ที่มา ประชาทรรศน์
พล.ต.อ.จงรัก กล่าวว่า เมื่อมีผู้มาร้องทุกข์และกล่าวโทษพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้อง สอบสวนไปตามกระบวนการกฎหมาย โดยจะนำคำสั่งศาลแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่ 6453/2551 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 มาประกอบการพิจารณา ซึ่งคำสั่งศาลแพ่งได้ระบุว่าการปิดกั้นท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราวท่าอากาศยานดอนเมือง ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 34 วรรคหนึ่งซึ่งเมื่อศาลแพ่งชี้ขาดไว้เช่นนี้ พนักงานสอบสวนก็ต้องยึดถือตามคำชี้ขาดของศาลว่าการชุมนุมไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และสอบสวนตามขั้นตอนเว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
พล.ต.อ.จงรัก กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามตนได้กำชับให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีการด้วยความเป็นธรรมไปตามพยานหลักฐาน เมื่อได้พยานหลักฐานมาก็ต้องดูกฎหมายว่าเข้าองค์ประกอบความผิดฐานใดบ้าง ก็ต้องดำเนินไปตามนั้น จะไม่มีการตั้งข้อหาลอยๆ โดยปราศจากพยานหลักฐานอย่างเด็ดขาด และแม้ว่าจะถูกดำเนินการแล้วแต่ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาก็สามารถนำพยานหลักฐานมาหักล้างว่าไม่เป็นความจริงได้ ตำรวจพร้อมจะให้ความเป็นธรรม
ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ ถูกกล่าวโทษให้ดำเนินคดีในความผิดฐานก่อการร้าย พล.ต.อ.จงรัก กล่าวว่า ความผิดฐานก่อการร้ายเป็นความผิดที่กำหนดขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ.2546 ซึ่งมีสาระสำคัญว่าผู้ใดกระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม ซึ่งการกระทำนั้นมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทยให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด อันก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงหรือเพื่อสร้างความปั่นป่วน หวาดกลัวในหมู่ประชาชนให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดฐานก่อการร้าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 3-20 ปี ซึ่งตั้งแต่มีกฎหมายนี้ยังไม่มีใครเคยถูกกล่าวโทษกระทำผิดฐานนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องสอบสวนว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอเข้าองค์ประกอบความผิดฐานนี้หรือไม่ หากเพียงพอก็จะสรุปส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาต่อไป