โดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
สิ่งที่ผู้รักประชาธิปไตยควรทำหลังทราบผลการเลือกตั้งซึ่งไม่มีพรรคการเมืองใดได้คะแนนถึงครึ่งก็คือ การติดตามและจับตาการแทรกแซงของพลังการเมืองนอกสภาเพื่อร่วมด้วยช่วยกันจัดตั้งรัฐบาลสานต่อภารกิจรัฐประหาร
เชื่อเถิดว่า หากไม่มีการแทรกแซง ด้วยเสียงที่มาเป็นอันดับหนึ่ง และได้เกือบครึ่งของสภาผู้แทนฯ อย่างไรเสียพรรคพลังประชาชนต้องได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะดึงพรรคอื่นเข้าร่วมเพียงพรรคเดียวก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และดึงอีกสองพรรคเพื่อให้การทำงานหรือการผลักดันนโยบายเป็นไปอย่างที่หาเสียงได้
การจะดึงหนึ่งพรรคนั้น หากไม่มีการแทรกแซงนี่ไม่ยากครับ เพราะเป็นที่รู้กันในแวดวงนักการเมืองที่วนเวียนอยู่กับคนกลุ่มเดิมๆ ว่า หากในสถานการณ์ปกติ ร่วมงานกับพรรคไหนยากที่สุด? เชื่อเถิดครับ ตอบเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า ‘ประชาธิปัตย์’
ในสถานการณ์ปกติ สภาพการเมืองของ 5 พรรคเล็กที่เหลือจึงมีแต่จะวิ่งเข้าหาพลังประชาชน ใครเข้าก่อน ต่อรองได้ก่อน ก็แน่นนอนว่าได้ร่วมรัฐบาล แค่พรรคเดียว พรรคเดียวเท่านั้น และไม่มีพรรคเล็กพรรคไหนที่จะรู้ว่า ใครจะไปก่อน ใครจะหักหลัง ต่อให้สัญญาเกาะเกี่ยวกันเป็นมั่นเป็นเหมาะก็ตาม
แต่เนื่องจากนี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความชัดเจนไปในการแถลงครั้งแรกหลังทราบชัดว่า พลังประชาชนได้ ส.ส. มาเป็นอันดับหนึ่งว่า “จะไม่น่าอายกว่าหรือ ได้อันดับหนึ่งแต่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้” ซึ่งแสดงนัยสำคัญบางประการอย่างแน่นอน
นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ เพราะการกลับมาเป็นรัฐบาลของพรรคพลังประชาชน คือการสูญเปล่าของการรัฐประหาร พวกพ้อง และเครือข่ายของผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญทั้งหลาย
นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ เพราะรอยยิ้มที่ออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในทันทีที่ทราบว่าคนเมืองหลวงเทคะแนนให้พรรคประชาธิปปัตย์นั้น ยืนยันเป็นอย่างดีว่า ต่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยคะแนนหมิ่มเหม่ แต่พรรคการเมืองอื่นๆ ก็ยากจะต่อรอง เพราะคนชั้นกลางเอาด้วย ยังไม่นับถึงสื่อทั้งหลายก็เอาด้วย และง่ายต่อการสร้างกระแส ในนามของความปรองดอง ไม่วุ่นวาย และสงบ
อย่าลืมว่าพรรคการเมืองเหล่านี้โดดเรือหนีพรรคไทยรักไทยมาครั้งหนึ่งแล้ว จะอยู่ร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อโดดเดี่ยวพลังประชาชน ตามความเกรงใจผู้มีบารมีนอกสภา เกรงใจคนชั้นกลางและสื่อไม่ได้หรือ
การประกาศเชิญชวนพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมรัฐบาลของหัวหน้าพรรคพลังประชาชน จึงอาจจะกลายเป็นหมันได้ และนั่นหมายความว่า รัฐบาลจะอยู่ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปไตย์ ที่แม้จะมีเสียงหมิ่มเหม่ แต่ถูกประคองด้วยคนชั้นกลาง สื่อ ความกลัวความวุ่นวาย และผู้มีบารมีนอกสภาทั้งหลาย พร้อมกับแต้มต่อในมือดับความผงาดของพลังประชาชนด้วยชะตากรรมของ 111 อดีต ส.ส. บวกกับคดีของทักษิณ ชินวัตร
นี่ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้
ในสภาพเช่นนี้ เรายากจะเห็นรัฐบาลผลักดันนโยบายสำคัญๆ ได้ เพราะนโยบายสำคัญๆ มักจะหมายถึงทรัพยากร ผลงาน และคะแนนนิยมที่แต่ละพรรคจะต้องแย่งชิงกัน
เรายากจะได้เห็นนโยบายสำคัญๆ เพราะมันหมายถึงความขัดแย้ง และจะนำพาให้รัฐบาลอันหมิ่มเหม่ต้องพังครืนอย่างไม่เป็นท่า ต่อให้คุณอภิสิทธิ์เก่งแค่ไหน มุ่งมั่นแค่ไหน น้ำดีอย่างไร หากคิดจะเป็นรัฐบาลต่อไป จงเดินไปตาม ‘รูทีน’ และเป็น ‘ปลัดรัฐบาล’ ที่ดี เหมือนที่คุณชวน หลีกภัย และรัฐบาลหลายรัฐบาลก่อนหน้านั้นเคยเป็น
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อสิบยี่สิบปีที่ผ่านมา ก็ด้วยสภาพเช่นนี้นี่เองไม่ใช่หรือ ที่ทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญด้วยการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 โดยหลักสามประการ คือ เพิ่มอำนาจประชาชนด้วยการประกันสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมหลายประการ พร้อมๆ ไปกับ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่สร้างระบบเลือกตั้ง ให้มีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ประชาชนได้เลือกผู้บริหารทางอ้อม และไปกันได้กับการมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือการออกแบบให้อำนาจนายกฯเข้มแข็ง ออกมาตรการให้พรรคร่วมฯไม่สามารถต่อรองกับนายกฯได้ อาทิ การสวมหมวกได้ใบเดียว (จะเป็นรัฐมนตรีหรือจะเป็น ส.ส.) ให้ควบรวมพรรคได้ง่าย สร้างกฎเป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อย 90 วันถึงจะลงเลือกตั้งได้ ฯลฯ ซึ่งเราเห็นแล้วว่ามันได้ผล ไม่ใช่เพราะทักษิณเก่ง แต่เพราะรัฐธรรมนูญออกแบบมาได้ดี และหลักสุดท้ายคือระบบตรวจสอบที่แม้จะมีกลไกใหม่ๆ มากมายที่เชื่อได้ว่าจะเป็นอิสระ หลุดพ้นจากการครอบงำของรัฐบาลที่เข้มแข็งแล้ว แต่ก็พลาด ไม่สามารถตีกรอบให้คุณทักษิณอยู่ในการเฝ้าระวังได้
บัดนี้ การเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว เราเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบที่ฝรั่งยากจะเถียงและอย่างที่เคยกดดันประเทศไทยแล้ว แต่เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่าง ประชาธิปไตยแบบมีประสิทธิภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพ ใต้การบงการของพรรคการเมืองที่ได้รับอาณัติจากประชาชน หรือใต้บงการของอภิชน คนชั้นกลาง และสื่อ
นี่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะพรรคใดทั้ง 7 พรรคต้องหันมาวิเคราะห์ ว่าจะเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง หรือเพียงแค่ประโยชน์ของตนเอง
จะตั้งรัฐบาลให้ได้ หรือจะตั้งรัฐบาลเพื่อให้ทำงานได้
1.จะ ‘กลัว’ ต่อไปแล้วอยู่ใต้บงการของเหล่าอำมาตย์ หรือ 2.จะผ่าทางตัน ยอมเสียสละ เพื่อประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน
อันแรกบอกประชาธิปัตย์ อันที่สองบอกพลังประชาชน
มีหนทางผ่าทางตันได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายไหน