WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, December 4, 2008

เฉลิมพระเกียรติ81พรรษา:บทเรียนล้ำค่าจากเนปาล

ที่มา Thai E-News


สายสัมพันธ์2พระราชวงศ์-พระราชวงศ์เนปาลกับพระราชวงศ์ไทยมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยทั้ง2ราชวงศ์มีความยาวนานใกล้เคียงกันคือเนปาล 239 ปี ส่วนพระราชจักรีวงศ์ 226 ปี แต่ตอนนี้พระราชวงศ์ของเนปาลมีอันปลาสนาการไปเสียแล้ว

โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
4 ธันวาคม 2551

บทความเฉลิมพระเกียรติ81พรรษา:ด้วยเดชะพระบารมีทำให้เรารอดพ้นวิกฤตการณ์ความยุ่งยากต่างๆมาได้ แต่คำเตือนของเฮอรัลด์ ทรีบูนที่ได้ยกมาเตือนกลุ่มพันธมิตร ทำให้เราพสกนิกรชาวไทยผู้จงรักภักดีสถาบันฯ ต้องใส่ใจอย่างจริงจัง และย้อนมองไปดูบทเรียนที่ผิดพลาดของราชวงศ์เนปาล...และไม่ยินยอมให้มีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยซ้ำรอย เพื่อให้พระราชจักรีวงศ์ ทรงสถิตย์สถาพรอยู่เป็นมิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยไปตลอดกาล



สื่อฝรั่งเตือนพันธมิตรอย่านำสถาบันเป็นเครื่องมือการเมือง ให้ดูบทเรียนผิดพลาดจากเนปาล

บทความของเฮอรัลด์ทรีบูนตั้งคำถามว่า..เป็นไปได้ไหมว่าสถาบันกษัตริย์ของเมืองไทยจะเดินไปทางเดียวกับประเทศเนปาล ที่ราชบัลลังค์ล่าสุดได้ถูกล้มและถูกเปลี่ยนไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ?



หนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล เฮอรัลด์ ทรีบูน ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ"ม็อบและราชบัลลังก์"โดยเตือนม็อบพันธมิตร ที่กำลังนำสถาบันกษัตริย์มาอ้างเพื่อเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของตน และนำไปทำลายฝ่ายปฏิปักษ์ทางการเมืองว่า สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพเทิดทูน ของพสกนิกรไทย ต้องระคายเคือง โดยเฉพาะพฤติการณ์ยึดสนามบินของพันธมิตร ที่อ้างสถาบันเป็นเครื่องมือนั้น อาจเป็นการหว่านเมล็ดของความไม่ไว้วางใจสถาบันกษัตริย์ในกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เลือกรัฐบาลปัจจุบันอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องทำนองนี้เคยมีบทเรียนในกรณีของเนปาลมาก่อนแล้ว จึงต้องเตือนพวกนำม็อบมายุ่งเกี่ยวกับพระราชบัลลังก์ต้องตั้งสติให้ดี

บทความระบุว่า เป็นไปได้ไหมว่าสถาบันกษัตริย์ของเมืองไทยจะเดินไปทางเดียวกับประเทศเนปาล ที่ราชบัลลังค์ล่าสุดได้ถูกล้มและถูกเปลี่ยนไปเป็นระบอบสาธารณรัฐ?

ความคิดนี้อาจฟังดูไร้สาระเมื่อพิจารณาถึงว่ากษัตริย์ของเมืองไทย ภูมิพล อดุลยเดช ถูกกล่าวขานโดยมีคำนำหน้าว่า "ที่เคารพรัก" มาโดยตลอดโดยสื่อต่างชาติและถูกยกย่องเชิดชูโดยสื่อในประเทศมาโดยตลอด

แต่อย่างที่เนปาลได้พิสูจน์ให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์สามารถทำลายตนเอง เมื่อราชวงศ์เองมีการทะลาะเบาะแว้งกันหรือเมื่อราชวงศ์ที่ไร้ความสามารถทำเลยเถิดจนก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่เกี่ยวกับสาธาณรัฐ

พึงตระหนักให้มากว่ากษัตริย์พิเรนทราของเนปาลที่ได้รับการ"สักการะและเคารพ"ในช่วงเวลา 30 ปีที่ครองราชย์ แต่หลังจากที่ถูกสังหารโดยลูกชายที่มีสติฟั่นเฟือน ในปี 2001 เขาก็ได้ถูกสืบทอดราชบัลลังก์โดย King Gyeandendra ซึ่งก็ได้ทำการยุบสภาในปี 2005 และพยายามจะบังคับให้ใช้ระบอบสมบูรณาฯหรือกษัตริย์มีอำนาจในการปกครองโดยตรง แต่มันก็เป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ระบอบสาธารณรัฐ และการประท้วงของขบวนการนิยมลัทธิเหมา ปูทางให้เกิดการเลือกตั้งและสถาบันกษัตริย์ก็ถูกล้มล้างไปในเดือนมีนาคมปีนี้

เป็นไปได้ไหมว่ากลุ่มผู้ประท้วงที่อ้างว่าสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ที่ทำให้สนามบินของไทยเป็นอัมพาต กำลังหว่านเมล็ดของความไม่ไว้วางใจสถาบันกษัตริย์ในกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เลือกรัฐบาลปัจจุบัน เข้ามาบริหารประเทศเมื่อ 11 เดือนที่แล้ว เป็นไปได้ไหมว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่แข็งกร้าวมันกลบความขุ่นเคืองใจที่กำลังทวีคูณขึ้นทุกวัน

ประเด็นที่เฮอรัลด์ทรีบูนได้ยกมาเตือนกลุ่มพันธมิตร ทำให้เราพสกนิกรชาวไทยผู้จงรักภักดีสถาบันกษัตริย์ ต้องใส่ใจต่อคำเตือนนี้อย่างจริงจัง และย้อนมองไปดูบทเรียนที่ผิดพลาดของราชวงศ์เนปาล...

สิ้นราชบัลลังก์-กษัตรยิ์คเยนทราแห่งเนปาลกับพระราชินีของพระองค์ทรงพยายามที่จะรักษาพระราชวงศ์เอาไว้จนถึงที่สุด แต่ก็ทำได้เพียงแค่การนำแพะมาเชือดบูชายัญเจ้าแม่กาลีตามพิธีกรรมความเชื่อของฮินดู ขณะที่เสียงโห่ร้องขับไล่ใกล้วังเข้ามา ในที่สุดรัฐสภาเนปาลลงมติในเดือนพฤษภาคมปีนี้ให้ยกเลิกระบบกษัตริย์และเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ

ทำไมราชวงศ์ชาห์อันเป็นศูนย์รวมใจเนปาลทั้งชาติถูกโค่นล้มลงไป

ความศรัทธาในตัวพระองค์เสื่อมถอยลง หลังพระองค์ทรงเข้าแทรกแซงการเมือง โดยยึดอำนาจเบ็ดเสร็จมาจากรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้ง


ฉากสุดท้ายของพระราชวงศ์ชาห์แห่งเนปาลเป็นไปอย่างอัปยศ รัฐบาลใหม่ของเนปาลเตือนให้กษัตริย์คเยนทราต้องออกจากพระราชวังในวันที่ 28 พฤษภาคม2551 หลังสมัชชาแห่งชาติเปิดประชุมครั้งแรก พร้อมคำประกาศเลิกสถาบันกษัตริย์ ถือเป็นการสิ้นสุดทั้งราชวงศ์ชาห์แห่งเนปาลที่ปกครองประเทศมายาวนานถึง 239 ปี และระบอบกษัตริย์ในประเทศนี้ไปพร้อมๆกัน

พระองค์ทรงมีพระราชขัตติยะมานะ เพราะเลยเส้นตายของรัฐบาลสาธารณรัฐล่วงไปถึง 11 มิถุนายน 2551 กษัตริย์คยาเนนทราจึงพร้อมด้วยพระราชินีของพระองค์เสด็จออกจากพระราชวังเพื่อไปประทับ ณ พระตำหนักนิรมาลนิวาส พระตำหนักส่วนพระองค์ โดยมีชาวเนปาลที่ต่อต้านพระองค์มากลุ้มรุมส่งเสียงโห่ไล่ และเต้นรำเฉลิมฉลองกันสุดเหวี่ยง

ราชวงศ์ชาห์ ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ชาวเนปาลเคยนับถือดั่งเทพเจ้าของศาสนาฮินดู ได้กลายเป็นตำนาน หลังสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศให้เนปาลเป็นประเทศสาธารณรัฐอย่างเป็นทางการ ในการประชุมนัดแรกในวันที่ 28พฤษภาคม 2551

ชะตากรรมของอดีตกษัตริย์คเยนทราหลังจากนั้นก็คือ การไฟฟ้าของเนปาลได้จัดส่งบิลไปเก็บค่าไฟฟ้าที่คิดค้างไว้ราว 40 ล้านบาท โดยบอกว่าทรงติดไว้นับแต่ปี2548เป็นต้นมา

และไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่จะถูกล้มล้าง พระองค์ได้ไปปรากฎตัวต่อสาธารณชนอย่างที่ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยครั้ง โดยทรงเข้าร่วมพิธีทางศาสนาที่วัดแห่งหนึ่งทางใต้ของกรุงกาฏมาณฑุ เพื่อทำพิธีเชือดแพะบูชายัญ หวังจะต่ออายุพระราชวงศ์ ทว่าไม่เป็นผลใดๆ

มีรายงานว่า พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ ถูกปลดออกจากฝาตามร้านรวงต่างๆ รวมทั้งถูกถอดออกจากธนบัตร ขณะที่คำว่า "Royal"ก็ถูกลบออกจากชื่อของกองทัพ รวมทั้งสายการบินแห่งชาติ และรัฐบาลได้งดจ่ายเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายของพระองค์ปีละ 3 ล้าน 1 แสนดอลลาร์ และยึดวัง 10 แห่งของราชวงค์คืน


กษัตริย์คเยนทรา ทรงขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระเชษฐา คือกษัตริย์พิเรนทรา ที่ถูกเจ้าชายทิเพนทรา มกุฎราชกุมาร ปลงพระชนม์พร้อมด้วยพระราชวงศ์เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2544 แต่ความศรัทธาในตัวพระองค์เสื่อมถอยลง หลังพระองค์ทรงเข้าแทรกแซงการเมือง โดยยึดอำนาจเบ็ดเสร็จมาจากรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้ง และให้คำมั่นว่าจะบดขยี้กลุ่มกบฎลัทธิเหมาด้วยพระองค์เอง แต่ถูกกระแสต่อต้านจากประชาชนจนต้องทรงยอมคืนอำนาจให้กับประชาชนในที่สุด

แต่ชาวเนปาลกลับไปไกลกว่านั้น คือให้ล้มเลิกระบบกษัตริย์ และเปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐแทน


ซุบซิบกันว่าสังหารพระเชษฐาเพื่อฮุบราชสมบัติ และทรงมีพระราชโอรสเพลย์บอย


บัลลังก์เลือด-กษัตริย์คเยนทราเป็นสมมุติเทพตามความเชื่อของศาสนาฮินดู พระองค์ทรงเข้ารับราชสมบัติต่อจากพระเชษฐาที่สวรรคตในเหตุนองเลือดในพระราชวัง มีเสียงลือซุบซิบในหมู่ผู้ต่อต้านว่าพระองค์อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์น่าสพรึงนี้

จู่ๆเฉพาะการเข้าแทรกแซงการเมือง คว่ำรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชน คงไม่น่ามีผลสะเทือนให้พระราชวงศ์ที่ยืนยาว240ปีต้องถึงกาลอวสาน แต่มันมีเรื่องซุบซิบอื่นๆในเรื่องพระราชจริยาวัตรส่วนพระองค์ และข่าวอัปมงคลต่างๆที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของสาธารณชนด้วย 2ในข่าวซุบซิบนั้นเป็นเรื่องเล่าลือกันว่าอาจทรงเกี่ยวพันกับการสังหารพระเชษฐาเพื่อหวังในราชสมบัติ กับทรงมีพระโอรสที่เป็นเพลย์บอย ไม่เป็นที่นิยมของพสกนิกรชาวเนปาลอีกด้วย


ตามคติความเชื่อดั้งเดิมของฮินดู ทรงเป็นสมมติเทพมาปราบยุคเข็ญ ชาวเนปาลเชื่อว่าแท้จริงแล้วกษัตริย์คือปางอวตารของวิษณุเทพ อันเป็นคติแต่โบราณของผู้คนในชมพูทวีป


อดีตกษัตริย์คเยนทราประสูติเมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2490 ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนของชาวคริสต์ในเมืองดาจีลิง (Darjeeling) ประเทศอินเดีย พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2544 ต่อจากกษัตริย์พิเรนทรา (King Birendra Bir Bikram Shah Dev) ผู้เป็นพระเชษฐา ซึ่งครองราชย์ตั้งแต่ปี 2515 ก่อนจะสิ้นพระชนม์ในเหตุการณ์ ‘สังหารโหดในพระราชวัง’ (the Palace Massacre) ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2544 ที่เจ้าชายดิเพนทราพระโอรสซึ่งเสวยน้ำจัณฑ์จนเมามายได้กราดยิงพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์รวม 10 พระองค์จนสิ้นพระชนม์ก่อนที่เจ้าชายดิเพนทราจะปลงพระชนม์ตัวเองตาม


โดยพื้นฐานทางการเมืองของเนปาลเองปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นเวลายาวนาน ก็เพิ่งจะมีประชาธิปไตยหลังจากขบวนการ ‘จัน อันโดลัน’ (Jan Andolan Movement) หรือแปลเป็นไทยว่าขบวนการประชาชน ได้บีบให้กษัตริย์พระองค์ก่อนคือพิเรนทรายอมปฏิรูปการเมือง และพระราชทานรัฐธรรมนูญในเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ.2534 ทำให้เนปาลมีรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีกิริยา ปราสาท กัวราลา (Girija Prasad Koirala) จากพรรคคองเกรสเนปาล (Nepali Congress Party) ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่การเมืองเนปาลก็เข้าสู่สภาพไร้เสถียรภาพ เพราะเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพของรัฐบาล กับพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือกบฏลัทธิเหมานำโดยสหายประจันดา (Prachanda) ที่จับอาวุธสู้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 จนฝ่ายกบฏมีฐานที่มั่นอยู่ใน 50 จังหวัดจาก 75 จังหวัดของเนปาล และสงครามกลางเมืองก็ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 12,500 ราย

เมื่อเกิดเหตุการณ์ ‘สังหารโหดในพระราชวัง’ (the Palace Massacre) และกษัตริย์คเยนทราทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2544 การเมืองเนปาลก็ยิ่งไร้เสถียรภาพเข้าไปอีก เพราะพระองค์อ้างเหตุความไม่สงบในเนปาลเข้าแทรกแซงการเมืองระบอบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

อาทิทำการปลด และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีด้วยพระองค์เองรวม 5 ครั้งช่วงปี 2544 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ก่อนที่พระองค์จะยึดอำนาจการปกครองของเนปาลมาอยู่ที่พระองค์เองในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 โดยพระองค์อ้างเหตุผลการยึดอำนาจว่าเพราะนายกรัฐมนตรีคนก่อนบริหารราชการแผ่นดินบกพร่องในเรื่องการเตรียมการเลือกตั้ง และไม่สามารถสร้างความสงบเรียบร้อยขึ้นมาในบ้านเมืองได้ โดยพระองค์สัญญาว่าจะคืน “ความสงบเรียบร้อยและประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ” ภายในเวลา 3 ปี

นอกจากนี้พระองค์ยังตัดสินพระทัยจำกัดเสรีภาพของประชาชนรวมไปถึงเสรีภาพในการนำเสนอของสื่อมวลชน มีการจับกุมนักการเมือง นักเคลื่อนไหวที่เห็นต่างจากพระองค์ ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรประชาธิปไตยในประเทศกังวลต่อสถานการณ์ในเนปาลโดยเฉพาะกับนักข่าวและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนของเนปาล แต่กษัตริย์คเยนทราก็ทรงตอบโต้องค์กรต่างประเทศเหล่านั้นว่า “ประชาธิปไตยและเสรีภาพที่ก้าวหน้าทั้งหลายจำเป็นน้อยกว่าการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ!”

นอกจากความไม่พอใจในตัวกษัตริย์เนปาลจะเกิดเพราะการเข้ายึดอำนาจของกษัตริย์คเยนทราแล้ว สิ่งที่ช็อกความรู้สึกชาวเนปาลอีกประการหนึ่งคือการที่คณะลูกขุนของรัฐบาลตัดสินว่าเจ้าชายดิเพนทรา (Prince Dipendra) พระโอรสของกษัตริย์พิเรนทรา กษัตริย์พระองค์ก่อน ซึ่งยิงพระองค์เองเสียชีวิต ได้เป็นฆาตกรสังหารพระราชบิดา และพระบรมวงศานุวงศ์ในเหตุการณ์สังหารโหดในพระราชวังปี 2544 ครั้งนั้น แต่สำหรับเรื่องนี้เป็นการยากที่จะให้ชาวเนปาลทำใจเชื่อได้ แถมกบฏลัทธิเหมายังกระพือข่าวว่ากษัตริย์คเยนทราผู้สืบราชสมบัติต่อนั่นแหละเป็นตัวการในการสังหารโหดครั้งนั้น


กระแสข่าวทางลบในลักษณะนี้ต่อกษัตริย์คเยนทรา ยังคงแพร่กระจายไปทั่วเนปาล ผู้คนต่างตั้งคำถามว่ากษัตริย์คเยนทราหนีออกจากพระราชวังได้อย่างไรในวันที่เหตุฆาตกรรมหมู่เกิดขึ้น และพระราชโอรสพระองค์เดียวของพระองค์ คือเจ้าฟ้าชายพาราช (Prince Paras) หลบออกจากพระราชวังไปได้อย่างไรโดยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่รอยขีดข่วน!?


และยิ่งเจ้าฟ้าชายพาราช ผู้จะสืบทอดราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา และสืบราชสมบัติแห่งราชวงศ์ชาห์กลับมีนิสัยชอบขับรถซิ่ง และความเจ้าสำราญที่ชาวเนปาลขนานนามพระองค์ว่า “The playboy” ยิ่งทำให้ความนิยมของประชาชนต่อเจ้าชายพาราชผู้สืบทอดราชสมบัติของราชวงศ์ชาห์ และทำให้กษัตริย์คเยนทราไม่เป็นที่นิยมชนิดร้าวลึก

ประมาณการณ์ผิดเป็นเหตุให้ถึงกาลอวสานอย่างอัปยศ



ทรงสำคัญผิด-การยึดกุมอำนาจในกองทัพไว้ได้ และมีผู้นำเหล่าทัพที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย กอรปกับการประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อให้ประชนได้เห็นแต่ด้านดีของระบบกษัตริย์ทำให้พระองค์ทรงประเมินสถานการณ์ผิดพลาด

พันธมิตรแห่งแนวต้านอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์

การที่พระองค์ประมาณสถานการณ์ผิดว่าสามารถยึดกุมกองทัพเอาไว้ ถึงขั้นล้มรัฐบาลหลายคณะ และที่สุดรวบพระราชอำนาจมาไว้ที่พระองค์เสียเอง กับเชื่อมั่นว่าการประชาสัมพันธ์แต่ด้านบวกให้พสกนิกรชาวเนปาลเทิดทูนก็เพียงพอแล้ว และหวังว่าจะทำสงครามเอาชนะพวกกบฎคอมมิวนิสต์ได้ พระองค์ก็จะกลายเป็นวีรบุษผู้ยิ่งใหญ่ของชาติ ทั้งหมดนี้ทำให้ราชวงศ์เดินทางมาถึงจุดจบ..เพราะสิ่งที่พระองค์ไม่ได้นำมาประเมินเลยก็คือ พลังของประชาชนผู้กระหายประชาธิปไตย และการปกครองโดยประชาชน


ท่ามกลางอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ในประเทศ ต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2548 พันธมิตร 7 พรรคการเมืองเของเนปาล (Seven Party Alliance - SPA) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองในสภาร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล (เหมาอิสต์) หรือกบฏลัทธิเหมา ได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรบันทึกข้อตกลง 12 ประการเพื่อสันติภาพและประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านการปกครองของกษัตริย์คเยนทรา ซึ่งทำให้เกิดฝ่ายต่อต้านการปกครองของกษัตริย์ขยายตัวออกไปทั่วประเทศ

การต่อต้านพระราชอำนาจได้ถึงจุดปะทะเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2549 พันธมิตร 7 พรรคการเมืองจัดการชุมนุมในกรุงกาฐมาณฑุ เรียกร้องประชาธิปไตย และคว่ำบาตรการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กษัตริย์คเยนทราได้จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากเห็นว่าการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นเพียงมายาภาพที่แสดงให้เห็นว่านี่เป็นก้าวแรกสู่ประชาธิปไตยเพื่อสร้างความชอบธรรมในการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จของพระองค์ที่ดำเนินมากว่า 1 ปี

โดยรัฐบาลพยายามสกัดการชุมนุมของประชาชนด้วยการประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้านในยามวิกาลในเขตเมืองหลวงและบางพื้นที่ของเนปาล ห้ามการชุมนุมสาธารณะ มีการตัดสัญญาณโทรศัพท์และคุกคามผู้ออกมาต่อต้านการเลือกตั้งดังกล่าว ทำให้การชุมนุมเลื่อนจากวันที่ 20 มกราคม มาเป็นอีกวันหนึ่ง


โดยในวันที่ 21 มกราคม มีการเดินขบวนท้าทายอำนาจของกษัตริย์ครั้งใหญ่โดยประชาชนหลายพันคน ทำให้รัฐบาลของกษัตริย์คเยนทราใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง จนมีผู้นำพรรคการเมือง นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้นำแรงงาน นักศึกษา และนักหนังสือพิมพ์ถูกจับกุมหลายร้อยคน ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ตอบโต้ด้วยการขว้างปาก้อนหินใส่ตำรวจและทหาร พร้อมเผายางรถยนต์เป็นเครื่องกีดขวาง ซึ่งการปราบปรามครั้งนั้นทำให้การชุมนุมต่อต้านกษัตริย์ปะทุไปทั่วประเทศ



การประท้วงใหญ่เดือนเมษายน และการสละพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์

ในเดือนเมษายน 2549 ภายใต้การนำของพันธมิตร 7 พรรคการเมืองเนปาล (Seven Party Alliance - SPA) และกบฏลัทธิเหมาได้มีการต่อต้านครั้งใหญ่เพื่อทวงประชาธิปไตยคืนมาจากกษัตริย์ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน มีการนัดหยุดงานทั่วประเทศเป็นเวลา 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน และจัดการชุมนุมใหญ่ในเมืองหลวงวันที่ 8 เมษายน ตามด้วยการดื้อแพ่งด้วยการหยุดจ่ายภาษี เช่นเดียวกับการประท้วงหลายต่อหลายครั้ง

รัฐบาลได้ประกาศเคอร์ฟิวห้ามไม่ให้ประชาชนออกมาชุมนุม แต่การชุมนุมประท้วงกลับขยายตัวไปตามเมืองใหญ่ๆ ตลอดทั้งเดือน ทำให้รัฐบาลพยายามควบคุมสถานการณ์ด้วยการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดสลายการชุมนุมกระทั่งมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก จำนวนผู้ออกมาประท้วงเฉพาะในเมืองหลวงพุ่งสูงกว่า 300,000 - 500,000 คน

และในวันที่ 21 เมษายนกษัตริย์คเยนทราได้มีพระราชดำรัสว่าจะทรงคืนอำนาจบริหารให้แก่ประชาชน และจะจัดการเลือกตั้งใหม่ให้เร็วที่สุด รวมทั้งขอให้กลุ่มพันธมิตรฯ เสนอชื่อชื่อบุคคลที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่กลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มกบฏลัทธิเหมาปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว พร้อมกับนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 25 เมษายน

กระทั่งเที่ยงคืนของวันที่ 24 เมษายน กษัตริย์คเยนทราได้ยอมประกาศคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านสถานีโทรทัศน์ว่า พระองค์จะฟื้นฟูสภาผู้แทนราษฎรที่ล้มเลิกไปและขอให้พรรคการเมืองทั้ง 7 พรรคกลับมาร่วมรับผิดชอบดูแลประเทศชาติ เพื่อประชาธิปไตยและสันติภาพของชาวเนปาล ทำให้วันรุ่งขึ้นชาวเนปาลจำนวนมากออกมาชุมนุมแสดงความยินดีต่อชัยชนะของประชาชนตามท้องถนน

ตลอดการประท้วงใหญ่ 19 วัน มีการปราบปรามโดยกองกำลังรัฐบาลจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 19 คน และผู้บาดเจ็บนับพันคน ด้วยเหตุนี้ระหว่างประท้วงจึงทำให้มวลชนตามท้องถนนเผาหุ่นของกษัตริย์และประณามกษัตริย์คเยนทราว่าเป็น “ฆาตกร”


ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ


จุดพลุไล่-ชาวเนปาลออกมาเต้นรำเฉลิมฉลองการที่รัฐสภาลงมติยกเลิกระบบกษัตริย์ สิ้นสุดราชวงศ์ชาห์อายุยาวนาน 240 ปี และเปิดศักราชใหม่ของระบบสาธารณรัฐ เมื่อ28พ.ค.2551


ภายหลังจากที่สภาถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ นายกิริยา ปราสาท กัวราลา อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคคองเกรสเนปาล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว โดยเขาสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งคณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามข้อเรียกร้องของประชาชน

ต่อมาอดีตรัฐมนตรี 5 คนที่ทำงานให้กษัตริย์คเยนทราก็ถูกจับกุม และสอบสวนกรณีใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย นอกจากนี้รัฐบาลชุดใหม่และสภาผู้แทนราษฎรยังได้ดำเนินการลดทอนพระราชอำนาจอย่างต่อเนื่องทำให้ฐานะของสถาบันกษัตริย์เนปาลกลายเป็นประมุขของประเทศแต่ในทางพิธีกรรม (Ceremonial Monarchy) เท่านั้น เช่น ห้ามมิให้กษัตริย์มีอำนาจสั่งการกองทัพอีกต่อไป ทั้งนี้กองทัพเคยมีบทบาทในการช่วยกษัตริย์คเยนทรายึดอำนาจด้วยการกราบบังคมทูลเชิญกษัตริย์คเยนทราขึ้นสู่อำนาจการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การจับนายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ ในขณะนั้น มีการเปลี่ยนชื่อกองทัพจากกองทัพในพระมหากษัตริย์เนปาล (Royal Nepalese Army) มาเป็นกองทัพแห่งชาติเนปาล (Nepalese Army)

แถมเพลงชาติเนปาลซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ขึ้นต้นในทำนองว่า “ขอพระบารมีปกเกล้า, เป็นขวัญอธิปไตย เธอชาวเนปาลผู้กล้า มีมหาราชาธิราชเป็นกษัตริย์ของเรา...” ก็ถูกเปลี่ยนอีกด้วย

ที่สำคัญหลังการประท้วงครั้งใหญ่ในเดือนเมษายนก็ทำให้กษัตริย์คเยนทราก็ไม่ค่อยปรากฏพระองค์ในสถานที่สาธารณะ รถนำขบวนพระราชวงศ์ซึ่งการเสด็จครั้งหนึ่งต้องปิดถนน และทำให้รถติดในเมืองหลวงเป็นกินนานหลายชั่วโมง รวมทั้งการเสด็จแปรพระราชฐานไปยังชนบทด้วยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งก็ถูกยกเลิก

เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีการโดดเดี่ยวกษัตริย์คเยนทรา ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา ก็ไม่มีเด็กนักเรียนเป็นจำนวนมาก มาร่วมงานฉลองเหมือนอย่างเคย แถมรัฐมนตรีในรัฐบาลก็ไม่เข้าร่วมงานเลี้ยงดังกล่าว

ที่สุดแล้วรัฐสภาเนปาลได้ประกาศยกเลิกระบบกษัตริย์ลงอย่างเด็ดขาด และเปลี่ยนประเทศเป็นระบบสาธารณรัฐ และยื่นคำขาดให้อดีตกษัตริย์ทรงออกจากพระราชวัง เพื่อนำไปทำเป็ฯพิพิธภัณฑ์ และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวเนปาล

ในที่สุดนายคเยนทรา อดีตกษัตริย์เนปาลได้ออกจากพระราชวังในวันที่ 11 มิถุนายน 2551 โดยนั่งมากับนางคเยนทรา ภรรยาของเขา โดยมีชาวเนปาลที่โกรธแค้นกรูเข้าไปห้อมล้อมรถ ที่ไม่มีขบวนนำยาวเหยียดออกจากพระราชวังไป โดยทหารมากั้นไว้พอเป็นพิธี และให้รถยนต์คันนั้นเคลื่อนออกไปได้

และจะไม่ได้กลับมาในพระราชวังกาฎมัณฑุอีก...ตลอดกาล.


ความโชคดีของพสกนิกรชาวไทย


ความโชคดีของพสกนิกรชาวไทยก็คือ เรามีพระราชจักรีวงศ์ อันทรงคุณประเสริฐมาแล้วกว่า 226 ปี มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระราชอัจริยภาพ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ มีพระบรมราชวงศ์อันเป็นที่รักเทิดทูนทุกพระองค์ล้วนแต่มีพระอัจริยภาพ และพระราชจริยาวัตรอันงดงาม ทรงเหนื่อยยากเพื่อปวงชนชาวไทย

ในหลวงและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง และด้วยเดชะพระบารมีทำให้เรารอดพ้นวิกฤตการณ์ความยุ่งยากต่างๆมาได้ แต่คำเตือนของเฮอรัลด์ ทรีบูนที่ได้ยกมาเตือนกลุ่มพันธมิตร ทำให้เราพสกนิกรชาวไทยผู้จงรักภักดีสถาบันกษัตริย์ ต้องใส่ใจอย่างจริงจัง และย้อนมองไปดูบทเรียนที่ผิดพลาดของราชวงศ์เนปาล...และไม่ให้มีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้พระราชจักรีวงศ์สถิตย์สถาพรอยู่เป็นมิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยไปชั่วฟ้าดิน

ตลอดกาล.