หลังเลือกตั้งก็ต้องดูผลคะแนนของแต่ละพรรคว่าจะได้ กันเท่าใด จากนั้นก็คงจะต้องจับมือ-จับขั้วเพื่อตั้งรัฐบาลพรรคไหน สามารถรวบรวมเสียงได้มากก็ตั้งรัฐบาลได้ พร้อมกับเก้าอี้นายกฯ
แต่หากจัดไม่ได้พรรคอันดับ 2 หรือพรรคถัดไปก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ อันนี้ไม่ใช่หลักเกณฑ์ตายตัวหรือรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ เป็นธรรมชาติที่พรรคการเมืองที่ 1 ควรจะได้สิทธิในการจัดรัฐบาลก่อน
เว้นแต่จัดไม่ได้ก็เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่ได้คะแนนถัดไป หรือพรรคขนาดกลางหรือขนาดเล็กรวมตัวกันได้และมีเสียงเพียงพอก็ตั้งรัฐบาลได้
เหนืออื่นใดการเลือกตั้งครั้งนี้ทำท่าว่าจะไม่เป็นไปอย่างที่เคยปฏิบัติมา นั่นคือแม้พรรคที่ 1 ได้เสียงข้างมากแต่ชนะไม่เด็ดขาด แต่พรรคที่ 2 ก็พร้อมจะจัดรัฐบาลแข่งหรือแม้แต่พรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก
ก็พร้อมจะจับมือกันตั้งรัฐบาลแข่งได้เช่นกัน จริงๆแล้วไม่ผิดกติกาแต่เสียมารยาทและข้อสำคัญก็คือจะรวบเสียงได้หรือไม่เท่านั้น
อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งครั้งนี้คงต้องดูด้วยว่าหลังเลือกตั้งจะมี ใบเหลือง-ใบแดงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นผลให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าได้ หากมีการแจกใบแดงจำนวนมากต้องเลือกตั้งใหม่ แต่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งให้มีการประชุมสภาเป็นครั้งแรก
พูดง่ายๆต้องไม่เกินวันที่ 22 ม.ค. 51 หาก ส.ส.มีไม่ครบ 480 คน แต่จะต้องมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของ ส.ส.ทั้งหมดคือ 456 คนก็เปิดสภาได้ แต่ต้องดำเนินการให้ครบใน 180 วัน
ขั้นตอนต่อไปคงเป็นเรื่องของตำแหน่งสำคัญคือนายกฯ ทั้งนี้สภาผู้แทนฯจะพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ที่สมควรจะดำรงตำแหน่งนายกฯให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ที่การประชุมรัฐสภาครั้งแรก
การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯต้องมี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนฯรับรอง
ต้องมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 96 คน
มติเห็นชอบให้บุคคลใดเป็นนายกฯ ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนฯ
นอกจากนี้มาตรา 126 (5) ยังระบุด้วยว่าการออกเสียงลงคะแนนเลือก หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดให้กระทำเป็นความลับ เว้นแต่จะมีการบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น และสมาชิกย่อมมีอิสระและไม่ผูกพันโดยมติของพรรคการเมืองหรืออาณัติอื่นใด
เรียกว่าใครจะเลือกใครเป็นนายกฯ ก็ได้ตามใจชอบ ไม่ต้องสนมติพรรค ไม่ต้องสนหัวหน้าพรรคตัวเอง ซึ่งมาตรานี้มันพิลึกเพราะแต่ละพรรคก็ควรจะเลือกตามมติพรรคซึ่งจริงๆแล้วก็จะเป็นอย่างนั้น
แต่มากำหนดแบบนี้มันยิ่งเป็นปัญหา มันยิ่งทำให้การเมืองสกปรกมากเข้าไปกว่าการที่พรรคจะบังคับให้เลือกนายกฯ จากคนของพรรคหรือมติของพรรค
อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้นายกฯ ภายใน 30 วัน จะทำอย่างไร ก็ให้ประธานสภาผู้แทนฯนำความขึ้นกราบบังคมทูลภายใน 15 วันนับแต่วันที่พ้นกำหนด เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับคะแนนโหวตสูงสุดเป็นนายกฯ
มีห้วงเวลาจาก 22 ม.ค.-6 ก.พ. 51 ที่จะดำเนินการให้เสร็จ
ประเด็นเลือกนายกฯ นั้นรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดไว้ 2 เงื่อนไข คือลงคะแนนลับและไม่ต้องใช้มติพรรค ผู้ร่างฯ คงคิดว่านี่จะป้องกันพรรคและผู้บริหารพรรค จะใช้มติบีบลูกพรรคเพื่อต้องการให้เกิดความอิสระ
แต่ความจริงแล้วมันคือช่องทาง “หาเงิน” มากกว่า.
"สายล่อฟ้า"
คอลัมน์ กล้าได้กล้าเสีย