลเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ในจุดนี้ตำรวจพยายามดำเนินการด้วยความประนีประนอม พูดคุยเจรจากับแกนนำพันธมิตรฯ มาโดยตลอดแต่ก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะเคลื่อนย้ายออกจากทำเนียบ จึงอยากชี้แจงให้ประชาชนที่จะเดินทางมาใช้วิจารญาณในการตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองครั้งนี้
พล.อ.พัลลภ โผล่สานต่อจำลอง
อย่างไรก็ดี แม้ว่ากลุ่มพันธมิตรฯ จะมีการตั้งตัวตายตัวแทนไว้แล้ว 3 คน ให้ทำงานแทนในยามติดคุก แต่ในวันที่ผ่านมาก็ยังปรากฏชื่อ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี เพื่อนสนิท พล.ต.จำลอง ศรีเมือง รับปากจะเข้ามาทำงานแทนทันทีที่ พล.ต.จำลอง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขัง
พล.อ.พัลลภ กล่าวว่า "ผมจะขึ้นเวทีก็ต่อเมื่อ พล.ต.จำลอง ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม การขึ้นเวทีครั้งนี้ถือเป็นสัญญาใจที่ผมกับจำลองที่เป็นเพื่อนรักเพื่อนตายกันมา ได้มีสัญญาอยู่ 2 ข้อ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อ พล.ต.จำลองถูกจับกุม ผมก็จะเข้าไปแทน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น การปฏิบัติการ 3 วันก็จบ ซึ่ง 2 ข้อที่ผมได้สัญญาไว้กับ พล.ต.จำลอง คือ ถ้าวันใดที่จำลองโดนตำรวจจับผมจะเข้าไปแทนทันที และที่ พล.ต.จำลอง ใช้ยุทธวิธีสันติวิธีแบบอหิงสา มันไม่ตรงกับผม แต่ผมจะใช้ยุทธวิธีปฏิบัติการแนวรุก ซึ่งผมได้ตกลงกับจำลองมาตั้งนานแล้ว"
ไม่เชื่อ “พัลลภ” สร้างความรุนแรง
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส. สัดส่วน พรรคพลังประชาชนและอดีตแกนนำ นปก. กล่าวถึงกรณี พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรอง ผอ.กอ.รมน. เปิดเผยสัญญาใจจะเคลื่อนไหวแทน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งถูกหมายจับ ว่า เป็นสิทธิของ พล.อ.พัลลภ ที่สามารถกระทำได้แต่จะต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย หากทำผิดก็จะต้องถูกดำเนินคดีเช่นคนไทยทั่วไป ตนไม่อยากให้วิตกและหวาดหวั่นว่าเมื่อ พล.อ.พัลลภ ออกมาเคลื่อนไหวแล้วมักจะนำไปสู่ความรุนแรงเช่นที่ปรากฏในอดีต เพราะวันนี้ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าที่กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ลงมือกระทำไปแล้ว และหากเป็นอย่างนั้น สังคมต้องรู้ว่าใครที่ทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งจะมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต
ทั้งนี้เชื่อว่า พล.อ.พัลลภ จะมีสติ และไม่เชื่อว่าจะเป็นการดึงนายทหาร จปร.รุ่น 7 เข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมือง สำหรับ นปก.จะไม่มีการเคลื่อนไหวชุมนุม จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและตำรวจใช้อำนาจตามกฎหมาย
ยืนยันยังไงก็ไม่ปล่อยไว้นานแน่
ขณะที่วันเดียวกันนี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาการชุมนุมดังกล่าวว่าแม้ศาลจะมีคำสั่งมาแล้วแต่ก็ไม่ใช่เดินดุ่มๆ เข้าไป ครั้งแรกก็คิดว่าจะเคลียร์พื้นที่ทำให้เสร็จเรียบร้อย แต่ดูว่าน่าจะเป็นอันตราย ก็เลยบอกไปว่าขอร้องให้เขามารายงานตัว จะมอบตัวก็สุดแล้วแต่ ก็ให้เวลาเขาดำเนินการ และสั่งตำรวจระงับไม่ให้มีการดำเนินการสลายการชุมนุม แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งไว้ตลอด คงมีเวลาและคงยุติกันได้
เมื่อถามว่าแล้วจะปล่อยให้สถานการณ์การชุมนุมเป็นอย่างนี้ต่อไปหรือ นายสมัคร กล่าวว่า ก็สุดแล้วแต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมว่าเขาจะมีความคิดเห็นอย่างไร เราไม่อยากไปวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งเมื่อศาลแพ่งได้ส่งคำสั่งมาก็ยังอยากจะดูเหมือนกันว่าเมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งเช่นนั้น จากนี้ต่อไปก็ถือเป็นเรื่องของกลุ่มพันธมิตรแล้ว ไม่ใช่เรื่องของเรา และเราจะไม่ใช้ข้ออ้างจากคำสั่งศาลเข้าไป เพื่อให้ทั้งประเทศได้รู้ว่าจะไม่เกิดการสปาร์คขึ้นมา
ย้ายจัดงาน “116วัน” ไปสวนอัมพร
เมื่อถามว่าแล้วตกลงจะไปนั่งทำงานที่ไหน นายสมัครกล่าวว่า ตนก็ทำงานข้างนอก อย่างวันนี้งานก็อยู่ข้างนอกทั้งนั้น เมื่อถามว่าคิดถึงทำเนียบบ้างหรือไม่ นายสมัคร ตอบด้วยสีหน้าไม่ดีว่า “ถามอะไรแบบนั้น”
ส่วนรัฐบาลจะเสียความชอบธรรมหรือไม่ เพราะไม่สามารถเข้าไปบริหารงานในทำเนียบได้ นายสมัคร กล่าวว่า ไม่มีปัญหา เพราะได้บ้างเสียบ้าง รัฐบาลไม่ได้เสียสถานะทางการเมือง ส่วนการจัดงาน จากวันแม่ถึงวันพ่อ 116 วัน ที่จะมีขึ้นวันที่ 30 สิงหาคม ก็จะย้ายไปจัดที่สวนอัมพรแทน และเมื่อถามต่อว่า คิดถึงทำเนียบหรือไม่ นายสมัคร ก็ได้ถามกลับว่า ทำไมถามอย่างนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ ไม่มีท่าทีที่เคร่งเครียด แต่กลับตอบคำถามผู้สื่อข่าวอย่างใจเย็น ขณะเดียวกันนายสมัคร ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ยังจะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นตามกำหนดการเดิมในวันที่ 2-4 กันยายน
ส.ว.ลากตั้งเปิดตัวหนุนพันธมิตร
ขณะเดียวกันกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาประมาณ 20 คน เปิดแถลงการณ์ถึงบทบาทของสว. ที่รัฐสภา นำโดย นางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา นายตวง อันทะไชย นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา โดยข้อความในแถลงการณ์กล่าวโดยสรุปว่า รัฐบาลหมดความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อช่วงคืนวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นความล้มเหลวงของการบริหาร
รวมทั้งตั้งขอสังเกตกรณีที่สถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที กระทำการฉายภาพเหตุการณ์กลุ่มผู้ชุมนุม ที่เรียกตนเองว่า “นักรบศรีวิชัย” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นปฏิบัติการจิตวิทยา เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง และสร้างภาพความรุนแรงของเหตุการณ์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการตั้งข้อหากบฏต่อ 9 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น กลุ่ม ส.ว. มองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติของรัฐบาล และเป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่เกินจริง
ขณะที่เววลาต่อมากลุ่มดังกล่าวยังไปเยี่ยมเวทีพันธมิตร เสมือนเป็นการสนับสนุนการขัดคำสั่งศาล และยังทักทายกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างใกล้ชิดเป็นกันเอง
ศาลสั่งตั้งพนักงานบังคับคดี
ส่วนกรณี นายเมธี ใจสมุทร ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก นายลอยเลื่อน บุนนาค รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 6 คน ขอแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการตามคำสั่งศาล หกลังจากกลุ่มพันธมิตรฯ ดื้อแพ่งนั้น
ในเวลาต่อมา ศาลได้มีคำสั่งออกมาว่า หลังศาลได้พิเคราะห์คำร้องของทนายความโจทก์แล้ว เห็นว่า จำเลยทั้ง 6 คน และกลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ได้ออกจากพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล ตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาล จึงให้ตั้งพนักงานบังคับคดีเพื่อไปดำเนินการตามคำสั่งศาล
ทั้งนี้ สำหรับกระบวนการตั้งพนักงานบังคับคดีต่อจากนี้ ศาลก็จะส่งหมายไปยังกรมบังคดี เพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปประสานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง คือ ตำรวจ เพื่อดำเนินการตามคำสั่งศาลต่อไป และล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงเหล็กติดป้ายผ้า เขียนข้อความด้วยตัวหนังสือสีแดง "ห้ามเข้า คำสั่งศาล มีโทษทางกฎหมาย" ไปติดที่บริเวณทางเข้าของกลุ่มพันธมิตรฯ ทุกจุดแล้ว