ผมคงเหมือนท่านผู้อ่าน ได้ยินได้ฟัง ได้รู้การดำเนินนโยบายกองทุน 1 หมู่บ้าน 1 ล้านบาท ของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร สมัยแรก ทั้งด้านดี ผลสำเร็จ และข้อบกพร่องอย่างนั้นอย่างนี้ ต่อมา รัฐบาลทักษิณ สมัยที่ 2 คิดนโยบายทำนองเดียวกันนี้คือ โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) นัยว่าเป็นการเพิ่มเติม เพราะนโยบายกองทุนหมู่บ้านละล้าน มีลักษณะเป็นกองทุนให้ชาวบ้านกู้ยืมไปทำมาหากิน อันเป็นนโยบายให้ชาวบ้านเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย เป็นเรื่องของแต่ละคน แต่โครงการ SML เป็นการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละหมู่บ้านตามขนาด เล็ก กลาง และใหญ่ ดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านโดยรวม
ตอนนั้นผมรู้สึกว่าดี แต่ไม่รู้รูปธรรม เมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผมคิดว่ารัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ของระบอบเผด็จการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คงเลิกนโยบายนี้ แต่ไม่ใช่ ยังมี ทว่าเปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการอยู่ดีมีสุข” ให้กรมการปกครองดำเนินการ ผมเพิ่งมารับรู้อย่างเป็นระบบ เมื่อได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 4 เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว ในฐานะที่ปรึกษา
คณะกรรมการชุดนี้มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน กรรมการมีจำนวน 25 คน คณะรัฐมนตรีลงมติแต่งตั้งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2551 ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยมีเป้าประสงค์เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเพิ่มศักยภาพการหารายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาสในอาชีพแก่ประชาชน สร้างโอกาสให้หมู่บ้านและชุมชนสามารถแก้ปัญหาของหมู่บ้านและชุมชนด้วยตนเอง และพัฒนาโครงการที่ก่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน พัฒนาสินทรัพย์ของหมู่บ้านและชุมชน อนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของหมู่บ้านและชุมชุน คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่จัดสรรงบประมาณโดยตรง ตามขนาดของประชากรในหมู่บ้านและชุมชน ให้ครบทุกหมู่บ้านและชุมชน
ตามความรับรู้และเข้าใจของผม โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) มาจากแนวความคิดและความเชื่อว่า ประชาชนเป็นผู้มีศักยภาพ มีความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ และมีความพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนา กล่าวในแง่สิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิของประชาชนในการพัฒนา ซึ่งสหประชาชาติได้ออกปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนา ค.ศ.1986 (UN Declaration on the right to development 1986) เรียกร้องให้รัฐภาคีถือเอาประชาชนเป็นเป้าหมาย เป็นศูนย์กลาง และมีสิทธิและบทบาทสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม
กลับมาที่การดำเนินโครงการ SML คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการและงบประมาณ 10,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2551 และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเลขานุการได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ 5,000 ล้านบาทในเดือนต่อมา หมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศได้จัดประชุมประชาคมเสนอโครงการจะทำอะไร เพื่ออะไร และใช้เวลาเท่าไรให้อำเภอและจังหวัด จากนั้น คณะกรรมการได้อนุมัติ แล้วเร่งส่งเงินงบประมาณลงไปผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2551 จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 4,448,050,000 บาท ให้แก่หมู่บ้านและชุมชนจำนวน 15,270 แห่ง รวม 28,716 โครงการ
ดูตัวเลขทั้งจำนวนหมู่บ้านและงบประมาณ ผมเห็นว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของโครงการ รัฐบาลได้กระจายเงินให้หมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการพัฒนาเป็นจำนวนค่อนข้างมาก ซึ่งคงช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน วางโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาส่งเสริมการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมการพัฒนาของชาวบ้านมากน้อยแตกต่างกันไป นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ แม้จะประสบวิกฤติทางการเมือง ถูกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขับไล่ ถูกสื่อมวลชนถล่มเช้าเย็น และถูกฝ่ายค้านและศาลตรวจสอบไม่เว้นแต่ละวัน ยังคิดถึงประชาชนชาวบ้าน คนยากคนจน จึงยืนหยัดดำเนินนโยบายดังกล่าว
สำหรับในงวดต่อไป คณะกรรมการได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณจำนวน 4,972,500 ล้านบาท แก่หมู่บ้านและชุมชนอีก 21,483 หมู่บ้าน ก็ถือว่าไม่น้อยเช่นกัน
ตอนหน้าจะเขียนรายละเอียดของโครงการนี้