ที่มา ประชาทรรศน์
เครือข่ายพลเมืองเน็ตจับมือคปส.-เครือข่ายเสรีภาพฯแถลงย้ำจุดยืนปชช.ต้องมีส่วนร่วมดูแลสื่อฯ เตือนรัฐบาลอย่าจับเสรีภาพ สิทธิพลเมืองเป็นตัวประกัน
เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network: TNN) ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (Freedom AgainstCensorship Thailand: FACT) จัดแถลงข่าวแสดงจุดยืน กรณีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการจับกุมปราบปรามเว็บไซต์และวิทยุชุมชน ในหัวข้อ “ขอรัฐอย่าจับเสรีภาพ สิทธิพลเมืองเป็นตัวประกัน” ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อพลเมืองของตนเอง ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคาร มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
จากกรณี ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยการนำของพรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติในการจับกุมปราบปรามสื่อเว็บไซต์และวิทยุชุมชนภายใต้เหตุผลความมั่นคงแห่งชาติ โดยการใช้พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) และกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ)
นอกจากนี้ ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้มีนโยบายเร่งด่วนในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังภัยคุกคามด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ในลักษณะ WAR ROOM โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ทหาร ตำรวจ อัยการสูงสุด เพื่อติดตามเฝ้าระวังภัยอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ไอซีทีมีแผนลงทุนโครงการเกี่ยวกับการดูแลเฝ้าระวังเว็บไซต์ไม่เหมาะสม จำนวน 80 ล้านบาท อีกทั้งจะมีการดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อเพิ่มอำนาจในการดำเนินการให้กับกระทรวงไอซีที
สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ และบล็อกเกอร์ (www.fringer.org) สมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ต (TNN) กล่าวถึงจุดยืนของทางเครือข่ายว่า การก่ออาชญากรรมเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่ควรมีเสรีภาพในเรื่องนี้ แต่เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน หรือการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นคนละเรื่องกัน ทั้งนี้ ควรต้องมีการตั้งคำถามต่อรัฐในการดำเนินมาตรการปิดกันเว็บไซต์ถ้ามีเนื้อหาที่เป็นปัญหาเช่น การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คำถามแรกคือนิยามของเนื้อหาที่หมิ่นเป็นอย่างไร วิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จะเป็นอย่างไร กระบวนการดำเนินคดีจะต้องดำเนินการกับใคร
“เราสนับสนุนเสรีภาพในการสื่อสาร แต่ไม่สนับสนุน อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ประเด็นคือ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ ไม่ใช่อาชญากรรม” สฤณีกล่าว
คนที่กระทำความผิดในกรณีเหล่านี้คือคนที่สร้างเนื้อหาหรือโพสข้อความ แต่การปิดกั้นเว็บไซต์ไม่ได้ทำให้มีการจับกุมคนที่กระทำความผิดได้ นอกจากนี้ยิ่งปิดคนยิ่งอยากดูอยากรู้ว่าเนื้อหาคืออะไร ซึ่งจะกลายเป็นการเพิ่มจำนวนคนที่เข้าไปดูเว็บไซต์เป็นทวีคูณ ตรงนี้เป็นตัวอย่างผลพวงของการเซ็นเซอร์ที่เห็นมากมายในต่างประเทศ
“ถึงที่สุดแล้วก็ต้องถามว่าถ้าเป้าหมายของรัฐคือการกำจัดหรือลดทอนเนื้อหาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การปิดกันเว็บไซต์มันได้ผลจริงหรือ มันจะไม่ทำให้เกิดกรณีเว็บไซต์เลียนแบบจำนวนมากมายมหาศาลและคนเข้าไปดูเช่นนั้นหรือเปล่า” บล็อกเกอร์ชื่อดังกล่าว พร้อมเสนอว่าการไปให้พ้นจากความคลุมเครือ การสร้างความชัดเจน จึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้
ทั้งนี้ ควรมีการแยกแยะระหว่างคนสร้างเนื้อหากับคนเข้าถึงเนื้อหา เพราะอินเตอร์เน็ตเป็นแค่ช่องทางที่คนใช้ในการติดต่อสื่อสารเท่านั้น ซึ่งรัฐต้องให้ความชัดเจนในเรื่องนี้
“ถ้าจะเปรียบเทียบการสร้างเนื้อหานอกโลกอินเตอร์เน็ตกับในโลกอินเตอร์เน็ต จะทำอย่างไรให้อยู่ในระนาบเดียวกัน รัฐจะให้ความมั่นใจได้อย่างไรว่าการพยายามจับกุมปราบปรามผู้สร้างเนื้อหาหมิ่นในอินเตอร์เน็ตจะกระทำได้แบบโลกนอกอินเตอร์เน็ต โดยไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร” สฤณีกล่าว
สฤณีกล่าวเน้นย้ำด้วยว่า ทางกลุ่มมีความต้องการผลักดันให้มีการแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีความคลุมเครือในหลายประเด็น แต่มาตรการปิดกันเว็บไซต์ที่ล่าสุดกระทรวงไอซีทีออกมาให้ข่าวว่าอยากจะกระทำได้เลยโดยไม่ต้องขอหมายศาลนั้น โดยส่วนตัวยอมรับไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นมาตรฐานสากลที่การปิดกันเว็บไซต์จะต้องผ่านกระบวนการศาล ซึ่งการปิดกั้นเว็บไซต์เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างทันที เป็นเรื่องน่าเศร้าที่กระทรวงไอซีทีจะปรับปรุงให้แย่ลง
สุนิตย์ เชรษฎา สมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ต (TNN) กล่าวถึงกระบวนการปิดกันเว็บไซต์หมิ่นว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การจะปิดเว็บหมิ่นหรือไม่อย่างไร แต่คำถามคือมันสามารถปัญหาได้จริงหรือเปล่า เพราะอาจเป็นการเพิ่มขึ้นทวีคูณขึ้นไป เหมือนเป็นการขี้ช้างจับตั๊กแตน แต่กรณีนี้อาจเป็นขี่ช้างจับไวรัสหรือเชื้อรา ถือเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
การแก้ปัญหาควรทำทั้งกระบวนการ ให้นำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดได้จริงๆ ถ้าหากกฎหมายไม่ชัดเจนหรือใช้ไม่ได้จริง อาจทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ หรือใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ใช้ข้อหาหมิ่นฯ เป็นเครื่องมือในการใส่ร้ายกันโดยที่ไม่มีข้อเท็จจริง ซึ่งจะนำไปสู่วัฒนธรรมความกลัวของโลกออนไลน์
สฤณีกล่าวเสริมเรื่องการสร้างความหวาดกลัวในการบังคับใช้กฎหมายว่า ไม่ได้เกิดเพียงกับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตโดยทั่วไป แต่มีผลกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ด้วย ตราบใดที่ยังมีความคลุมเครือในเรื่องของนิยามฐานความผิด และวิธีการปฏิบัติงานของรัฐ อาจทำให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเกิดความกลัวและเซ็นเซอร์ตัวเองไปก่อนโดยเกินเลยไป ซึ่งรังแต่จะทำให้เกิดผลเสีย
สุนิตย์กล่าวต่อมาว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่มีรัฐบาลใหม่ และวันนี้ก็เป็นวันเด็ก แทนที่จะพุ่งเป้าในเรื่องการจัดการเว็บหมิ่นเพียงอย่างเดียว ควรเน้นการสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้โดยการเปิดเวทีให้ประชาชน นักวิชาการ และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนของกฎหมาย ที่สำคัญรัฐควรมองเทคโนโลยีในทางบวกมากขึ้น และริเริ่มนโยบายเชิงสร้างสรรค์พัฒนา เช่น จะทำอย่างไรที่เมืองไทยจะมีไอซีทีที่เป็นฐานความรู้ระดับชาติ
CJ Hinke เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) กล่าวว่า ความพยายามของรัฐที่จะเซ็นเซอร์สื่ออินเตอร์เน็ตมีขึ้นในปี 1997 (พ.ศ.2540) ต่อมาในยุครัฐบาลทักษิณก็มีการปิดกั้น จนมาสู่ยุครัฐบาล คมช.ก็ได้เจริญรอยตาม อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีการทีปิดกั้นเว็บไซต์ไปเป็นจำนวนมาก ทั้งโดยกระทรวงไอซีที ตำรวจ และมีผู้ให้บริการระดับประเทศปิดกั้นอีกจำนวนมากซึ่งไม่รู้ว่ามากเท่าไหร่ นอกจากนี้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ทั่วประเทศยังดำเนินการปิดกั้นด้วยตัวเองด้วย ซึ่งไม่ทราบจำนวนแน่ชัด
ภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ การปิดเว็บไซต์ต้องมีคำสั่งศาล ดังนั้นการปิดเว็บไซต์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ส่วนใหญ่ที่ไม่มีคำสั่งศาลก็ถือว่าผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงไอซีทีแถลงว่าได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไปแล้วกว่า 2,300 เว็บไซต์ และได้เตรียมการขออำนาจศาลให้มีการพิจารณาเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บเพิ่มอีก 400 เว็บไซต์ โดยอ้างว่าทั้งหมดเป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่คิดว่าจำนวนที่ถูกปิดกั้นจริงๆ น่าจะมากกกว่าที่มีการแถลง
“เราน่าจะมองเรื่องหมิ่นฯ ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง” CJ กล่าว พร้อมแสดงความเห็นว่า เว็บไซต์ คนๆ เดียวก็สร้างๆได้ เพราะฉะนั้นจะเชื่อได้หรือเปล่าว่า ทั่วโลกมีคน 2,300 คน มุ่งแต่ที่จะสร้างเนื้อหาที่หมิ่นฯ ซึ่งคงไม่น่าเป็นไปได้ และคิดว่าเป็นไปได้ยากที่สถาบันกษัตริย์ของไทยที่มีความมั่นคงมายาวนานจะเป็นอันตรายจากการสร้างเว็บไซต์ของคนธรรมดา
CJ กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อมาว่า การที่กระทรวงไอซีที ประกาศว่าจะสร้าง War room คล้ายกับนโยบาย ประกาศสงครามอื่นๆ ที่รัฐบาลทั่วโลกรวมทั้งรัฐบาลไทยเคยประกาศใช้ เช่น ส่งครามต่อต้านการก่อการร้าย ส่งครามต้านยาเสพติดในประเทศไทย ซึ่งสงครามเหล่านี้ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่ แต่ให้ผลก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวในหมู่ประชาชน
“เรามั่นใจไม่ได้ว่า ภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตำรวจจะมาเคาะประตูบ้านตอนตีสี่ แล้วแจ้งข้อหา หลังจากที่เราเข้าไปดูเว็บไซต์ที่เราไม่รู้ว่าถูกหรือผิดกฎหมายหรือเปล่า” ตัวแทน FACT กล่าว
CJ กล่าวอีกว่า ในประเทศประชาธิปไตยทุกแห่ง กระบวนการยุติธรรมของศาล เป็นกระบวนการที่โปร่งใส และเปิดเผย อย่างไรก็ตามกระบวนการขอคำสั่งศาลของไอซีทีที่ผ่านมา ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ และประชาชนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบเนื้อหาของเว็บไซต์ก่อนที่ศาลจะสั่งปิด ไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานวิชาการและพลเมือง ถือว่ารัฐทำเรื่องนี้อย่างลับๆ โดยต้นทุนประชาชนเป็นคนจ่าย ซึ่งคิดว่าเงินจำนวนนี้น่าจะไปทำอย่างอื่นได้ดีกว่า เช่น เอาไปดำเนินงานสร้างความสมานฉันท์ สร้างสันติภาพในภาคใต้ หรือการสร้างการศึกษาบนอินเตอร์เน็ต
ความไร้ประสิทธิผลของการปิดกั้นเว็บไซต์ จริงแล้วที่ผ่านมามีลิสต์ทีไอซีทีปิดกั้น แต่ก็มีการหลุดลอดออกมาสู่สาธารณะได้ และมีการเผยแพร่เครื่องมือที่สามารถหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ ทำให้คนที่สนใจอยากรู้พอสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นได้อยู่ดี
“การประกาศทำ War room หมายความว่ากระทรวงไอซีทีพยายามทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะทางสงคราม ซึ่งที่ผ่านมาคิดว่าเรามีความขัดแย้งมากพอแล้วในประเทศ คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ข้อมูลต่างๆ ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเสรีเราจะได้พยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะว่าถึงที่สุดแล้วการปิดกั้นอินเตอร์เน็ตมันไม่สามารถคุ้มครองปกป้องสถาบันได้” CJ กล่าว
ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และยังเป็นสมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ต (TNN) กล่าวตั้งคำถามในเรื่องความโปร่งใสในการใช้งบประมาณและแนวนโยบายต่อการที่ไอซีทีมีแผนลงทุนโครงการเกี่ยวกับการดูแลเฝ้าระวังเว็บไซต์ไม่เหมาะสม จำนวนกว่า 80 ล้านบาท ว่า การใช้งบประมาณหลายสิบล้านมาแก้ปัญหานี้ในภาวะที่สังคมมีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งมีหลายเรื่องที่ต้องการการช่วยเหลือ ถือเป็นเรื่องที่สอดคลองหรือไม่ และจะแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า
สุภิญญา กล่าวต่อมาโดยยืนยันว่า รัฐจะต้องแยกระหว่างอาชญากรรรมทางคอมพิวเตอร์ออกจากสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร โดยสนับสนุนให้ใช้กฎหมายในการปราบปรามคนทำเว็บล่อลวง การโพสภาพโป๊เปลือยเด็กที่ไม่ได้เต็มใจ การโพสคลิป แอบถ่าย การเป็นแฮคเกอร์ การลักลอบใช้ข้อมูล เช่น เรื่องบัตรเครดิตต่างๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นอาชญากรรมที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ แต่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงออกเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
“ถ้ารัฐจะเดินหน้าจะปราบปรามอย่างจริงจัง สังคมไทยคงต้องเตรียมการพิเศษมากๆ อาจต้องมีศาลเฉพาะที่มาพิจารณาในเรื่องนี้ อาจต้องสร้างเรือนจำเพิ่ม เพื่อรองรับเรื่องนี้ เพราะจะมี Cyber-dissidents หรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐแล้วแสดงในโลกไซเบอร์มากขึ้นจนจับกุมไม่หวาดไม่ไหว” สุภิญญากล่าวถึงผลกระทบของแนวนโยบายต่อสิทธิพลเมือง
สุภิญญากล่าวต่อมาว่า แนวโน้มนี้น่าห่วงในประเทศที่ประชาธิปไตยอ่อนแอ ตามสถิติ ของคณะกรรมการคุ้มครองนักข่าว (Committee to Protect Journalist: CPJ) ซึ่งเป็นองค์กรสื่อในระดับสากล ระบุว่าปัจจุบันกว่า 45 % ของนักข่าวที่ถูกขังคุกเป็นนักข่าวออนไลน์ ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่าต่อไปประเทศไทยอาจจะไปแข่งขันทำสถิติกับอีกหลายประเทศว่าแต่ละปีจะมีประชาชนที่ต้องติดคุกเพราะแสดงออกขัดต่อผู้มีอำนาจรัฐในโลกออนไลน์กี่คน
ถือเป็นเรื่องไม่โสภานักสำหรับภาพลักษณ์ประเทศ และจะไม่ส่งผลดีต่อนโยบายการสมานฉันท์ของรัฐบาล เพราะอาจนำไปสู่การต่อต้าน กลายเป็นคลื่นใต้น้ำ หรือพลังเงียบในสังคม ต้องไม่ลืมว่าสถิติคนใช้สื่ออินเทอร์เน็ตปัจจุบันประมาณเกือบ 14 ล้านคนแล้ว คนกลุ่มนี้ถือเป็นพลังที่มีความหมาย รัฐบาลต้องให้ความระมัดระวังและใช้ความละเอียดอ่อนในการดำเนินนโยบายเรื่องนี้
ส่วนเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สุภิญญาแสดงความเห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ร่างที่ผ่าน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีปัญหาในการบังคับใช้ แต่เมื่อได้เห็นร่างกำหมายที่เสนอแก้ไขโดย สส.ประชาธิปัตย์ นำโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนปัจจุบันก็รู้สึกตกใจ เพราะมีเนื้อหาหลายอย่างน่ากังวลโดยเฉพาะการย้ายอำนาจจากศาลมาอยู่ที่รัฐมนตรีในการคุมสื่อใหม่ได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องฟังใคร สุดท้ายมันหนีไม่พ้นกลายเป็นวาระทางการเมือง และอาจกระทบต่อสิทธิพลเมืองได้
ดังนั้น รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกต้อง อย่างน้อยต้องแก้ไขร่างกฎหมายให้รองรับสิทธิของพลเมืองให้มากขึ้นกว่าเดิม ตามนโยบายที่แถลง ไม่ใช่ออกกฎหมายมีเนื้อหาที่ถดถอยกว่าร่างที่ผ่านโดย สนช.ซึ่งเป็นองค์คณะที่จัดตั้งมาภายหลังการรัฐประหาร และไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
“ในโอกาสที่รัฐบาลมีอำนาจก็ควรเป็นเจ้าภาพในการเปิดเวทีให้แต่ละกลุ่มความคิดได้มานั่งคุยกัน แทนที่จะดำเนินนโยบายเอาอำนาจเข้าตนเองให้มากขึ้น แล้วก็ตีความด้วยตนเองว่าอะไรใช่ ไม่ใช่” สุภิญญากล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาในสังคมซึ่งมีความเห็นต่างเพื่อการอยู่ร่วมกันได้ทั้งในสังคมออนไลน์และในสังคมที่เป็นจริง
ส่วนสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวถึงการใช้กฎหมายความมั่นคงปิดกั้นสถานีวิทยุชุมชนว่า เป็นเรื่องทางการเมืองของรัฐบาลกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แต่การนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้เพื่อยุติการสื่อสารย่อมกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปด้วย ประการสำคัญคือประชาชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือเห็นต่างจากรัฐบาลได้ ดังนั้นการใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อปิดสถานีวิทยุชุมชนหรือสถานีวิทยุธุรกิจในท้องถิ่น จะมีเกณฑ์ชี้วัดใดที่จะแยกแยะได้ว่าสถานีใดขัดต่อความมั่งคงของรัฐ
นอกจากนี้การปิดกั้นสื่อนั้น ขัดต่อคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ที่ยืนยันว่าจะให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในเรื่องสื่อและข้อมูลข่าวสาร ทั้งในด้านการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ โดยเฉพาะนโยบายที่จะมุ่งให้เกิดความสมานฉันท์จากการปรับปรุงกลไกการสื่อสาร แต่แนวทางของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของประชาชน เป็นแนวทางที่จะไม่ทำให้เกิดความสมานฉันท์ทางการเมืองตามที่รัฐบาลได้แสดงท่าทีต่อสาธารณะ และจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกับประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล
ทั้งนี้ ตัวแทนทั้งสามองค์กรจะเข้ายื่นหนังสือและข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 13 ม.ค.ที่จะถึงนี้ เวลา 8.00 น. โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้ 1.ให้รัฐบาลมีแนวทางผลักดันให้เกิดกลไกการกำกับดูแลกันเองทั้งวิทยุชุมชนและกลุ่มประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อให้เกิดเกณฑ์ที่ชัดเจนทั้งในเรื่องความมั่นคง และกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
2.การปรับแก้กฎหมายสื่อต้องเปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ทั้งการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2543 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เพื่อให้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ที่มา:หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท