ที่มา ประชาทรรศน์
เหตุตุลาการภิวัฒน์ยุบ 3 พรรคร่วมรัฐบาล ดัน 'หมอเหลิม' เต็ง 1 ลุ้นเบียดเก้าอี้นายกฯ หลังล็อบบี้ ส.ส.พปช.จนคะแนนท่วม 'คลื่นใต้น้ำ' ใน พปช.ยังไม่สงบ 'เจ๊หน่อย' ผนึกแนวร่วม 'ยุทธ ตู้เย็น' วางตัว 'มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์' ท้าชิงโควต้าพรรคเพื่อไทย
หลังตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย สั่งให้ยุบพรรคพลังประชาชน (พปช.) รวมถึงสองพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตย ส่งผลให้กรรมการบริหารของ 3พรรคร่วมรัฐบาล รวม 109 คน ต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองและถูกเว้นวรรคดังกล่าว
และมีการคาดการณ์ถึงตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนที่นายกสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ได้รับการวางตัวเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะ ร.ต.อ.เฉลิมเป็นบุคคลหนึ่งที่ไม่ได้ถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี และเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เหมาะสม
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ร.ต.อ.เฉลิม ได้มีการหารือร่วมกับกลุ่ม ส.ส.ที่ให้การสนับสนุน และมีการเจราจรเงื่อนไขกันที่กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งตลอดวันนี้ (2 ธ.ค.) หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรค ร.ต.อ.เฉลิมได้ต่อโทรศัพท์ เจรจากับกลุ่ม ส.ส.ทั้งที่ใกล้ชิด รวมถึง ส.ส.กลุ่มอื่นที่อยู่ร่วมพรรคพลังประชาชน
ขณะเดียวกัน กลุ่ม ส.ส.กทม.โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และเป็นหนึ่งสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ที่ต้องเว้นวรรคทางการเมือง ได้มีข้อตกลงร่วมกับนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ว่าจะวางตัวนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นตัวเลือกในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในโควต้าเดิมของพรรคพลังประชาชน
ทั้งนี้ จากกรณียุบพรรค นายยงยุทธได้ตกเป็นจำเลยหลังจากศาลฏีกามีคำวินิจฉัยว่ามีส่วนรู้เห็นกับการทุจริตเลือกตั้งในจังหวัดเชียงราย และในฐานะกรรมการบริหารพรรค ส่งผลให้พรรคพลังประชาชนต้องถูกสั่งยุบพรรคในครั้งนี้ จึงเป็นไปได้ยากที่ทั้งสองจะมีโอกาสส่งตัวแทนอย่างนายมิ่งขวัญให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้จะย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทยแล้วก็ตาม
ต่อข้อสังเกตทางการเมืองว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปนั้น มีความเป็นไปได้เกินกว่าครึ่งว่าจะเป็น ร.ต.อ.เฉลิม ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยก็ถูกจองจำทั้ง 111 คนแล้ว ขณะที่นายกรัฐมนตรีโควต้าคนนอกคงเป็นไปได้ยาก เพราะจากการประเมินสถานการณ์ในขณะนี้พรรคพลังประชาชนต้องการบุคคลที่มีอำนาจต่อรอง และสามารถยอมรับเงื่อนไขทางการเมืองของพรรคได้
นอกจากนี้ ยังมีการเจรจาต่อรอง "การรวมพรรค" ระหว่างกลุ่มก๊วนทางการเมืองใน พปช. รวมถึง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่มิได้เข้าข่ายการกระทำความผิดร่วมกับพรรคการเมืองของตัวเอง จนต้องย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น เพื่อคงไว้ซึ่งสถานภาพ ส.ส. ซึ่งจากการประเมินทำให้ทราบว่า กลุ่มของ ร.ต.อ.เฉลิม ได้เปรียบกลุ่มของคุณหญิงสุดารัตน์ และนายยงยุทธ ในเรื่องการสนับสนุนจากกลุ่ม ส.ส.มากพอควร และหากทั้งหมดย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย เมื่อมติพรรคมีความเห็นพ้องกันดังนี้ จึงไม่น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากฟังคำวินิจฉัยตุลาการรัฐธรรมนูญ ท่าทีของ ร.ต.อ.เฉลิม ยังดูยิ้มแย้มและหัวเราะกับผู้สื่อข่าวตลอดเวลา แต่ก็ไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ จึงเป็นที่สังเกตว่าแม้จะทราบผลการตัดสินคดียุบพรรคแล้วก็ตาม แต่ ร.ต.อ.เฉลิมยังมีอารมณ์ดีเป็นพิเศษ จึงน่าจะเป็นเรื่องดี หรือได้รับการวางตัวไปแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมแกนนำพรรค และจากการตรวจสอบเนื้อหาการประชุมดังกล่าว ทำให้เชื่อได้ว่ามีการตัดสินใจไปแล้วว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีลำดับต่อจากนายสมชาย แต่ยังไม่ทราบว่าใครจะได้รับการวางตัว