ที่มา ประชาทรรศน์
* ต่อรอง “ชวน หลีกภัย” ขึ้นนายกฯ
50 ส.ส.รัฐบาลผ่าทางตัน สลายขั้วการเมืองฝ่าวิกฤติ เจรจาพรรคประชาธิปัตย์หนุน “ชวน หลีกภัย” เป็นนายกฯ เชื่อยุติปัญหาความรุนแรงในบ้านเมืองได้ พร้อมแจงเหตุไม่เอา “อภิสิทธิ์” เพราะไม่มั่นใจจุดยืนประชาธิปไตย จากท่าทีที่เหมือนสนับสนุนรัฐประหารและทำตัวเหมือนเข้าข้างม็อบพันธมิตรฯ ปล่อยลูกพรรคไปป้วนเปี้ยนบนเวที ซ้ำร้ายที่เป็นตราบาปไปชั่วชีวิตก็คือการขอนายกฯ พระราชทาน จนได้ฉายา “มาร์ค ม.7” ขณะที่บรรดา ส.ส.-นักวิชาการ เรียงหน้าต้านกระแส “เฉลิม อยู่บำรุง” เป็นนายกฯ ห่วงเป็นการจุดไฟเผาบ้าน ชี้คนที่เหมาะต้องเป็นที่ยอมรับในความดี
ท่ามกลางกระแสการย้ายพรรคของอดีต ส.ส. จาก 3 พรรคการเมืองที่ถูกพิษคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับการเฟ้นหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ นั้น
เป็นเหตุให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดทั้งวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมาเป็นไปอย่างคึกคัก โดยด้านหนึ่งได้มี ส.ส.บางส่วนจากพรรคพลังประชาชนเดิม ทยอยกันสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว 155 คน โดยมีกระแสยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นคนสำคัญของพรรคมีความประสงค์สนับสนุน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ขณะเดียวกันก็กลายเป็นว่าทำให้ ส.ส.อีกส่วนหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม ส.ส.ภาคกลางและภาคใต้ของพรรคพลังประชาชนที่มีอยู่เกือบ 10 คน ส.ส.กลุ่มนายสรอรรถ กลิ่นประทุม อีก 11 คน กลุ่มส.ส.บ้านริมน้ำอีก 12 คน และกลุ่มเพื่อนเนวินอีก 37 คน และส่งผลให้ส.ส.เหล่านี้ ยังไม่ตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย
แหล่งข่าวระบุว่า ส.ส.กลุ่มดังกล่าวมองว่าการจับขั้วแบบเดิม และการนำเอา ร.ต.อ.เฉลิม มาเป็นนายกรัฐมนตรี จะยิ่งสร้างปัญหาและไม่สามารถยุติวิกฤติของบ้านเมืองได้ โดยล่าสุดได้มีการเจรจากับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยยังไม่ได้ลงรายละเอียดว่ากลุ่มเหล่านี้จะอยู่ในสังกัดพรรคใด ซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไข นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี
โดยกลุ่ม ส.ส.กว่า 50 ชีวิตดังกล่าวปฏิเสธ ที่จะให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ เนื่องจากมีพฤติกรรมที่น่ากังวลหลายประการ โดยเฉพาะแนวคิดตามระบอบประชาธิปไตย ว่าจะเป็นการเข้าไปแสดงท่าทีเสมือนสนับสนุนการรัฐประหาร สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ เคยปฏิเสธการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 และยังเคยเสนอเรื่องนายกพระราชทาน
ทั้งนี้สูตรดังกล่าวเชื่อกันว่าเป็นทางออกทางการเมืองที่ดีที่สุดของทุกฝ่ายในขณะนี้ ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์รับเงื่อนไข ก็จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ที่มีส.ส. 164 คน มีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ขณะเดียวกันหากพรรคเพื่อไทย มีตัวบุคคลที่น่าสนใจและสามารถเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ ซึ่งไม่ใช่ ร.ต.อ.เฉลิม ก็อาจเป็นเงื่อนไขที่น่าสนใจเช่นกัน
อย่างไรก็ตามในกรณีของ ร.ต.อ.เฉลิม นอกจากจะถูกปฏิเสธจากกลุ่ม ส.ส.แล้ว ก็ยังได้รับการคัดค้านจากบุคคลอื่นๆ อย่างกว้างขวาง
นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช มองว่ารัฐบาลชุดใหม่คงไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติ แต่เป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชน นำคนกลางที่มีอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งมีทั้งนายทหาร ตำรวจ และยามนี้สิ่งที่ต้องห้ามคือ คนจากพรรคพลังประชาชนและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทุกคนต้องอยู่ในระบบ
ขณะเดียวกัน ยืนยันยังไม่มีใครทาบทามให้นั่งนายกรัฐมนตรี และที่ผ่านมาได้ปลดระวางตัวเองไปแล้ว แต่หากมีความจำเป็นก็ไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ
ส่วนกรณี ร.ต.อ.เฉลิม มีชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี นั้น นายเสนาะ กล่าวว่า คนนี้ตัดไป แต่ไม่ได้หมายความว่า ร.ต.อ.เฉลิม เป็นคนไม่ดี แต่ถ้ามาก็เหมือนเอาไฟมาเผาบ้าน และยังมองว่าความพยายามของพรรคประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนขั้วการเมือง เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
นายสุริชัย หวันแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะต้องเป็นคนที่ไม่ยั่วเย้าให้เกิดความขัดแย้งอีก เรื่องนี้สำคัญมาก ประเทศไทยต้องการนักการเมืองที่เป็นผู้ใหญ่ ที่ไม่เอาประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง คนที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องไม่ทำให้เกิดเรื่องขัดแย้ง และจะต้องเพิ่มพื้นที่ในการพูดคุยกันได้
เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ร.ต.อ.เฉลิมจะได้มานั่งในตำแหน่งสำคัญตามกระแสข่าวลือ นายสุริชัย กล่าวว่าก็เกิดปัญหาเก่าอีก เชื้อเชิญให้เกิดปัญหาอีก ทุกวันนี้บ้านเมืองยังไม่เจ็บป่วยกันอีกหรือ นายกรัฐมนตรีต้องเป็นคนที่ประชาชนให้ความเคารพในเรื่องความดีงาม
นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าไม่ขอวิจารณ์ตัวบุคคล แต่ขอเปรียบการเมืองที่ผ่านมาว่าเปรียบเสมือนทีมฟุตบอล
ซึ่งนักฟุตบอลของทีมเอมีผู้เล่นเด็กๆ ลงสนาม แล้วก็โดนใบแดง 111 คน เมื่อเลือกทีมบีมาลงสนามแทน ก็โดนใบแดงไปอีก ขณะนี้จึงเหลือผู้เล่นสำรองของตัวสำรองอีกที คือทีมซี ซึ่งก็ต้องหาผู้เล่นเกรดเอ ซึ่งก็ต้องสรรหาบุคคลที่จะไปรอด แต่ก็ต้องมาคิดอีกว่าจะหาผู้เล่นเกรดเอได้จากที่ไหนบ้าง
จะเป็นจากคนในพรรคร่วมรัฐบาล จากพรรคฝ่ายค้าน หรือจากคนนอก แต่คนนอกนั้นจะต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ โดยให้เข้ามาตั้งหน้าตั้งตาบริหารอย่างเดียว แล้วใครจะบริหารพรรคก็ปล่อยให้สมาชิกพรรคได้บริหารไป ต้องเลือกทีมที่ดีที่สุด
“แต่ถ้ายังจะเสนอแต่ทีมซี ซึ่งครั้งที่แล้วทีมบี นายกฯ เองก็เคยบอกว่าคณะรัฐมนตรีดูจะขี้เหร่หน่อย แล้วทีมซีไม่ยิ่งขี้เหร่ไปใหญ่เหรอ” รศ.ดร.โคทมกล่าว
ด้านนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส. นครพนม และรองโฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวปฏิเสธตอบคำถามที่ว่าคิดเห็นอย่างไรกับร.ต.อ.เฉลิมที่มีท่าทีจะได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี กล่าวเพียงว่ายังไม่ได้มีการคุยกับสมาชิกในกลุ่ม ว่าจะเลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพียงแต่คุยกันเรื่องอนาคตของบ้านเมืองต่อจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะทุกคนต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุข
และโดยส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้มีชื่อของใครไว้ในใจ ยังคงคิดอยู่ ทั้งนี้ตนไม่เกี่ยงว่าจะเป็นใคร เท่าที่เห็นก็มีคนที่เหมาะสมอยู่หลายคน แต่ส.ส.ก็ยังไม่ได้มีการคุยกัน โดยตามมารยาทก็ต้องให้พรรคการเมืองใหญ่ที่มีเสียงอยู่ในสภามากเป็นพรรคเลือกบุคคลที่จะมาทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องดูความเห็นจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วย
ทั้งนี้ ต้องการให้บรรยากาศเลือกบุคคลมาทำหน้าที่ดังกล่าว เป็นแบบการปรึกษาหารือกันมากกว่า ถ้าคนของพรรคพลังประชาชนเหมาะสมก็ดี แต่ถ้าคนในพรรคร่วมรัฐบาลเหมาะสมกว่าก็อาจจะปรึกษาให้เลือกคนนั้นดีหรือไม่
ด้านนายบุญจง วงศ์ไตรรงค์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชาชน กล่าวว่าชื่อของร.ต.อ.เฉลิมปรากฏอยู่ในสื่อ แต่ส.ส.ยังไม่ได้คุย หรือตัดสินใจกัน ที่จริงจะเป็นใครก็ได้ที่มีคุณสมบัติครบ ขณะนี้ตั้งสเปกไว้ว่าของให้บุคคลนั้นที่ได้เสนอชื่อตั้งมาแล้ว ไม่ใช่บุคคลที่จะสร้างความแตกแยกในประเทศ ไม่มีการปิดล้อมสนามบิน หรืออะไรก็ตามแต่ สิ่งเหล่านี้ต้องไม่เกิด ส่วนจะย้ายไปอยู่พรรคใดนั้น ยังไม่ได้ตัดสินใจ เรื่องนี้มองว่ายังพอมีเวลา 60 วันว่าจะไปสังกัดพรรคใด และหลังวันที่ 5 ธันวาคมจะมีการพูดคุยอย่างชัดเจนมากขึ้น
ทางด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ของพรรคเดียวกัน ก็ได้กล่าวว่าไม่ได้มีชื่อของร.ต.อ.เฉลิมเพียงคนเดียว แต่ยังคงมีชื่อของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร และอีกหลายคน แต่ก็ยังไม่ได้มีข้อสรุป ยังเดาได้ยาก เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง คนที่จะถูกเลือกมานั้นนอกจากปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน แล้วยังมีปัจจัยของสังคมอีกหลายอย่าง
ซึ่งตนเองก็ยังไม่ได้ประชุมกับเพื่อนในกลุ่ม แต่เท่าที่ทราบคือยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะเป็นใคร กำลังดูคนที่เหมาะสมอยู่ ถึงอย่างไร ในสถานการณ์เช่นนี้ คงจะหาคนที่ถูกใจ 100 เปอร์เซ็นต์ได้ยาก ก็ต้องเลือกจากคนเท่าที่มีอยู่
“แต่ละคนก็มีข้อดี ข้อด้อยต่างกัน แต่ใครก็ได้ แต่ขอให้เห็นตรงตามเอกภาพของพรรคร่วมด้วย ตัวคนไม่สำคัญ แต่ความเป็นเอกภาพของพรรคและพรรคร่วมต่างหากที่จะเห็นว่าใครเหมาะสมก็จะเป็นคนนั้น” นายสุทินกล่าว
เช่นเดียวกับ นายนิสิต สินธุไพร อดีตส.ส.ร้อยเอ็ด และอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ที่กล่าวไม่ขอออกความเห็นกรณี ร.ต.อ.เฉลิม เป็นตัวเก็งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยกล่าวว่าตนไม่สามารถโหวตเลือกใครได้ เนื่องจากถูกตัดสิทธิทางการาเมืองในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบพรรคไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา