ที่มา ประชาทรรศน์
ท่ามกลางความกังวลสงสัยในท่าทีรีบเร่งและความเป็นกลางในคำวินิจฉัยยุบ 3 พรรคการเมือง ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นั้น
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา 5 อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบไปด้วย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร และ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าว โดยแสดงความคิดเห็นเบื้องต้นต่อคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องดังกล่าวเอาไว้โดยสรุปว่า
1.ความยุติธรรมเป็นคุณค่าสูงสุดที่องค์กรตุลาการจำต้องรักษาไว้ให้มั่นคงและแสดงออกให้สาธารณชนได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เพื่อเป็นการยืนยันว่าไม่ว่าความขัดแย้งภายในสังคมจะเป็นอย่างไร องค์กรตุลาการจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่ทุกฝ่ายเชื่อมั่นได้
2.ความน่าเชื่อถือต่อองค์กรตุลาการ ตามกฎหมายแล้วเป็นเรื่องที่จะต้องให้ความเคารพ แต่ตรงกันข้ามความน่าเชื่อถือก็น่าจะเกิดมาจาก ความสมเหตุสมผลในเหตุผลประกอบคำพิพากษา ความเป็นภววิสัยของเหตุผลประกอบคำพิพากษา อีกทั้งความเป็นอิสระและการดำรงตนอย่างปราศจากอคติของผู้พิพากษาเท่านั้น
3. แม้ว่ากฎหมาย จะกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีดุลพินิจในการงดไต่สวนพยานหลักฐาน หากศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญจะปฏิเสธการรับฟังพยานหลักฐานทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง เพราะจะหมายถึงผู้ถูกร้องตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบไม่มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ตามหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม
๔. ที่สำคัญแม้ศาลจะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องในคดีได้แถลงปิดคดีก็ตาม แต่ในวันที่มีการแถลงปิดคดี เมื่อผู้ถูกร้องได้แถลงปิดคดีเสร็จสิ้นแล้ว ถัดจากนั้น ด้วยระยะเวลาเพียงเล็กน้อย ศาลรัฐธรรมนูญก็อ่านคำวินิจฉัยในทันที และปรากฏความผิดพลาดในคำวินิจฉัยซึ่งทำให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขคำวินิจฉัยในขณะที่อ่าน อันเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั่วไป การอ่านคำวินิจฉัยของศาลโดยรีบด่วนเช่นนี้ คำวินิจฉัยที่ศาลอ่านจะเป็นคำวินิจฉัยที่ผ่านการพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบกอปรด้วยความเป็นธรรมหรือไม่
อนึ่ง คณาจารย์กลุ่มดังกล่าวได้เคยออกแถลงการณ์ เรื่องการตีความกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2551 โดยมีใจความสำคัญว่าการใช้กฎหมายเกี่ยวด้วยการยุบพรรคการเมืองนั้น พึงต้องระมัดระวังและวินิจฉัยประเด็นความชอบด้วยหลักนิติรัฐและนิติธรรมของบทบัญญัติที่นำมาบังคับใช้ และไม่ควรตีความไปตามตัวบทอย่างเคร่งครัดตามตัวอักษร ทั้งนี้ ปัญหาที่เกี่ยวกับการตีความรัฐธรรมนูญซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และอาจก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมืองตามมาได้