ที่มา ประชาทรรศน์
วันนี้ (5 ธ.ค.) นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดรักษาการมีมติให้ถอนร่างพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 8-9 ธ.ค.ที่จะพิจารณาวาระเกี่ยวกับข้อตกลงและบันทึกความเข้าใจที่จะใช้ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ซึ่งเลื่อนไปจัดในเดือน มี.ค.ปีหน้าว่า เมื่อ ครม.มีมติดังกล่าวในวันที่ 8-9 ธ.ค. ก็จะไม่มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา หรือการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ไปด้วย
ส่วนที่ ครม.ระบุว่าการกำหนดวันเลือก ส.ส.ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายพิทูร กล่าวว่า เมื่อไม่มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสภาสมัยสามัญแล้ว ในกระบวนการเรียกประชุมไม่ใช่หน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เริ่ม แต่สามารถทำได้ 2 วิธี คือ ครม.ขอให้ทรงมีพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมใหม่ และสมาชิกของทั้งสองสภา รวมกัน หรือ ส.ส.เข้าชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ตามรัฐธรรมูญ มาตรา 129 เพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญได้ ทราบว่าขณะนี้ประธานวิปรัฐบาลกำลังให้สมาชิกเข้าชื่อกันอยู่
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกล่าวถึงจำนวนส.ส.ที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ณ ปัจจุบันว่า มี ส.ส.อยู่ทั้งหมด 447 คน แบ่งเป็น พรรคพลังประชาชน 218 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 24 คน พรรคชาติไทย 15 คน พรรคมัชฌิมาธิปไตย 11 คน พรรครววมใจไทยชาติพัฒนา 9 คน และพรรคประชาราช 5 คน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ มี 165 เสียงเท่าเดิม
"สำหรับพรรคพลังประชาชนที่เหลือ ส.ส. 218 คนนั้น เนื่องจาก นายวีระพล อดิเรกสาร ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชาชน ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2550 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค. 2550 ขณะที่ความผิดที่เกิดขึ้นของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ในคดีทุจริตเลือกตั้ง มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 28 ต.ค. 2550 ที่เป็นวันตรวจพบการกระทำความผิด ทำให้ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนลดลงจากเดิม 1 เสียง จาก 219 คน เหลือ 218 คน และส่งผลให้เสียง ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลรักษาการเหลืออยู่ 282 คน อย่างไรก็ดี มีส.ส.ที่ถูกพักงานอยู่ 9 คน ทำให้เหลือยอด ส.ส.ที่สามารถทำงานได้อยู่ทั้งสิ้น 438 คน" นายพิทูร กล่าว