คอลัมน์ : บทความพิเศษ
รัฐธรรมนูญมาตรา 252 ได้บัญญัติไว้ว่า การสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 7 คน ให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการสรรหาจำนวน 7 คน ซึ่งประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกอีกหนึ่งคน
ซึ่งต้องดำเนินการสรรหาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุทำให้ต้องมีการเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าว และเมื่อสรรหาเสร็จแล้ว ให้เสนอรายชื่อพร้อมความยินยอมของผู้ถูกเสนอชื่อต่อประธานวุฒิสภา โดยต้องมีคะแนนที่ให้เสนอชื่อไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด
ต่อจากนั้น ประธานวุฒิสภาจะต้องเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบผู้ได้รับคัดเลือกภายในสามสิบวัน โดยวิธีลงคะแนนลับ และให้ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาประชุมเลือกกันเอง ให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เสร็จแล้วประธานวุฒิสภานำรายชื่อประธานกรรมการ และกรรมการตรวจเงินแผ่นดินขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง โดยมีประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี นับตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว
ส่วนการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และขึ้นตรงต่อประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินนั้น ก็ให้ดำเนินการสรรหาในลักษณะเดียวกัน แต่คณะกรรมการสรรหาสามารถเสนอชื่อต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบได้เพียงคนเดียว และเมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ประธานวุฒิสภานำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง โดยมีประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่ดำรงตำแหน่ง และใช้อำนาจเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน มิใช่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 252 ที่กล่าวข้างต้น หากแต่เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนเดียว ซึ่งใช้อำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน 2549 และยังได้ทำหน้าที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดคณะกรรมการสรรหา ส.ว. จำนวน 74 คนด้วย ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 301 ซึ่งบทเฉพาะกาลดังกล่าวเท่ากับเป็นการระงับใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 252 ที่กล่าวข้างต้นไปโดยปริยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องการสรรหา การโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง และวาระการดำรงตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน บทเฉพาะกาลมาตรา 301 ดังกล่าว ก็มิได้บัญญัติให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินดำรงตำแหน่งและใช้อำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งทำหน้าที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไปจนกว่าจะครบวาระนับตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ เหมือนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากแต่ได้กำหนดบังคับไว้ว่า “ให้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 252 ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่มีการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรกตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
โดยข้อเท็จจริง ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 เพราะฉะนั้น การสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 252 จึงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2551 เป็นอย่างช้า (นับจากวันที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้รับแต่งตั้ง)
ตกมาถึงวันนี้ ซึ่งเท่ากับระยะเวลาล่วงเลยเกินกว่ากำหนดมาแล้วกว่า 50 วัน แต่ก็ยังไม่ปรากฏสัญญาณหรือความเคลื่อนไหวในทางใดทางหนึ่งว่า ได้มีการเริ่มกระบวนการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเลย ไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนใด
ขณะที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 12 ก็ยังคงใช้อำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามประกาศ คปค. ฉบับดังกล่าว และทำหน้าที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 301 อยู่ต่อไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามซึ่งกระทบต่อกระบวนการตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด และต่อความเป็นไปของบ้านเมือง 2 ข้อ ดังต่อไปนี้
ข้อแรก ในเมื่อกำหนดระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดบังคับไว้ให้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ภายใน 120 วัน ได้ล่วงพ้นไป ซึ่งเท่ากับว่าได้มีการกระทำความผิดต่อรัฐธรรมนูญขึ้นแล้ว ถามว่าผู้ใดหรือองค์กรใดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำดังกล่าว?
ข้อสอง (ซึ่งอาจจะสำคัญกว่าข้อแรก) นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ครบ 120 วัน อันเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา 301 เป็นต้นมา ในทางนิตินัยแล้ว จะถือว่าประเทศไทยไม่มีทั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่จะใช้อำนาจและทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 252 มาตรา 253 และมาตรา 254 ได้หรือไม่? ขณะเดียวกัน การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ซึ่งใช้อำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมาตลอด และต่อเนื่องจนถึงหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ต้องสิ้นสุดลงโดยปริยายหรือไม่? และถ้าต้องสิ้นสุดลง ก็ย่อมหมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ดำเนินการไป ทั้งในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องตกเป็นโมฆะไปทั้งหมดหรือไม่? และถ้าต้องตกเป็นโมฆะไป ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น?
คำถามสำคัญทั้ง 2 ข้อนี้ แน่นอนที่สุด ผู้ที่มีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดเห็นจะมีแต่ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญขององค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ผู้ใดหรือองค์กรใดจะเป็นผู้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
เห็นทีจะต้องใช้บริการของ ส.ว. สรรหา 74 คน แล้วกระมัง ที่จะเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของผู้ว่าการ สตง. ในฐานะที่ใช้อำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และทำหน้าที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดคณะกรรมการสรรหาที่ทำคลอด ส.ว. ทั้ง 74 คน ออกมานั่นแหละ
จะให้คณะกรรมาธิการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชน เข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เดี๋ยวก็จะหาว่าเขามีอคติ เนื่องจากเป็นคู่ปรปักษ์กันมาก่อน
ให้ ส.ว. สรรหาเข้าชื่อกันเสนอนั่นแหละ เป็นดีที่สุด
คณิน บุญสุวรรณ