ที่มา ประชาทรรศน์
คอลัมน์ : สิทธิประชาชน
โดย สุภัตรา ภูมิประภาส
ที่มา : ประชาไท
ความเห็นทางการเมืองครั้งล่าสุดของ นายธีรยุทธ บุญมี ในบทเสนอแนะ ‘การฝ่าวิกฤติการเมืองไทย ที่ตระหนักถึงรากเหง้าแท้จริงของปัญหา’ ทำให้ผู้เขียนอึ้งด้วยความงงงวยต่อรากเหง้าแท้จริงของปัญหาระบบคิดของ ธีรยุทธ บุญมี ต่อสถานะของสตรีเพศที่สะท้อนผ่านบทเสนอแนะชิ้นนี้
เป็นการแสดงทรรศนะทางการเมืองของนักคิดชายที่เกิดขึ้นหลัง ‘วันรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรี’ เพียงไม่กี่วัน (องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงทุกรูปแบบต่อสตรี)
ผู้เขียนขอไม่วิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาด้านอื่นๆ ในที่นี้ แต่ขอวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามต่อทรรศนะและรากเหง้าทางความคิดของ ธีรยุทธ บุญมี ต่อคำว่า ‘ชายกระโปรง’ ที่ใช้อธิบายความเลวร้ายของรัฐบาลของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ว่า “รัฐบาลชายประโปรง คิดแต่จะอยู่ในอำนาจเพื่อจ้องหาผลประโยชน์ ใช้ลีลายึกยักในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนวิกฤติบานปลาย รัฐบาลชายกระโปรง จะทำบาปมหันต์ถ้าเลือกใช้วิธีการระดมมวลชนมาปะทะกันเป็นสงครามกลางเมือง”
แทบไม่น่าเชื่อว่าคำดังกล่าวนี้ผ่านออกมาจากสมองและคำพูดของนักมานุษยวิทยาที่สอนและให้ความสำคัญกับเรื่อง ‘สัญญะ’ แต่กลับใช้สัญญะที่แสดงถึงสตรีเพศเป็นเครื่องมือส่อเสียดเหยียดหยามสะท้อนรากเหง้าทางความคิดของตนต่อเพศสภาพและการเมือง
แทบไม่น่าเชื่อว่า นายธีรยุทธ บุญมี อดีตผู้นำนักศึกษาที่ต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองมาพร้อมๆ กับเพื่อนนักกิจกรรมหญิงในยุคที่ขบวนการสิทธิสตรีเบ่งบานในมหาวิทยาลัยนั้น จะลุกขึ้นมาสร้างคำเหยียดหยามสตรีเพื่อสนองเป้าหมายทางการเมือง
และแทบไม่น่าเชื่อว่า อ.ธีรยุทธ บุญมี สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีกลุ่มนักวิชาการด้านสิทธิสตรีร่วมกันผลักดันให้เกิดหลักสูตรปริญญาโทด้าน ‘สตรีศึกษา’ เป็นผลสำเร็จ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายความรู้ทางวิชาการให้สังคมได้ก้าวพ้นอคติทางเพศ
คำว่า ‘ชายกระโปรง’ ที่นักคิดอย่าง ธีรยุทธ บุญมี นำมาใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าอะไรคือรากเหง้าของการคิด การประดิษฐ์คำว่า ‘ชายกระโปรง’ ของ ธีรยุทธ บุญมี นักคิดที่หลายฝ่ายยอมรับถึงความแหลมคมทางปัญญาในการวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมืองในยามวิกฤติ
สิ่งที่ผู้เขียนอดแปลกใจไม่ได้คือ ความเงียบเชียบของกลุ่ม องค์กร ขบวนการต่างๆ ที่เคยออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อประเด็นการดูหมิ่นเหยียดหยามสตรี ทั้งๆ ที่ในปรากฏการณ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ กลุ่ม องค์กร และขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีเหล่านี้แสดงความ ‘อ่อนไหว’ ทุกครั้งกับการใช้ถ้อยคำที่เปรียบเทียบ เปรียบเปรยสตรีเพศในการส่อเสียด เหยียดหยามทางการเมือง
คำถามสั้นๆ ถึงนักวิชาการ นักรณรงค์เคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี รวมทั้งนักการเมืองหญิงที่ประกาศตนว่าเข้าสู่การเมืองเพื่อสร้างความเท่าเทียมระหว่างหญิง-ชาย คือ
เหตุใดครั้งนี้จึงยกเว้นให้กับ ‘ชายกระโปรง’ ของ นายธีรยุทธ บุญมี?