ที่มา ไทยรัฐ
แม้จะยุบ 3 พรรคการเมืองทำให้รัฐบาล “สมชาย” ต้องพ้นไปแล้ว แต่การเมืองก็หาใช่ว่าจะจบ คงเป็นเพียงสงบชั่วคราวไปก่อนเท่านั้น การที่ ส.ส.ของ 3 พรรคที่จะต้องดิ้นไปหาพรรคการเมืองใหม่สังกัดก็ไม่ง่ายอย่างคิด แม้จะมีการเตรียมการเอาไว้ก่อนหน้านี้ก็ตาม
ตัวเลขล่าสุดของ ส.ส.ทั้งหมดมี 441 คน พลังประชาชน 219 คน ชาติไทย 15 คน เพื่อแผ่นดิน 24 คน มัชฌิมาธิปไตย 11 คน รวมใจไทยชาติพัฒนา 9 คน ประชาราช 5 คน ประชาธิปัตย์ 165 คน
พลังประชาชนลอกคราบไปอยู่พรรคเพื่อไทยที่รองรับเอาไว้แล้ว อยู่ที่ว่าจะเลือกใครเป็นหัวหน้าพรรคและขึ้นเป็นนายกฯ หากได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
พรรคชาติไทยก็ต้องกลายเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา คาดว่านายชุมพล ศิลปอาชา น้องชายนายบรรหาร ศิลปอาชา เข้ามาเป็น “นอมินี” เพราะลูกชาย-ลูกสาวก็โดนเว้นวรรคการเมือง 5 ปีเหมือนกัน ซึ่งนายบรรหารบอกว่า อีก 5 ปี อายุ 81 ปี ก็พร้อมจะกระโดดลงมาเล่นอีก
พรรคมัชฌิมาธิปไตยแม้จะมีพรรคภูมิใจไทยมารองรับ แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปได้หรือไม่ เพราะนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ให้ นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ภรรยา เป็นหัวหน้าพรรค “นอมินี” แต่เมื่อพรรคถูกยุบนางอนงค์วรรณจึงถูกเว้นวรรคการเมืองตามไปด้วย
พลังประชาชนที่ขับเคลื่อนไปสู่พรรคเพื่อไทยนั้น แม้ดูจะไม่มีปัญหา เพราะเตรียมการล่วงหน้าเอาไว้อย่างดีแล้ว แต่ก็ต้องดูว่าจะมี ส.ส.ไปครบทั้งหมดหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนเนวินยังไม่เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค
เพราะคงต้องดูทิศทางการเมืองต่อไป จะเลือกใครเป็นนายกฯก็สำคัญ เพราะการเมืองข้างหน้าไม่ใช่ง่าย หากหยิบเอาคนที่ภาพพจน์ ไม่ดี ไม่มีความรู้ความสามารถ ไม่ได้รับการยอมรับ ก็คงจะเป็นไปในทำนองว่าเริ่มต้นก็ถูกต้าน
นั่นจะทำให้สถานการณ์การเมืองกลับไปสู่จุดเดิม
การตั้งนายกฯจึงเป็นประเด็นที่จะต้องหาทางออกให้ดี ไม่ใช่ ดันทุรังเหมือนที่ผ่านมา แนวทางที่จะให้หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาเป็นนายกฯ เพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้านจนทำให้การเมืองวุ่นวายขึ้นมาอีก
อีกประเด็นก็คือ ส.ส.สัดส่วนของพลังประชาชนที่แม้ว่าจะมีการลาออก ก่อนยุบพรรคเพื่อให้มีการเลื่อน ส.ส.สัดส่วนจนครบจำนวนแล้วก็ตาม แต่มีประเด็นว่า ส.ส.สัดส่วนจะย้ายพรรคได้หรือไม่
แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดชัดเจน แต่มีการตีความทำนองว่าไม่น่าจะมีปัญหามันครอบคลุมความเป็น ส.ส.อยู่แล้ว
แต่มีการแย้งว่าการเลือก ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์นั้นเป็นการเลือกพรรค ส.ส.สัดส่วนของพลังประชาชนจึงมาจากการที่เลือกพรรคพลังประชาชน ดังนั้น การจะย้ายไปอยู่เพื่อไทยซึ่งเป็นคนละพรรคกัน
การไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ของ ส.ส.สัดส่วน จึงไม่น่าจะถูกต้อง แต่ควรจะหมดสมาชิกภาพไปพร้อมกับการยุบพรรคพลังประชาชน
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ เมื่อพรรคเพื่อไทยที่ตั้งใหม่ แต่ไม่มี ส.ส.สัดส่วนเพราะยังไม่ได้เลือกตั้ง หากเอา ส.ส.สัดส่วนของพลังประชาชนเข้ามาก็จะเกิดปัญหา ถ้าเกิดปัญหาพ้นจากสมาชิกภาพจะเลื่อนใครขึ้นมาเป็นแทนก็ไม่ได้
นี่ก็คือปัญหา
อย่างไรก็ดี แม้แต่ กกต.ก็ให้ความเห็นต่างกัน นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.บอกว่า ไม่สามารถย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย หรือพรรคการเมืองอื่น แต่นางสดศรี สัตยธรรม บอกว่า ส.ส.สัดส่วนย้ายพรรคตาม ม.106 (8) เรื่องการย้ายพรรคไม่ได้กำหนดเฉพาะ ส.ส.เขต หรือ ส.ส.สัดส่วน แต่เขียนแบบรวมๆ ซึ่งชัดเจนแล้ว พูดง่ายๆก็คือย้ายได้
เรื่องนี้คงยังไม่จบ เพราะมีการเสนอให้ตีความกันแล้ว
“นอมินี” รุ่นที่ 3 ไม่ใช่จะ “ลอกคราบ” กันง่ายๆ.
“สายล่อฟ้า”