ที่มา ประชาทรรศน์
ค้านใช้กฎหมายฮิตเลอร์-สวนทางนโยบายรัฐ
“คณะกรรมการปฏิรูปสื่อ” ออกโรงจี้ “สาทิตย์” หยุดแทรกแซง คุกคามสื่อมวลชน หลังรัฐบาล “อภิสิทธิ์” จ่อปิดวิทยุชุมชนที่ต่อต้านรัฐบาล รวมทั้งจ้องปิดเว็บไซต์อีกนับพันแห่ง อ้างทำเพื่อความมั่นคง โดยอาศัยกฎหมายฮิตเลอร์เป็นเครื่องมือ ชี้สวนทางนโยบายรัฐบาลที่รับปากจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เชื่อจะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นในบ้านเมือง แนะรัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดกลไกในการตรวจสอบกันเองมากกว่าเพื่อให้เกิดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ด้าน “นักวิชาการ"ห่วงเลือกปฏิบัติ เข้ามาจัดการเฉพาะสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง
“นักวิชาการ”ห่วงเล่นงานแต่พวกวิพากษ์รัฐบาล
การประกาศปิดวิทยุชุมชนที่อ้างว่ามีการนำเสนอรายการไม่เหมาะสม ของ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยอาศัย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือที่เคยถูกขนานนามว่ากฎหมายฮิตเลอร์ เป็นเครื่องมือ รวมไปถึงการปิดเว็บไซต์ต่างๆ ด้วยข้ออ้างทำนองเดียวกันจนถึงขั้นมีการตั้ง War Room และมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการดังกล่าวถึง 80 ล้านบาท ได้กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่าส่อเป็นการคุกคาม แทรกแซงสื่อมวลชน และยังเป็นการคุกคาม ลิดรอนสิทธิในการแสดงความคิดความเห็นของประชาชน ซึ่งขัดต่อนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ได้แถลงไว้ที่กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงสิ่งที่สำคัญสุดก็คือขัดแย้งต่อแนวทางที่รัฐบาลอ้างว่าอยากสร้างสมานฉันท์ และอยากเห็นความสามัคคีเกิดขึ้นในบ้านเมือง
ปิดวิทยุชุมชนรัฐละเมิดเสรีภาพ
นายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวถึงการใช้กฎหมายความมั่นคงปิดกั้นสถานีวิทยุชุมชนว่า เป็นเรื่องทางการเมืองของรัฐบาลกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แต่การนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้เพื่อยุติการสื่อสารย่อมกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปด้วย ประการสำคัญคือประชาชนย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือเห็นต่างจากรัฐบาลได้ ดังนั้นการใช้กฎหมายความมั่นคงเพื่อปิดสถานีวิทยุชุมชนหรือสถานีวิทยุธุรกิจในท้องถิ่น จะมีเกณฑ์ชี้วัดใดที่จะแยกแยะได้ว่าสถานีใดขัดต่อความมั่งคงของรัฐ
นอกจากนี้การปิดกั้นสื่อนั้น ขัดต่อคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ที่ยืนยันว่าจะให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในเรื่องสื่อและข้อมูลข่าวสาร ทั้งในด้านการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ โดยเฉพาะนโยบายที่จะมุ่งให้เกิดความสมานฉันท์จากการปรับปรุงกลไกการสื่อสาร แต่แนวทางของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของประชาชน เป็นแนวทางที่จะไม่ทำให้เกิดความสมานฉันท์ทางการเมืองตามที่รัฐบาลได้แสดงท่าทีต่อสาธารณะ และจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกับประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล
ร้องรัฐให้มีการตรวจสอบกันเอง
ทั้งนี้ ตัวแทนทั้งสามองค์กรจะเข้ายื่นหนังสือและข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 13 มกราคม ที่จะถึงนี้ เวลา 8.00 น. โดยมีข้อเสนอต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้ 1.ให้รัฐบาลมีแนวทางผลักดันให้เกิดกลไกการกำกับดูแลกันเองทั้งวิทยุชุมชนและกลุ่มประชาชนผู้ใช้อินเตอร์เน็ต เพื่อให้เกิดเกณฑ์ที่ชัดเจนทั้งในเรื่องความมั่นคง และกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
2.การปรับแก้กฎหมายสื่อต้องเปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ทั้งการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2543 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เพื่อให้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
อย่างไรก็ดีแม้ว่า กทช. ยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจน และยังไม่มีการกำกับดูแล แต่การที่รัฐบาลนี้จะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่ออกมาจาก สนช. เข้ามากำกับดูแลนั้นถือเป็นการละเมิดสิทธิ อีกทั้งภาคประชาชนก็เคยคัดค้านกฎหมายความมั่นคงนี้ เพราะมีเนื้อหาเปิดช่องให้หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะนายกฯ ในฐานะ ผอ.รมน. เป็นผู้สั่งการให้ กอ.รมน. ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นคนดำเนินการยุติ หรือสั่งห้ามการกระทำใดๆ ที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคง เทียบเคียงได้ว่ากฎหมายนี้เป็นดาบอีกเล่มของภาครัฐที่จะออกมาจำกัดสิทธิของสังคมเอง ไม่ว่าจะเสื้อสีไหนก็ตาม
แนะตั้งองค์กรอิสระกำกับดูแล
พร้อมกันนี้ยังเสนอว่า ต้องผลักดันกฎหมายและการจัดตั้งองค์กรอิสระที่จะมากำกับดูแล แต่ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกำกับดูแลกันเอง ซึ่งเกณฑ์ในการกำกับดูแล หรือ code of conduct ของวิทยุชุมชน เป็นกลไกที่ต้องสร้างจากประชาชนขึ้นมา
"เคยได้คุยกับคุณสาทิตย์ (วงศ์หนองเตย) ตั้งแต่ก่อนแถลงนโยบายว่า โจทย์ใหญ่คือรัฐบาลต้องผลักให้เกิดการกำกับดูแลกัน ไม่เช่นนั้นทุกรัฐบาลที่มาก็จะตกอยู่ในฐานะละเมิดสิทธิหรือเข้ามาแทรกแซงเรื่องการสื่อสาร ถูกข้อหาว่าละเมิดสิทธิของประชาชนในการสื่อสาร แน่นอนว่าท้ายสุดไม่ว่าเขาจะเป็นวิทยุชุมชนประเภทใดก็ตาม เขาก็มีสิทธิสื่อสารเรื่องราวของเขาออกมาอยู่ดี"
นายสุเทพระบุถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับองค์กรกำกับว่า มาตรา 78 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงของกิจการวิทยุโทรทัศน์ หรือ พ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ 2551 ได้กำหนดให้ กทช.เป็นผู้ออกใบอนุญาตชั่วคราวให้กับกิจการเคเบิลทีวีและวิทยุชุมชน โดยให้ตั้งอนุกรรมการวิทยุโทรทัศน์ขึ้นอีกคณะหนึ่ง เพื่อออกร่างหลักเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งขณะนี้อนุฯ ชุดนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างหลักเกณฑ์ โดยมีกระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกับสาธารณะ 4 ครั้งแล้ว และกำลังจะจัดอีกครั้งที่อุบลราชธานี หลังจากนั้นจะจัดทำร่างหลักเกณฑ์เพื่อออกใบอนุญาตชั่วคราวไม่เกิน 1 ปีให้กับวิทยุชุมชน ซึ่งก็จะเป็นการคัดสรรว่า วิทยุที่ได้รับใบอนุญาตในกรอบวิทยุชุมชนจริงๆ มีลักษณะหรือหน้าตาแบบไหนบ้าง
เกิดข้อสงสัยเลือกปฏิบัติหรือเปล่า
รศ.กิติมา สุรสนธิ อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในช่วงที่มีการขัดแย้งกันสูง และวิทยุชุมชนนำมาใช้ในการต่อสู้กับรัฐบาล รัฐบาลอาจจะต้องรูสึกอะไรบ้าง และก็เป็นที่มาของการปิดวิทยุชุมชนต่างๆ ซึ่งที่รัฐบาลทำเช่นนี้อาจเป็นเพราะเกรงว่าประชาชนจะขาดความน่าเชื่อถือในตัวเอง และเสถียรภาพของรัฐบาลอาจจะสั่นคลอนได้ เมื่อประชาชนได้ยินได้ฟังเรื่องของรัฐบาล
ถึงอย่างไร ถ้ารัฐบาลจะปิดวิทยุชุมชนก็ต้องปิดทั้งหมด หากพูดในแง่ของกฎหมายที่ยังไม่มีการรับรอง ต้องปฏิบัติต่อวิทยุชุมชนแต่ละสถานีอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าคิดว่าวิทยุชุมชนเป็นสิ่งผิดกฎหมายจะปิดก็ต้องปิดทั้งหมด ถ้าเลือกที่จะปิดสถานีที่ต่อต้านรัฐบาลและไม่ปิดสถานีที่สนับสนุนรัฐบาล อาจจะทำให้เกิดความสงสัย ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือเปล่า แต่ถ้าคิดว่ายังไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมายแล้วคิดจะอะลุ่มอล่วยก็ต้องปล่อยให้เปิดกันทั้งหมด
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของเนื้อหา แต่ถึงอย่างไรในฐานะสื่อสารมวลชนก็ไม่ต้องการให้อะไรก็ตามมาแทรกแซงสื่ออยู่แล้ว ด้วยบทบาทหน้าที่ของสื่อคือการให้ข้อมูล วิพากษ์วิจารณ์ ให้ความรู้เป็นหน้าที่อยู่แล้ว ที่สำคัญคืออยู่บนความถูกต้อง ไม่ว่ารัฐบาลจะมีสื่อเพื่อการสนับสนุนตัวเอง โดยจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อก็ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว
“ถ้ารัฐยังเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็ต้องทำให้มันถูกกฎหมาย ถ้ามาเลือกเปิด เลือกปิด มาควบคุมดูแล ก็ต้องดูว่าหน้าที่คืออะไร ส่วนตัวเราเองก็อยากได้สื่อที่อิสระจริงๆ ซักที” รศ.กิติมากล่าว
นิยามของเนื้อหาหมิ่นเป็นอย่างไร
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network: TNN) ร่วมกับ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (Freedom Against Censorship Thailand: FACT) จัดแถลงข่าวแสดงจุดยืน กรณีมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการจับกุม ปราบปรามเว็บไซต์และวิทยุชุมชน ในหัวข้อ “ขอรัฐอย่าจับเสรีภาพ สิทธิพลเมือง เป็นตัวประกัน” ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อพลเมืองของตนเอง ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคาร มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
นางสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ และบล็อกเกอร์ (www.fringer.org) สมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ต (TNN) กล่าวถึงจุดยืนของเครือข่ายว่า การก่ออาชญากรรมเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่ควรมีเสรีภาพ แต่เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน หรือการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นคนละเรื่องกัน ทั้งนี้ ควรต้องมีการตั้งคำถามต่อรัฐในการดำเนินมาตรการปิดกันเว็บไซต์ถ้ามีเนื้อหาที่เป็นปัญหาเช่น การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คำถามแรกคือนิยามของเนื้อหาที่หมิ่นเป็นอย่างไร วิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จะเป็นอย่างไร กระบวนการดำเนินคดีจะต้องดำเนินการกับใคร
“เราสนับสนุนเสรีภาพในการสื่อสาร แต่ไม่สนับสนุน อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ประเด็นคือ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ ไม่ใช่อาชญากรรม”
ยอมรับไม่ได้เพิ่มอำนาจไอซีที
คนที่กระทำความผิดในกรณีเหล่านี้คือคนที่สร้างเนื้อหาหรือโพสต์ข้อความ แต่การปิดกั้นเว็บไซต์ไม่ได้ทำให้มีการจับกุมคนที่กระทำความผิดได้ นอกจากนี้ยิ่งปิดคนยิ่งอยากดูอยากรู้ว่าเนื้อหาคืออะไร ซึ่งจะกลายเป็นการเพิ่มจำนวนคนที่เข้าไปดูเว็บไซต์เป็นทวีคูณ ตรงนี้เป็นตัวอย่างผลพวงของการเซ็นเซอร์ที่เห็นมากมายในต่างประเทศ
“ถึงที่สุดแล้วก็ต้องถามว่าถ้าเป้าหมายของรัฐคือการกำจัดหรือลดทอนเนื้อหาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การปิดกันเว็บไซต์มันได้ผลจริงหรือ มันจะไม่ทำให้เกิดกรณีเว็บไซต์เลียนแบบจำนวนมากมายมหาศาลและคนเข้าไปดูเช่นนั้นหรือเปล่า”
นางสฤณี เน้นย้ำด้วยว่า ทางกลุ่มมีความต้องการผลักดันให้มีการแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีความคลุมเครือในหลายประเด็น รวมทั้งมาตรการปิดกันเว็บไซต์ที่ล่าสุดกระทรวงไอซีทีออกมาให้ข่าวว่าอยากจะกระทำได้เลยโดยไม่ต้องขอหมายศาลนั้น โดยส่วนตัวยอมรับไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นมาตรฐานสากลที่การปิดกั้นเว็บไซต์จะต้องผ่านกระบวนการศาล ซึ่งการปิดกั้นเว็บไซต์เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างทันที เป็นเรื่องน่าเศร้าที่กระทรวงไอซีทีจะปรับปรุงให้แย่ลง
ห่วงใช้เป็นเครื่องมือทำลายกัน
นายสุนิตย์ เชรษฐา สมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ต (TNN) กล่าวถึงกระบวนการปิดกันเว็บไซต์หมิ่นว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การจะปิดเว็บหมิ่นหรือไม่อย่างไร แต่คำถามคือสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า เพราะอาจเป็นการเพิ่มทวีคูณขึ้นไป เหมือนเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน แต่กรณีนี้อาจเป็นขี่ช้างจับไวรัสหรือเชื้อรา ถือเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
ทั่วไป แต่มีผลกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ด้วย ตราบใดที่ยังมีความคลุมเครือในเรื่องของนิยามฐานความผิด และวิธีการปฏิบัติงานของรัฐ อาจทำให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเกิดความกลัวและเซ็นเซอร์ตัวเองไปก่อนโดยเกินเลยไป ซึ่งรังแต่จะทำให้เกิดผลเสีย
ซึ่งนายสุนิตย์กล่าวต่อมาว่า นอกจากคิดจัดการเว็บหมิ่นเพียงอย่างเดียว ควรเน้นการสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้โดยการเปิดเวทีให้ประชาชน นักวิชาการ และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนของกฎหมาย ที่สำคัญรัฐควรมองเทคโนโลยีในทางบวกมากขึ้น
ปิดเว็บไม่มีคำสั่งศาลถือว่าผิด
CJ Hinke เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) กล่าวว่า ภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ การปิดเว็บไซต์ต้องมีคำสั่งศาล ดังนั้นการปิดเว็บไซต์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ส่วนใหญ่ที่ไม่มีคำสั่งศาลก็ถือว่าผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงไอซีทีแถลงว่าได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไปแล้วกว่า 2,300 เว็บไซต์ และได้เตรียมการขออำนาจศาลให้มีการพิจารณาเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บเพิ่มอีก 400 เว็บไซต์ โดยอ้างว่าทั้งหมดเป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่คิดว่าจำนวนที่ถูกปิดกั้นจริงๆ น่าจะมากกกว่าที่มีการแถลง
นอกจากนี้ การที่กระทรวงไอซีที ประกาศว่าจะสร้าง War room คล้ายกับนโยบาย ประกาศสงครามอื่นๆ ที่รัฐบาลทั่วโลกรวมทั้งรัฐบาลไทยเคยประกาศใช้ เช่น ส่งครามต่อต้านการก่อการร้าย ส่งครามต้านยาเสพติดในประเทศไทย ซึ่งสงครามเหล่านี้ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไร แต่ส่งผลก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวในหมู่ประชาชน
“เรามั่นใจไม่ได้ว่า ภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตำรวจจะมาเคาะประตูบ้านตอนตีสี่ แล้วแจ้งข้อหา หลังจากที่เราเข้าไปดูเว็บไซต์ที่เราไม่รู้ว่าถูกหรือผิดกฎหมายหรือเปล่า”
ต้องเผยข้อมูลปิดเว็บต่อสาธารณชน
CJ กล่าวอีกว่า ในประเทศประชาธิปไตยทุกแห่ง กระบวนการยุติธรรมของศาล เป็นกระบวนการที่โปร่งใส และเปิดเผย อย่างไรก็ตามกระบวนการขอคำสั่งศาลของไอซีทีที่ผ่านมา ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ และประชาชนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบเนื้อหาของเว็บไซต์ก่อนที่ศาลจะสั่งปิด ไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานวิชาการและพลเมือง ถือว่ารัฐทำเรื่องนี้อย่างลับๆ โดยต้นทุนประชาชนเป็นคนจ่าย ซึ่งคิดว่าเงินจำนวนนี้น่าจะไปทำอย่างอื่นได้ดีกว่า เช่น เอาไปดำเนินงานสร้างความสมานฉันท์ สร้างสันติภาพในภาคใต้ หรือการสร้างการศึกษาบนอินเตอร์เน็ต
ความไร้ประสิทธิผลของการปิดกั้นเว็บไซต์ จริงแล้วที่ผ่านมามีลิสต์ที่ไอซีทีปิดกั้น แต่ก็มีการหลุดลอดออกมาสู่สาธารณะได้ และมีการเผยแพร่เครื่องมือที่สามารถหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ ทำให้คนที่สนใจอยากรู้พอสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นได้อยู่ดี
“การประกาศทำ War room หมายความว่ากระทรวงไอซีทีพยายามทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะทางสงคราม ซึ่งที่ผ่านมาคิดว่าเรามีความขัดแย้งมากพอแล้วในประเทศ คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ข้อมูลต่างๆ ควรเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเสรี” CJ กล่าว
ห่วงล้างผลาญงบ80ล้านบาท
ด้าน นางสุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ตั้งคำถามในเรื่องความโปร่งใสในการใช้งบประมาณและแนวนโยบายต่อการที่ไอซีทีมีแผนลงทุนโครงการเกี่ยวกับการดูแลเฝ้าระวังเว็บไซต์ไม่เหมาะสม จำนวนกว่า 80 ล้านบาท ว่าการใช้งบประมาณหลายสิบล้านมาแก้ปัญหานี้ในภาวะที่สังคมมีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งมีหลายเรื่องที่ต้องการการช่วยเหลือ ถือเป็นเรื่องที่สอดคล้องหรือไม่ และจะแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า
นางสุภิญญา กล่าวต่อมาโดยยืนยันว่า รัฐจะต้องแยกระหว่างอาชญากรรรมทางคอมพิวเตอร์ออกจากสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร โดยสนับสนุนให้ใช้กฎหมายในการปราบปรามคนทำเว็บล่อลวง การโพสต์ภาพโป๊เปลือยเด็กที่ไม่ได้เต็มใจ การโพสต์คลิป แอบถ่าย การเป็นแฮ็กเกอร์ การลักลอบใช้ข้อมูล เช่น เรื่องบัตรเครดิตต่างๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นอาชญากรรมที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ แต่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงออกเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
“ถ้ารัฐจะเดินหน้าปราบปรามอย่างจริงจัง สังคมไทยคงต้องเตรียมการพิเศษมากๆ อาจต้องมีศาลเฉพาะที่มาพิจารณาในเรื่องนี้ อาจต้องสร้างเรือนจำเพิ่ม เพื่อรองรับเรื่องนี้ เพราะจะมี Cyber-dissidents หรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐแล้วแสดงออกในโลกไซเบอร์มากขึ้นจนจับกุมไม่หวาดไม่ไหว”
เชื่อไม่เป็นผลดีต่อการสมานฉันท์
นางสุภิญญากล่าวต่อมาว่า แนวโน้มนี้น่าห่วงในประเทศที่ประชาธิปไตยอ่อนแอ ตามสถิติ ของคณะกรรมการคุ้มครองนักข่าว (Committee to Protect Journalist: CPJ) ซึ่งเป็นองค์กรสื่อในระดับสากล ระบุว่าปัจจุบันกว่า 45 % ของนักข่าวที่ถูกขังคุกเป็นนักข่าวออนไลน์ ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่าต่อไปประเทศไทยอาจจะไปแข่งขันทำสถิติกับอีกหลายประเทศว่าแต่ละปีจะมีประชาชนที่ต้องติดคุกเพราะแสดงออกขัดต่อผู้มีอำนาจรัฐในโลกออนไลน์กี่คน
ถือเป็นเรื่องไม่โสภานักสำหรับภาพลักษณ์ประเทศ และจะไม่ส่งผลดีต่อนโยบายการสมานฉันท์ของรัฐบาล เพราะอาจนำไปสู่การต่อต้าน กลายเป็นคลื่นใต้น้ำ หรือพลังเงียบในสังคม ต้องไม่ลืมว่าสถิติคนใช้สื่ออินเตอร์เน็ตปัจจุบันประมาณเกือบ 14 ล้านคนแล้ว คนกลุ่มนี้ถือเป็นพลังที่มีความหมาย รัฐบาลต้องให้ความระมัดระวังและใช้ความละเอียดอ่อนในการดำเนินนโยบาย
ส่วนเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นางสุภิญญา กล่าวว่าร่างที่ผ่าน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีปัญหาในการบังคับใช้ แต่เมื่อได้เห็นร่างกฎหมายที่เสนอแก้ไขโดย ส.ส.ประชาธิปัตย์ นำโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรมคนปัจจุบันก็รู้สึกตกใจ เพราะมีเนื้อหาหลายอย่างน่ากังวลโดยเฉพาะการย้ายอำนาจจากศาลมาอยู่ที่รัฐมนตรีในการคุมสื่อใหม่ได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องฟังใคร สุดท้ายมันหนีไม่พ้นกลายเป็นวาระทางการเมือง และอาจกระทบต่อสิทธิพลเมืองได้