คอลัมน์ : แวดวงจักรดาว
ต้องยอมรับว่า ทันทีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องหนีคดีลี้ภัยไปยังประเทศอังกฤษนั้น เมฆหมอกมืดดำที่ปกคลุมการโยกย้ายทหารครั้งใหญ่ประจำปี ก็ดูจะถอยจางลงไป
แรงกดดัน แทรกแซง ล้วงลูกการโยกย้ายทหาร จากฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะใบสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มีน้ำหนักน้อยลง
ยิ่งเมื่อ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่เคยถูกมองว่าเป็นนอมินี ก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงมากขึ้น ทำให้ภาพเงาแห่งอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เคยโผล่ทะมึนอยู่เบื้องหลังถอยห่างออกไป
โดยเขาประกาศกับ ผบ.เหล่าทัพ และขุนทหารในกองทัพว่า จะไม่เข้ามาแทรกแซงล้วงลูกการโยกย้ายทหาร เพราะให้อำนาจแก่ ผบ.เหล่าทัพ ในการพิจารณาอย่างเต็มที่
ยกเว้นกรณีที่เกิดปัญหาตกลงกันไม่ได้ ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายพล ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ปี 2550 ใหม่ ที่มี รมว.กลาโหม เป็นประธาน ร่วมด้วย รมช.กลาโหม ปลัดกลาโหม ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ.
อีกทั้งในยกนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ดูเสมือนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แก่บรรดาบิ๊กทหารคณะปฏิวัติ จนต้องหนีออกนอกประเทศ และลี้ภัยต่างแดน
จึงดูประหนึ่งว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กำลังกลับมามีพลังอำนาจอีกครั้ง แฝงไปพร้อมๆ กับรัฐบาลของนายสมัคร ยิ่งนายสมัครปล่อยให้การโยกย้ายทหารอยู่ในมือ ผบ.เหล่าทัพ ซึ่งก็ล้วนเป็นอดีต คมช. ทั้งสิ้นอีกด้วย
อีกทั้งยังเป็นการจัดโผครั้งสุดท้ายของ ผบ.เหล่าทัพ ที่เป็นอดีต คมช. ที่กำลังจะเกษียณราชการในเดือนกันยายนนี้
สิ่งที่กำลังวัดกันว่า คมช. จะยังมีพลังอยู่หรือไม่ ก็คืออนาคตของ บิ๊กแดง พล.อ.มนตรี สังขทรัพย์ รอง ผบ.สส. ที่รู้กันดีว่าเป็นสายตรงของ บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. โดยเฉพาะกับทางหลังบ้าน เพราะอย่าลืมว่า พล.อ.สนธิ เคยเสนอชื่อ พล.อ.มนตรี เมื่อครั้งเป็น เสธ.ทบ. ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. แข่งกับ บิ๊กป็อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มาแล้ว แต่พ่ายแพ้พลังแนวร่วมหนุน พล.อ.อนุพงษ์ จนเป็นเหตุให้ พล.อ.สนธิ และ พล.อ.อนุพงษ์ บาดหมางกันจนบัดนี้ เพราะ พล.อ.อนุพงษ์ ระลึกเสมอว่า พล.อ.สนธิ ไม่ได้สนับสนุนตนเองเป็น ผบ.ทบ.
พล.อ.มนตรี เป็น ตท.9 ที่จะเกษียณในปี 2553 อีกทั้งเมื่อครั้งที่ผิดหวังจาก ผบ.ทบ. แล้ว พล.อ.สนธิ ส่งให้ข้ามมาเป็น รอง ผบ.สส. นั้น ก็ได้มีสัญญาใจกับ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส. เพื่อนร่วมรุ่น ตท.6 และสมาชิก คมช. ด้วยในขณะนั้น ที่จะให้ พล.อ.มนตรี มาจ่อขึ้นเป็น ผบ.สส.
แต่ด้วยรอยร้าวของ พล.อ.สนธิ กับ พล.อ.อนุพงษ์ ยิ่งในยามที่ พล.อ.อนุพงษ์ เป็นที่รักโปรดปรานของนายสมัคร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และเป็น ผบ.เหล่าทัพ หนึ่งเดียว คนเดียว ที่นายสมัครไว้วางใจและเอาเป็นพวก เพราะรู้ว่าคุมกำลังปฏิวัติทั้งหมด ก็ทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ มีน้ำหนักในการที่จะพูดหรือต่อรองหรือแนะนำตำแหน่งต่างๆ ต่อนายสมัคร
มีรายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ คัดค้านไม่ให้ พล.อ.มนตรี ขึ้นเป็น ผบ.สส. ที่นอกจากเพราะอยู่กันคนละขั้วแล้ว ยังเป็นเพราะ พล.อ.อนุพงษ์ หวั่นใจว่า หาก พล.อ.มนตรี เป็น ผบ.สส. แล้วเกษียณราชการในปี 2552 จะต้องมีการหาตัว ผบ.สส. คนใหม่ เมื่อนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งเป็น ผบ.เหล่าทัพ ที่อาวุโสที่สุด เป็นปีที่สอง จะถูกมองว่าควรจะขยับจากเก้าอี้ ผบ.ทบ. ขึ้นเป็น ผบ.สส. ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณปี 2553
หลังจากที่ในการโยกย้ายปีนี้เคยมีความพยายามที่จะดัน พล.อ.อนุพงษ์ ให้เด้งจาก ผบ.ทบ. ไปเป็น ผบ.สส. มาแล้ว ด้วยการอ้างคุณสมบัติของ ผบ.สส. ตามโครงสร้างกองบัญชาการกองทัพไทยใหม่ ที่จะต้องเป็น ผบ.เหล่าทัพ ที่อาวุโส จนถูกต่อต้านและเปิดรูหายใจให้เป็น มาจากนายทหารอัตราจอมพลที่อาวุโส
แน่นอนเมื่อ พล.อ.อนุพงษ์ ไม่อยากขึ้นเป็น ผบ.สส. ที่ไร้อำนาจ อยากเป็น ผบ.ทบ. ต่อเป็นปีที่ 2 เขาก็อยากที่จะนั่งเป็นปีที่สาม จนเกษียณคาเก้าอี้ ผบ.ทบ. แต่หาก พล.อ.มนตรี เกษียณ เขาก็เสี่ยงที่จะต้องข้ามห้วยไปนั่งแทน อันจะกระทบต่อแผนการวางทายาทอำนาจใน ทบ. ที่ พล.อ.อนุพงษ์ ได้วางเอาไว้
จึงมีแรงดันให้ยึดหลักจอมพลอาวุโส จึงก่อกระแสการดัน พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ รองปลัดกลาโหม ตท.8 ที่มีอายุราชการถึงปี 2553 ซึ่งจ่อที่จะเป็นปลัดกลาโหมคนใหม่อยู่แล้ว ให้ข้ามห้วยมาเป็น ผบ.สส. เพราะอย่างน้อยก็มีอายุราชการ 2 ปี เกษียณพร้อม พล.อ.อนุพงษ์ จึงย่อมไม่กระทบ พล.อ.อนุพงษ์ แน่
แล้วให้ พล.อ.มนตรี ไปเป็นปลัดกลาโหมในปีสุดท้ายก่อนเกษียณ อีกทั้ง พล.อ.สนธิ ก็ฝากฝัง พล.อ.มนตรี มากับ บิ๊กตุ่น พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกลาโหม เพื่อน ตท.6 ที่กำลังจะเกษียณอีกแรงหนึ่งด้วย
พล.อ.วินัย นั้นได้ชื่อว่าเป็นนายทหารที่เอาพวกเอาพ้องและเอาญาติอย่างยิ่ง เพราะในการโยกย้ายทุกครั้ง เขามักจะถูกโจมตีเรื่องการนำญาติมาลงตำแหน่งสำคัญเสมอๆ เช่นครั้งนี้ พล.อ.วินัย ไม่ยอมให้โควตาเก้าอี้รองปลัดกลาโหมให้กับ ทบ. เลย ทั้งๆ ที่ตำแหน่งรองปลัดกลาโหม เครื่องแบบ ทบ. ว่าง 2 เก้าอี้ โดยให้ พล.อ.พิศณุ อุไรเลิศ เจ้ากรมเสมียนตรา ตท.8 และ บิ๊กจง พล.อ.จงศักดิ์ พานิชกุล ตท.9 ซึ่งเป็นพ่อตาของลูกชาย ขึ้นเป็นรองปลัดกลาโหม และวางตัว พล.อ.จงศักดิ์ ให้เป็นปลัดกลาโหมในปีหน้า เมื่อ พล.อ.มนตรี เกษียณ โดยมีแผนที่จะดัน พล.ท.สราวุธ ชลออยู่ น้องภริยา ขึ้นมาเป็นเจ้ากรมเสมียนตราแทน
สูตรนี้จึงลงตัว โดยที่ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ เสนาธิการทหาร แกนนำ ตท.10 ที่เกษียณ 2554 จะขยับขึ้นเป็นรอง ผบ.สส. จ่อคิวรอเป็น ผบ.สส. อย่างแห้งเหี่ยว เพราะหาก พล.อ.อภิชาต ที่เกษียณ 2553 ข้ามมาเป็น ผบ.สส. ก็เท่ากับว่าเขาจะเหลือโอกาสแค่ปีเดียวในการขึ้นเป็น ผบ.สส. แน่นอนว่า พล.อ.ทรงกิตติ ย่อมไม่ยอมอยู่นิ่ง
อย่าลืมอีกว่า พล.อ.ทรงกิตติ นอกจากเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว เขายังเป็นทหารม้าที่ตบเท้าเข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ด้วย เขาจึงมีพลังนี้มาหนุนอีกแรง ยิ่งมีรายงานว่า พล.อ.บุญสร้าง ยังคงแอบเข้าบ้านสี่เสาฯ อย่างต่อเนื่อง
ด้วยเพราะ พล.อ.บุญสร้าง เองก็ไม่ได้ยึดถือกับการฝากฝังของ พล.อ.สนธิ ในการผลักดัน พล.อ.มนตรี เพราะส่วนตัวแล้วเขาพึงใจ พล.อ.ทรงกิตติ มากกว่า เพราะเรียกได้ว่าเป็นทหารในระดับอินเตอร์ด้วยกัน ในฐานะเคยไปเป็น ผบ.กองกำลังรักษาสันติภาพ ในติมอร์ตะวันออกเช่นกัน และมองว่า พล.อ.ทรงกิตติ มีบุคลิกที่เหมาะสมที่จะเป็น ผบ.สส. มากกว่า ส่วน พล.อ.อภิชาต ก็ควรโตเป็นปลัดกลาโหม
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ตท.6 หรืออดีต คมช. ก็ยังขัดแย้งแย่งชิงเก้าอี้กันเอง จนมีข่าวสะพัดว่าให้ระวังหมัดเด็ดของนายสมัคร ในการอ้างความขัดแย้งไม่ลงตัว เสนอชื่อ พล.อ.อนุพงษ์ ผบ.ทบ. ให้ควบเป็น ผบ.สส. ด้วย เพื่อแก้ปัญหา อีกทั้งหวังจะให้ พล.อ.อนุพงษ์ คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ และเป็นฐานอำนาจค้ำให้ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีไปให้นานที่สุด
แม้ว่าการควบ 2 เก้าอี้จะหมดสมัยไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีกฎระเบียบห้ามเอาไว้ แต่หากนายสมัครเสนอ เชื่อว่าจะถูก ผบ.เหล่าทัพ ทั้งหมดคัดค้าน แม้ว่า พล.อ.อนุพงษ์ จะเป็นอดีต คมช. ที่นำการปฏิวัติมาก็ตาม แต่เนื่องจาก พล.อ.อนุพงษ์ เปลี่ยนจุดยืนแล้ว จึงทำให้ ผบ.เหล่าทัพ รุ่นพี่ ตท.6 และอดีต คมช. ไม่ค่อยแฮปปี้กับบทบาทของ พล.อ.อนุพงษ์ ที่ไปหนุนนายสมัครแบบเต็มตัว
ยิ่ง พล.อ.อนุพงษ์ ตระหนักว่า ตนเองเป็นรุ่นน้องที่พี่ๆ ตท.6 พยายามคุมกำเนิด เพราะพยายามที่จะให้เขาเด้งไปเป็น ผบ.สส. มาแล้ว ดังนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งมีนายสมัครหนุนหลัง ก็จึงใช้ช่องทางอำนาจผ่านทางนายสมัครในการจัดโผทหารได้ตามที่ต้องการ
แต่อย่างไรก็ตาม แม้นายสมัครจะถือข้าง พล.อ.อนุพงษ์ แต่เขาก็ฉลาดพอที่จะไม่หักหาญน้ำใจ ผบ.เหล่าทัพ คนอื่นๆ เพราะนายสมัครต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพ ที่เขารู้ดีว่ามันจะช่วยทำให้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของเขาแข็งแรงและมั่นคงขึ้นนั่นเอง จึงย่อมต้องมีการรอมชอม มีได้มีเสีย มีการต่อรองกัน เพราะถึงอย่างไรก็พี่น้องและเป็นอดีต คมช. มาด้วยกันทั้งสิ้น
แต่ถ้านายสมัครไม่ยอมล้มเลิกความคิดหรือแผนเดิม จะเสนอให้ พล.อ.อนุพงษ์ ควบทั้ง ผบ.ทบ. และ ผบ.สส. ต่อไป ก็ย่อมเกิดความขัดแย้งขึ้นแน่นอน ยิ่งเมื่อต้องมีการโหวตลงคะแนนกันใน 6 คณะกรรมการโยกย้าย
ที่สำคัญ นายสมัครได้รู้ซึ้งถึงพลังของ คมช. และแนวร่วมลับๆ ที่อยู่เบื้องหลัง ที่ยังมีอย่างสูงลิ่ว จนทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องพ่ายแพ้ หนีออกนอกประเทศไปอยู่ต่างแดนในที่สุด นายสมัครย่อมไม่อยากจะเป็นศัตรู ที่จะทำให้เขาตกเป็นเป้าหมายทางการเมืองไปด้วย เพราะนอกจากนายสมัครจะแสดงตนเป็นผู้จงรักภักดีแล้ว เขาก็ยังเกาะกองทัพแน่นด้วยการทำดี และเอาใจทั้งผู้นำทหารไปจนถึงทหารตัวเล็กๆ เลยทีเดียว
ที่ส่อเค้าว่า โผทหารจะตบท้ายแบบ “หยวน หยวน” มากกว่าการหักหาญ...
ตีนตะขาบ