ที่มา ประชาทรรศน์
นายก่อแก้ว พิกุลทอง พิธีกรรายการกล่าวถึงกรณีวันนี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัฌชิมาธิปไตย ด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสิทธิ์ทางการเมืองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 5 ปี โดยระบุว่า นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน กระทำผิดฝ่าฝืนขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 อันทำให้การเลือกตั้งเป็นไปได้โดยไม่สุจริต จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสิทธิ์หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน 5ปี
นายวีระ มุสิกพงศ์ พิธีกรรายการกล่าวถึงกรณีนี้ว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินกระบวนพิจารณาคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และ พรรคมัชฌิมาธิปไตย นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านซึ่งอยู่ในองค์คณะที่พิจารณาพิพากษาคดีนี้อาจขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๑๒-๑๓/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๑ วินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายกรัฐมนตรี ( นาย สมัคร สุนทรเวช ) ได้ปรากฏประเด็นวิพากษ์วิจารณ์สืบเนื่องมาจากคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านซึ่งอยู่ในองค์คณะที่พิจารณาพิพากษาคดีนี้อาจขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยดังกล่าว
ประเด็นปัญหานี้เป็นกรณีสำคัญยิ่ง เพราะหากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นจากการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งขาดคุณสมบัติ ย่อมเท่ากับว่าคำวินิจฉัยนั้นเกิดขึ้นจากการวินิจฉัยโดยบุคคลซึ่งไม่อาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ และโดยที่การขาดคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์คณะวินิจฉัยเป็นเรื่องที่มีความร้ายแรงในทางกฎหมาย หากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีไปโดยมิได้ตระหนักถึงปัญหานี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ ก็หมิ่นเหม่อย่างยิ่งต่อการที่จะไม่อาจนำไปบังคับใช้ได้ในทางกฎหมาย
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชน ยังกล่าวอีกว่าบทเรียนครั้งเมื่อยุบพรรคไทยรักไทยนั้น ถือเป็นบทเรียนมาจนถึงครั้งนี้ ด้านสมาชิกพรรคทั้ง3ที่ถูกยุบนั้น เชื่อมีการเตรียมตัวที่จะดำเนินการเพื่อจัดตั้งรัฐบาลในครั้งต่อไปไว้แล้ว ขณะที่พรรคพลังประชนเองก็ได้เตรียมพรรคเพื่อไทยไว้เพื่อรวบรวมสมาชิกของพรรคเดิมเพื่อเดินหน้าทำงานต่อไป มิได้แตกแยกไปไหน