การพิจารณาคดีกล้ายางของ คตส. ท่าทางจะออกทะเลไปยิ่งกว่าการสรุปสำนวนฟ้องคดีหวยบนดิน ที่ถูกอัยการตีกลับจนต้องดึงดันยื่นฟ้องต่อศาลเอง
จนกรณีดังกล่าวกลายเป็นประเด็นถกเถียงทั้งในแง่ความเหมาะสมและความถูกต้องชอบธรรมตามข้อกฎหมาย ซึ่งก็ต้องรอดูกันว่าศาลจะมีความเห็นเป็นอย่างไร
เช่นเดียวกับคดีกล้ายาง ที่ คตส.ส่งสำนวนไปให้อัยการสูงสุด ก็ถูกตีกลับมาแบบเดียวกันเพือตั้งคณะกรรมการร่วมกันพิจารณาสำนวนคดีทั้ง 2 ฝ่าย ใน 5 ประเด็น
ซึ่งก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดอีกคร้งหนึ่งว่า สำนวนของ คตส. ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในประเด็นที่ยังมีความบกพร่องตามความเห็นของอัยการสูงสุดนั้น ประการแรกเป็นการกล่าวหา นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ที่ไม่รู้ว่าตกลงแล้ว คตส. จะเอาอย่างไรกันแน่
เพราะเมื่อมีข่าวออกมาตอนแรก ในส่วนของ คชก. ทั้งคณะมีผู้ไม่ถูกกล่าวหาเพียง 2 คน ซึ่งมีนายบรรพต รวมอยู่ด้วย ในตอนนั้น คตส. อ้างตามคำชี้แจงของนายบรรพต ว่าเพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่งและร่วมประชุม คชก. ด้วยเพียงไม่กี่ครั้ง จึงไม่รู้เรื่องราวมากนัก คตส. จึงมีมติ ให้ข้อกล่าวหานายบรรพต ตกไป
แต่เมื่อสำนวนไปถึงมืออัยการ ก็กลับปรากฏชื่อนายบรรพต รวมอยู่ในผู้ถูกกล่าวหาอีกครั้ง
เช่นเดียวกับกรณีของ นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ กับ น.ส.สุชาดา วราภรณ์ ที่ในสำนวนการไต่สวนไม่ปรากฏบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา และยังมีการบึนทึกคำให้การพยาบนบุคคลบางปากไม่ปรากฏบันทึกคำให้การในชั้นการไต่สวน ทั้งที่ต้องใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาของศาล
ยังไม่เท่านั้น ในกรณีของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายวราเทพ รัตนากร นายสรอรรถ กลิ่นประทุม นายอดิศัย โพธารามิก และข้าราชการระดับสูงอีกหลายคน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 151, 157
ในสำนวนการตรวจสอบไต่สวน ก็ไม่ปรากฏบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดตามาตรา 151
เช่นเดียวกับการตั้งข้อกล่าวหา นายเนวิน ชิดชอบ นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ และผู้ถูกกล่าวหาอีกบางตน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ในสำนวนการสอบสวนไต่สวน ก็ยังไม่ปรากฏบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดดังกล่าว
ทั้งหมดนั้นบอกเล่าได้เป็นอย่างดีว่ามีความไม่ปกติในสำนวนการสอบสวนของ คตส.
ในเบื้องต้นอาจจะตั้งข้อสังเกตได้ว่าอาจจะส่อไปในทางไม่ชอบมาพากล ในการสอบสวนและในการทำสำนวนคดี
หรืออย่างน้อยที่สุดรายละเอียดตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดท้วงติงมา ก็ย่อมแสดงให้เห็นชัดว่าสำนวนของ คตส. ขาดความรอบคอบรัดกุม จนเกิดข้อบกพร่องมากมาย
ซึ่งนอกจากหลักฐานจะอ่อนจนแทบจะไม่เพียงพอต่อการเอาผิดใครได้แล้ว พยานหลักฐานต่างๆ ก็ยังไม่ครบถ้วนเรียบร้อย จนไม่น่าจะสามารถส่งให้ศาลพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายได้
ที่สำคัญที่สุดในความเห็นของอัยการสูงสุดประเด็นสุดท้าย ในกรณีที่ คตส. มีมติว่าการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และขอให้เรียกทรัพย์สินแทนผู้เสียหาย ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่าทรัพย์สินหรือราคาที่เสียหายเป็นจำนวนเท่าใด
ก็คงจะต้องมาดูกันว่า คตส. จะยอมกลับไปรวบรวมพยานหลักฐานในส่วนนี้ให้มีความชัดเจน และปรับปรุงแก้ไขสำนวนให้มีความถูกต้อง สมบูรณ์ครบถ้วนเสียก่อนตามที่อัยการสูงสุดท้วงติงหรือไม่
การตั้งคณะกรรมการร่วมกันขึ้นมาพิจารณาเพิ่มเติมจะเกิดขึ้นหรือเปล่า
หรือว่า คตส. จะคงดึงดันแบบเดียวกับกรณีของการพิจารณาเรื่องหวยบนดิน ที่จะยื่นฟ้องศาลเอง โดยไม่สนว่าสำนวนจะมีความสมบูรณ์แบบมากน้อยแค่ไหน
เหมือนอย่างที่ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง หนึ่ง ใน คตส. ออกมาแบะท่าตั้งแต่ต้นว่าอัยการสูงสุด ไม่มีสิทธิ์สั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมท่าทีของ คตส. เสมือนเป็นการแสดงเจตนาอยู่แล้ว ว่าไม่สนใจขั้นตอนอัยการสูงสุด และมีเจตนาอันแรงกล้าที่จะดำเนินการฟ้องร้องเอง และเชื่อว่ามาตรฐานอันเดียวกันนี้ก็จะเกิดขึ้นกับอีกหลายคดี ที่ คตส. กำลังรีบปั่นให้ออกมาก่อนจะสิ้นวาระในเดือนมิถุนายน
เสมือนว่าขอให้เพียงได้ทำงานเสร็จๆ ไปตามใบสั่ง โดยไม่ได้สนใจว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ประเทศชาติจะได้รับประโยชน์จริงหรือเปล่า หรือเรื่องราวที่เคยมีการกล่าวอ้าง และเคยออกมากล่าวหาผ่านสื่อต่างๆ มีความเป็นจริงดังนั้นหรือไม่ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าขนาดคดีที่ คตส. หมายมั่นปั้นมือและมั่นใจว่าจะเอาผิดกับผู้คนในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้แน่ๆ ก็ยังมีสำนวนอ่อนปวกเปียกจนถูกท้วงติงเช่นนี้แล้วคดีที่เหลืออีกตั้งมากมายในเวลาเพียงไม่กี่วัน จะเกิดการพิจารณาแบบชุ่ยๆ ออกมาหรือไม่ จะเหลวเละไปมากกว่านี้อีกหรือเปล่า
และที่สำคัญหากที่สุดแล้วคดีที่สำนวนไม่สมบูรณ์เช่นนี้ ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล งบประมาณที่คณะกรรมการชุดนี้ล้างผลาญไปจำนวนมาก หรือการกล่าวหาคนอย่างเลื่อนลอยจะมีใครหน้าไหนกล้าหาญออกมาแสดงความรับผิดชอบบ้าง...!!