ที่มา ประชาทรรศน์
* เผย‘เฉลิม อยู่บำรุง’จ่อคิวนายกฯคนต่อไป
“นักวิชาการ-นักกฎหมาย” คาใจ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ลุกลี้ลุกลนอ่านคำวินิจฉัยยุบ “พลังประชาชน-ชาติไทย-มัชฌิมา” จนอ่านชื่อพรรคการเมืองผิดๆ ถูกๆ เชื่อมีธงอยู่แล้วการตอกย้ำการทำรัฐประหารเงียบ ระบุไม่เชื่อจะแก้ปัญหาการเมืองได้ แนะพรรคร่วมรัฐบาลผนึกกันไว้ให้มั่น หวั่นทหารฉวยโอกาสสร้างเงื่อนไขอำนาจให้ตัวเอง พร้อมทั้งจี้ให้ศาลรธน.ชี้แจงต่อสังคมถึงความเร่งรีบ ส่วนการเฟ้นหานายกฯ คนใหม่ มีชื่อ “เฉลิม อยู่บำรุง” โผล่เป็นตัวเต็งหลังเจ้าตัวต่อสายล็อบบี้ ส.ส. ด้วยตัวเอง ขณะที่ประชาชนดาหน้าจี้เอาผิด พธม.ทั้งแพ่ง-อาญา หลังหมดมุกยอมเลิกชุมนุม
* จี้เอาผิดทั้งแพ่ง-อาญาผู้ก่อการร้ายพธม.
ในที่สุดเมื่อเวลาประมาณ 12.15 น. วันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็เป็นวันประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทยอีกวันหนึ่ง เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านคำวินิจฉัยให้ยุบ 3 พรรคการเมือง พร้อมตัดสิทธิ์ทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรคคนละ 5 ปี ประกอบไปด้วยพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ผิดไปจากความคาดหมาย แต่ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทางการเมือง และส่งผลให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
เชื่อศาลรธน.มีธงอยู่แล้ว
รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในทางการเมืองยังไม่สามารถตัดสินได้ว่ามติดังกล่าวจะส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ ต้องรอดูต่อไปว่าทั้งสองฝ่ายมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง
ถึงจะมีการตัดสินยุบพรรคทั้ง 3 พรรคครั้งนี้ แต่ยังไม่คลายปมปัญหาต่างๆ การยุบพรรคเป็นเพียงหนึ่งปัจจัยเท่านั้น หากถามว่าดีขึ้นหรือเลวลง ก็คงต้องตอบว่าไม่ดีขึ้นมากเท่าไร เนื่องจากยังมีตัวแปรทางการเมืองอีกหลายตัว นอกเหนือจากการยุบพรรคที่เป็นตัวแปรอิสระ ซึ่งนักรัฐศาสตร์เอง ถึงขณะนี้ก็ไม่อาจทายอนาคตทางการเมืองได้
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินอย่างเร่งรีบ รศ.ดร.ตระกูล กล่าวว่าแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ตัดสินวันนี้ ก็ต้องตัดสินวันหน้าอยู่ดี และไม่ว่าตัดสินวันไหนก็เหมือนกัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำตอบล่วงหน้าอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่น่าตื่นเต้น
เลือกยุบสภาน่าจะดีกว่านี้
รศ.ตระกูล กล่าวต่อไปว่า หากมีการประกาศยุบสภาเกิดขึ้น คงจะทำให้ประชาชนสูดหายใจได้ลึกขึ้น แต่นักการเมืองคงจะต้องคิดหนัก เนื่องจากจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหาเสียง โดยเฉพาะในเวลาที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ หากนักการเมืองคนไหนไม่มีเงินทุนเก็บไว้จะยิ่งแย่ และอาจส่งผลให้เกิดการซื้อเสียงมากขึ้น เพราะประชาชนมีรายได้ไม่พอ
ส่วนการจะประกาศยุบสภาได้เลยเมื่อมีผู้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรีนั้น นักกฎหมายก็มองว่าสามารถทำได้ แต่การจะประกาศยุบสภาจะต้องมีเหตุวิกฤติทางการเมืองถึงจะยุบสภาได้ อาทิ ส.ส.สัดส่วนของพรรคพลังประชาชน กับพรรคชาติไทย หาพรรคสังกัดไม่ได้ เนื่องจากคาดว่าจะต้องมีการยื่นกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ ตรงนี้ก็จะเกิดวิกฤติขึ้นมา เพราะไม่สามารถเป็นไปตามระบบสภาได้ ส่งผลให้ประกาศยุบสภาได้ทันที
“แม้ ส.ส.สัดส่วนจะย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย แต่ก็จะมีการส่งตีความต่างๆ ประเด็นเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความวันนี้ พรุ่งนี้ก็ได้เรื่องแล้ว” รศ.ตระกูลกล่าว
นายกฯ คนใหม่ยังไงก็ขั้วเดิม
ด้าน ผศ.สิริพรรณ นกสวน อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า ไม่คิดว่าจะช่วยให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น เพราะคำถามที่แท้จริงคือจากนี้เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป
เนื่องจากเห็นว่าส.ส.ในสภาของฝ่ายรัฐบาลก็ยังคงเป็นเสียงข้างมากอยู่ดี แล้วส.ส.ที่มีเสียงข้างมากก็ยังคงเป็นพรรคพลังประชาชนแม้จะย้ายไปอยู่พรรคอื่นที่เตรียมไว้ก็ตาม ซึ่งหากจะต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ยังคงเป็นคนของพรรคพลังประชาชนเดิม
ส่วนการเปลี่ยนขั้วซึ่งสามารถทำได้ แต่คงจะไม่เกิดขึ้นได้ง่าย ถึงแม้หัวหน้าพรรคจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่เมื่อมีการดำเนินการประชุมสภาเพื่อเลือกฝ่ายรัฐบาล ก็คาดว่าจะได้พรรคพลังประชาชนขึ้นมาแทน แต่นั้นคือกรณีที่สามารถประชุมสภาได้ แค่คาดว่าคงจะไม่มีการประชุมสภาได้ เพราะพันธมิตรฯ จะต้องไปปิดล้อมทุกที่
ตอกย้ำตุลาการปฏิวัติเงียบ
“การยุบพรรคไม่ได้ไปเปลี่ยนตัวเลขส.ส.ในสภา ศาลอาจจะคิดว่าประชาชนจะยอมรับคำตัดสินของศาล ศาลจึงออกมาเร่งรีบในการตัดสิน แต่ไม่ใช่ แต่จะยิ่งเกิดข้อสงสัยว่าที่ศาลรีบตัดสินนั้น ศาลกำลังใช้อำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง ครั้งหนึ่งหลายฝ่ายก็มองว่าศาลปฏิวัติเงียบ มาถึงครั้งนี้ประชาชนก็ยิ่งคิดว่าเป็นอย่างนั้น”
อย่างไรก็ตาม ศาลอาจจะคิดว่าการตัดสินคดียุบพรรคอย่างเร่งด่วนจะคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมือง และศาลคิดว่าศาลจะเป็นตัวแปรที่จะบีบให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ แต่ต้องการถามศาลว่าก่อนที่ศาลจะตัดสินคดียุบพรรค ศาลได้ดูตัวเลขส.ส.ในสภามาหรือไม่ เพราะว่าตัดสินไปตัวเลขก็ไม่เปลี่ยน
ห่วงทหารฉวยโอกาสสร้างอำนาจ
โดยส่วนตัวต้องการเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้น จะต้องถูกแก้ไขตามกลไกรัฐสภา ประธานสภาต้องตัดสินใจบางอย่าง ไม่ต้องการเห็นคนนอกเข้ามานั่งอยู่ในสภา หรือให้เกิดการปฏิวัติ นอกจากนี้ กรณี ส.ส.สัดส่วนที่อาจจะเกิดข้อถกเถียงว่าจะเป็นเหตุผลในการยุบสภาได้หรือไม่นั้น ตามกฎหมายส.ส.สัดส่วนสามารถไปร่วมกับพรรคอื่นได้ โดยช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตามในระยะเวลาสั้นๆ อาจคาดการได้ว่า จะเกิดการยุบสภา โดยฝ่ายสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลเป็นตัวปลดล็อก เรื่องของการสมานฉันท์หรือใช้สันติวิธี เวลานี้คงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง
หรืออีกทางคือพรรคพลังประชาชนไม่ลาออก เพราะเชื่อว่าศาลตัดสินไม่ยุติธรรม และสุดท้ายจะเกิดความรุนแรง เกิดการปะทะกัน ส่งผลให้ทหารออกมาฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 หรือทหารอาจจะยังถือรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ยกเลิกบางมาตรา
ทั้งนี้ หากพรรคร่วมสามารถปลดล็อกรัฐบาลได้ จะเป็นการกันไม่ให้ทหารเข้ามาแทรกแซง เพราะในความเป็นจริงทหารมีความคิด 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็ไม่ต้องการให้เกิดการปะทะกัน ไม่ต้องการออกมาปฏิวัติ แต่อีกกลุ่มก็รอคอยและฉกฉวยโอกาสบ้านเมืองที่กำลังวิกฤติ ต้องการเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง เพื่อสร้างอำนาจให้กับตนเอง อย่างพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. จากที่สังเกตดูแล้วก็เห็นว่าได้พยายามอย่างหลังอยู่ แต่ไม่สำเร็จ
เชื่อจะนำไปสู่การยุบสภา
รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ ระบุว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่โดยกลุ่มเก่า หรือพรรคพลังประชาชนที่มีเสียงข้างมากในสภา แต่การตั้งรัฐบาลใหม่จะเกิดความยุ่งยาก เพราะจะต้องได้รับการขัดขวางจากพันธมิตรฯ ที่คงพยายามทำทุกอย่างไม่ให้เกิดการประชุมสภา
ส่วนการตั้งพรรคสำรองไว้ของพรรคพลังประชาชนนั้น จะเห็นได้ว่าสมาชิกพรรคยังคงเกาะกันแน่น และถ้าพูดถึงการทำให้เกิดการประชุมสภา ก็ถือว่าเป็นเสียงข้างมากที่มีสิทธิโดยชอบธรรม
ทั้งนี้ คาดว่าสุดท้ายแล้วจะนำไปสู่การยุบสภา แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อยุบสภาแล้วจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ใช่สร้างสุญญากาศทางการเมือง
ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนเสนอให้มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง โดยให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล รศ.สุขุม กล่าวว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก การสลับขั้วไปก็ต้องไปกันทั้งหมด ซึ่งก็คงไม่เกิด
ยุบพรรคไม่ใช่ทางออกปัญหา
ดร.จันทนา สุทธิจารี ประธานสาขาวิชาการเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และ รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการยุบพรรค ว่า มติของศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาทางการเมืองไทยได้ใน
ขณะนี้ เพราะเมื่อนำจำนวนกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองหักกับจำนวน ส.ส. ที่เหลืออยู่ ก็ยังเกินครึ่ง ซึ่ง ชัดเจนว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะยังไม่มีการย้ายขั้ว หลังจากนี้ไปก็จะเป็นแค่เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี เท่านั้นซึ่งก็จะมาจากกลุ่มพลังประชาชนเช่นเดิม และกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิก็ยังคงสั่งการได้เหมือนเดิม
ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมก็จะยังดำเนินต่อไป เพราะพันธมิตรฯ ได้ขยายข้อเรียกร้องว่าหากไม่ได้การเมืองใหม่จะไม่เลิกการชุมนุม
ขณะเดียวกันการยุติปัญหาด้วยการทำรัฐประหารเป็นเรื่องยาก เพราะจะมีการต่อต้านที่ซับซ้อนทั้งโดยเปิดเผยและที่ลับ เรื่องนี้ทหารเองก็คงหนักใจ
ประชาชนกังขาคำตัดสิน
ด้านนายบุญจง วงค์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา กล่าวว่าการตัดสินของศาล รธน.เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าความเป็นธรรมที่เราเรียกหานั้นไม่สามารถจะเรียกหาได้ การตัดสินคดีเหมือนกับการประหารชีวิตกรรมการบริหารพรรค เราเคยใช้สิทธิหลายประเด็นในการต่อสู้แต่ไม่ได้รับการพิจารณาแต่เมื่อผลการตัดสินออกมาเรายอมรับแต่เราในนามพรรคพลังประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งเห็นว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการตัดสินครั้งนี้
ทางด้านนายศุภชัย ใจสมุทร เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะนักกฎหมาย กล่าวถึงกรณีนี้ว่าการตัดสินของศาลจะต้องคำนึงถึงความรู้สึกด้วยว่าคนถูกตัดสินได้รับความยุติธรรมหรือไม่ วันนี้ประชาชนเองก็ได้ตั้งข้อสงสัย ดังนั้น ขั้นตอนพิจารณาโดยความถี่ถ้วนรอบคอบบนความรู้สึกของประชาชน ว่าไม่ล่วงละเมิดสิทธิของพรรคการเมือง ซึ่งเห็นว่าเมื่อการตัดสินออกมาเช่นนี้ ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจจากหลายๆ เรื่อง
ทั้งนี้ ในแง่ของกฎหมาย ส.ส.ที่พรรคของตัวเองสังกัดอยู่ถูกยุบไป ต้องดำเนินการย้ายไปยังพรรคการเมืองอื่นภายใน 60 วัน แต่ถ้าภายใน 60 วันยังหาพรรคอื่นอยู่ไม่ได้ จะถือว่าพ้นสมาชิกภาพของการเป็น ส.ส.
จี้แจงสังคมทำไมถึงต้องเร่งรีบ
เมื่อสภายังอยู่แล้วประเทศก็ต้องมีรัฐบาล นายกรัฐมนตรีก็ต้องเป็นผู้นำ ดังนั้นจึงจะต้องมีการเปิดการประชุมวิสามัญขึ้น ภายใต้จำนวนส.ส.ที่มีอยู่เดิม เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ว่ากันไปตามมาตรา 106 ในรัฐธรรมนูญ
ส่วนความกังวลในเรื่องของส.ส.สัดส่วนจะไปสังกัดพรรคอื่นยาก หรือไปแล้วจะต้องไปต่อท้ายหรือไม่นั้น นายศุภชัย กล่าวว่าส.ส.สัดส่วนมีลักษณะเดียวกับส.ส.เขต สามารถไปอยู่พรรคใดก็ได้ เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้แยกระเบียบของส.ส.สัดส่วน แต่พูดถึงส.ส.ทุกคนในสภา
นอกจากนี้ นายศุภชัย ยังกล่าวว่าศาลจะต้องตอบคำถามของสังคมให้ได้ ว่าท่าทีที่วินิจฉัยอย่างรวดเร็วนั้นหมายความว่าอะไร และพิจารณาเช่นนี้ยุติธรรมอย่างไร แต่ศาลก็ไม่ได้แสดงท่าทีผิดจากความคาดหมายสักเท่าไร ส่วนจะเดินหน้าแก้เกมอย่างไรนั้น ไม่จำเป็นต้องทำอะไร ปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ
อ่านผิดอ่านถูกจนน่าสงสัย
นอกจากนี้ กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะรีบร้อนในการอ่านคำวินิจฉัย โดยเฉพาะคำสำคัญๆ อย่างชื่อพรรคการเมือง ซึ่งอ่านคำวินิจฉัยพรรคมัชฌิมาธิปไตยแต่กลับกล่าวชื่อเป็นพรรคชาติไทย สร้างความสับสนให้กับประชาชนที่ฟังคำวินิจฉัยเป็นอย่างมาก
ซึ่งนายศุภชัย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าถ้ามองภาพรวมแล้วถือว่าศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตั้งธงมาก่อนหน้านี้แล้วว่าจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร จึงมีความเร่งรัด เป็นการเร่งรีบ ขาดความระมัดระวังไม่รอบคอบ ขาดมาตรฐานที่ควรจะเป็น ซึ่งวันนี้มาตรฐานที่ประชาชนหวังว่าจะได้มันไม่ได้เป็นไปอย่างนั้น
“ความเชื่อถือจะเป็นอย่างไร ประชาชนรู้อยู่แล้ว การลุกลี้ลุกลนของศาลแสดงให้เห็นแล้วว่ามาตรฐานอยู่ตรงไหน ความน่าเชื่อถือของศาลจากประชาชนก็ถดถอยลง” นายศุภชัยกล่าว
เฉลิมจ่อคิวนายกฯคนต่อไป
ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่ออีกฝ่ายมีความตั้งใจเช่นนี้ เราต้องยอมรับ อย่างไรก็ตาม ตนตัดใจว่าทำไมจึงไม่มีการไต่สวนสืบพยาน ขอตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดศาลรัฐธรรมนูญจึงเร่งรีบตัดสินคดี
สำหรับการเฟ้นหาตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น แหล่งข่าวเปิดเผยว่ามีความเป็นไปได้มากที่จะเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีต รมว.ศึกษาธิการ โดยมีรายงานว่าในวันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา ร.ต.อ.เฉลิม ได้มีการประชุมหารือกับกลุ่ม ส.ส. ที่ให้การสนับสนุน ที่กระทรวงสาธารณสุข
รวมทั้งตลอดวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา ก็ยังลงทุนโทรศัพท์ล็อบบี้เพื่อน ส.ส.ในพรรคพลังประชาชนเดิม ด้วยตัวเอง
แนะปชช.แจ้งความเอาผิดม็อบ
ขณะเดียวกันจากกรณีที่พันธมิตรฯ ประกาศยุติการชุมนุมทั้งหมด ท่ามกลางข่าวแลกเปลี่ยนกับการไม่ดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญานั้น
นายชินวัฒน์ หาบุญพาด แกนนำ นปช. กล่าวว่า คงจะเป็นเรื่องยอมไม่ได้สำหรับผลความเสียหายที่พันธมิตรฯ ได้ทิ้งเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังบุกเข้าทำร้ายประชาชนบริสุทธิ์หรือใช้อาวุธปืนคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ รวมไปถึงสร้างความวุ่นวายให้กับการบริหารบ้านเมือง ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ปล้นสะดมของทางราชการไปใช้ประโยชน์ในการชุมนุม ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เข้าข่ายคดีอาญาบ้านเมือง และคดีแพ่งที่ต้องมีการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย
คดีอาญาถ้าจะไม่เอาความกันได้นั้น เกิดได้อย่างเดียวคือต้องมีการนิรโทษกรรมให้เท่านั้น แต่สำหรับคดีแพ่งที่ถึงแม้จะยอมความกันได้แต่ประชาชนส่วนใหญ่คงยอมรับไม่ได้เป็นแน่
เพราะฉะนั้น ภายหลังจากที่พันธมิตรฯได้สลายการชุมนุมตามที่ประกาศเรียบร้อยแล้ว ประชาชนที่ไม่ยอมรับในการกระทำของแกนนำพันธมิตรฯที่บุกเข้าทำลายทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นประชาชนทุกคนนั้นจะต้องรวมตัวเพื่อเป็นโจทก์ยื่นฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายอย่างแน่นอน
จี้จัดการม็อบชั่วตามกฎหมาย
ส่วนการดำเนินคดีทางอาญานั้น คงต้องเป็นหน้าที่เจ้าหน้าตำรวจ อัยการ เป็นผู้ดำเนินการต่อไปทั้งในส่วนที่มีการแจ้งความดำเนินคดีเรียบร้อยแล้ว และในส่วนที่ต้องทำการตรวจสอบใหม่ ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ควรปล่อยเอาไว้นานเกิน ควรที่จะออกมาเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อความยุติธรรมของทุกฝ่าย
สำหรับการที่พันธมิตรฯประกาศที่ยุติการชุมนุมในทุกพื้นที่ โดยอ้างว่าพันธมิตรฯ ได้รับชัยชนะแล้วนั้น นายชินวัฒน์ กล่าวอีกว่า ตนมีความรู้สึกว่านี้ไม่ใช่ชัยชนะอย่างพันธมิตรฯ ประกาศ เป็นเพียงคำโกหกหลอกลวงของแกนนำที่เอาไว้ปั่นหัวสาวกเล่น เป้าหมายของพันธมิตรฯ ที่แท้จริงไม่ใช่การไล่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี แต่เป็นการทำลายล้างซีกอำนาจการเมืองที่อยู่ตรงกันข้าม การที่พรรคพลังประชาชนโดนยุบก็เป็นไปตามคำตัดสินตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ถูกชี้นำเอาไว้อยู่แล้ว ซึ่งในไม่ช้าพลังประชาชนที่ถูกยุบก็จะต้องดำเนินการตั้งพรรคใหม่ขึ้นอีกครั้งและได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอีก
สำหรับตอนนี้เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเร่งให้ดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งหมดเสียก่อนเพื่อให้กฎหมายบ้านเมืองคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ เพราะตอนนี้พันธมิตรฯได้ถูกทั่วโลกประณามเป็นผู้ก่อการร้ายสากล ซึ่งสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบไปทั่วโลก
พันธมิตรฯต้องรับผิดชอบ
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคพลังประชาชน (พปช.) และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) กล่าวผ่านเวทีปราศรัย "ความจริงวันนี้สัญจร" ที่บริเวณลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยชี้ให้เห็นถึงกรณีพันธมิตรฯที่ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติ
"เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ จากพฤติกรรมยั่วยุ ปลุกระดม และยังทำตัวเป็นผู้ก่อการร้าย ไม่เคยเห็นกฎหมายอยู่ในสายตา ซึ่งการกระทำของพันธมิตรฯตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายแก่ประเทศชาตินับไม่ถ้วน แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่าพันธมิตรฯจะถอยจริง ทำเป็นว่าตัวเองได้เสียสละเพื่อบ้านเมือง แต่การกระทำทั้งหมดนี้ เรียกได้ว่า "เลวไม่มีชิ้นดี" คำว่าเสียสละ จึงใช้กับพันธมิตรฯ ได้ไม่ได้ เพราะไม่สามารถชดใช้ให้แก่ประเทศไทย"
ส่วนการชุมนุมกันของกลุ่มคนเสื้อแดงยังคงปักหลักอยู่ที่ลานคนเมือง และยืนยันว่าจะชุมนุมต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 8 ธันวาคม ก็จะเคลื่อนไปหน้ารัฐสภาให้กำลังใจการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่