WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, June 11, 2008

ทรรศนะของ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน: ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ 2550 (1)

ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธานรัฐสภา อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในรายการกรองสถานการณ์ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 เรื่องการแก้ไข รธน.50 ไว้ ซึ่งมีเนื้อหาที่สำคัญดังนี้

1.รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 คือ รธน. ที่แย่งชิงอำนาจการปกครองที่แท้จริงไปจากประชาชน

รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้สร้างขึ้นมาโดยดูถูกประชาชน แบ่งประชาชนเป็นชนชั้นสูง กับชนชั้นล่างธรรมดา ต้องการให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ตั้งสมมติฐานการร่างขึ้นมาด้วยความรังเกียจนักการเมืองว่าเป็นคนที่ควรกำจัดไปให้หมด โดยลืมไปว่า รัชกาลที่ 7 ไม่ได้พระราชทานอำนาจการปกครองให้แก่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ แต่พระราชทานให้แก่ประชาชนธรรมดาๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในประเทศไทยมีกว่า 42 ล้านคน แต่ให้อำนาจในการยุบ ไม่ยุบ ผิด ไม่ผิด ให้กับคนเพียง 4-5 คนที่รับอำนาจมาจากคณะรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็น กกต. หรือคณะตุลาการอะไรก็ตาม

2.การลงประชามติรับรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ใช่เจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน

มีความพยายามอ้างว่ามีประชาชนลงมติเห็นด้วยถึง 14 ล้านเสียง และไม่เห็นด้วย 10 ล้านเสียง ทั้งๆ ที่ประชาชนผู้มีสิทธิมีมากกว่า 42 ล้านคน จำนวนที่มาลงประชามติมีเพียงประมาณ 30% ของผู้มีสิทธิเท่านั้น โดยก่อนหน้านั้นและแม้ในขณะที่ลงประชามติก็มีการกล่าวอ้างว่า ให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน มิฉะนั้น คณะรัฐประหารจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับใช้บังคับปกครองประเทศ หรือให้รับๆ ร่างไปก่อน อะไรไม่ดีให้แก้ไขทีหลังได้ และผลักดันให้รับโดยอ้างว่าจะได้มีการเลือกตั้งเสียที จึงอนุมานได้ว่า ในจำนวน 14 ล้านเสียงที่รับนั้น เข้าใจว่า 50% จำใจยอมรับรัฐธรรมนูญ 2550

นอกจากนี้ยังมีการใช้อำนาจรัฐออกไปมัดมือมัดเท้า ปิดปาก ปิดขมับ ให้ข้อมูลด้านเดียว ส่งคนไปคุมการลงคะแนน ในฐานะที่ตัว ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน เอง ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่เคยเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใด ไม่เห็นด้วยที่จะมาอ้างการลงประชามติครั้งนั้นเมื่อจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เนื่องจากจะเป็นตัวก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อบ้านเมือง และไม่เห็นด้วยว่าควรแก้เฉพาะมาตรา 237 และ 309 แม้จะทำได้ก็ไม่ควรทำ เพราะพรรคการเมืองต่างๆ ก็ไปหาเสียงไว้แล้วว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงควรแก้ทั้งฉบับ

3.รัฐธรรมนูญ 2540 พิสูจน์แล้วว่า สร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับประเทศไทย
รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ทำให้การเมืองเข้มแข็ง รัฐบาลสามารถอยู่ได้จนครบวาระเป็นครั้งแรกในประเทศไทยของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เท่านั้น จึงจะเป็นหัวใจสำคัญในการนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติ ความเข้มแข็งทางการเมืองจะทำให้ประเทศชาติก้าวหน้า สิงคโปร์มีคนเพียง 4 ล้านคน แต่เจริญก้าวหน้ากว่าประเทศไทยที่มีคนถึง 64 ล้านคน ก็เพราะความเข้มแข็งของการเมืองการปกครอง ประเทศมาเลเซียนั้น อำนาจการบริหารการปกครองมีความต่อเนื่อง เขายอมรับกติกา แม้บางอย่างจะดูค่อนข้างเป็นกึ่งเผด็จการ เขาจึงพัฒนารุดหน้าได้ ในขณะที่ประเทศไทยยังถอยหน้าถอยหลัง เพราะใครเก่งขึ้นมาก็ต้องฟันมันให้บรรลัย เพราะคนไทยนั้นเป็นคนขี้อิจฉา ขี้นินทา ขี้หาเรื่อง ขี้เบื่อ ขี้ลืม ปัญหาจึงอยู่ที่ตัวคนไทยเราเอง

4.รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ขัดต่อหลักทั้งนิติรัฐและนิติธรรม

ทั้งๆ ที่มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 กำหนดว่า องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ครม. สภา ศาล องค์กรอะไรต่างๆ ต้องดำเนินการตามหลักนิติธรรม แต่พอมาถึงมาตรา 309 กลับประกาศนิรโทษกรรมแบบเซ็นเช็คล่วงหน้าไว้เลยว่า การกระทำใดๆ ของพวกคณะรัฐประหารที่ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมา ถือว่าไม่มีความผิด ทั้งอดีต ปัจจบัน และอนาคต การบัญญัติเช่นนี้เป็นเรื่องวิปลาส และไม่เคยมีปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใด การกล่าวอ้างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ว่าบัญญัติไว้นั้นก็อ้างไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ไม่ถูกต้องที่จะยกเว้นโทษให้คณะรัฐประหารทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมไปถึงองค์กรที่ตั้งขึ้นมา

โดยคณะรัฐประหารด้วย เคยมีนายทหารระดับสูงมาปรึกษา ดร.อุกฤษ ว่าควรกำหนดไว้เช่นนี้หรือไม่ ซึ่งท่านบอกว่าไม่ควร เพราะความเลวร้ายนี้จะติดตัวผู้ร่างและเป็นรอยด่างครั้งสำคัญของระบบกฎหมายไทย การที่คนจะบอกว่าใครทำผิดหรือไม่ผิดนั้น ต้องให้องค์กรอื่นเป็นผู้บอก ไม่ใช่ตัวเองทำผิดแล้วโมเมว่าตัวเองไม่ผิด ลูกน้องของตัวเองก็ไม่ผิด ต่อไปพวกตนเองทำอะไรในวันข้างหน้าก็ถือว่าไม่ผิดด้วย นี่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน ถือเป็นหลักนิติธรรมเถื่อน ไม่ใช่หลักนิติธรรมสากล

5.รัฐสภาวันนี้ยังไม่ใช่รัฐสภาในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

หลักการที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย กำลังถูกละเมิดในรัฐสภาเพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เพราะความหมายของคำว่า ปวงชน คือ เสียง 42 ล้านคนที่มีความเท่าเทียมกัน มีเสียงเสมอภาคกันคนละ 1 เสียง ไม่อาจแบ่งแยกกันได้เพราะบังเอิญมีชาติตระกูลสูงกว่าผู้อื่น มีวุฒิการศึกษาสูงกว่าผู้อื่น หรือมีประสบการณ์มานานกว่าผู้อื่น ทุกคนมี 1 เสียงเท่าเทียมกัน

ความไม่ถูกต้องนี้เห็นชัดจากหลายประเด็น เช่น การมีวุฒิสมาชิกที่มาจากการคัดสรรจากคนเพียง 4-5 คน แต่มีอำนาจเท่าเทียมกับผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ ทั้งยังสามารถออกเสียงได้เท่าเทียมกับผู้ที่มาจากการเลือกตั้งโดยคน 42 ล้านคน นี่ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย คน 4-5 คนมีอำนาจเท่าคนกว่า 42,000,000 คน รวมทั้งการกำหนดให้เลือกตั้งวุฒิสมาชิกจังหวัดละ 1 คน ทั้งๆ ที่จังหวัดเล็กๆ อย่างระนองมีพลเมืองที่น้อยกว่ากรุงเทพมหานครหลายสิบเท่า แต่กรุงเทพมหานครกับระนองกลับมีวุฒิสมาชิกได้จังหวัดละ 1 คนเท่ากัน ภาษีอากรของคนกรุงเทพมหานครนั้นมีมูลค่าถึง 50% ของรายได้รัฐ แต่กลับมีสิทธิเท่ากับจังหวัดทั่วไปจังหวัดหนึ่งเท่านั้น

หรือองค์กรอิสระทั้งหลายที่ทำหน้าที่กันอยู่ขณะนี้นั้น ก็ใช้วิธีการคัดสรร เลือกสรรเข้ามา บางคน บางองค์กรไม่เคยรู้เรื่องการเมือง ไม่เคยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง กลับเข้ามามีส่วนสำคัญในการคัดสรรบุคคลต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่สำคัญควบคุมดูแลนักการเมืองได้อย่างไร

ในขณะที่นักการเมืองมาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะให้ลงเลือกตั้งบ้างก็เฉไฉ อ้างกันไปว่ากลัวการซื้อเสียง ดร.อุกฤษ ได้ยกตัวอย่างข้าราชการระดับอธิบดีคนหนึ่งในกรมการประกันภัย เคยออกระเบียบที่เอกชนแจ้งให้ทราบว่าใช้บังคับไม่ได้ เป็นเรื่องเพ้อฝัน ข้าราชการผู้นั้นบอกว่าต้องได้ เพราะข้าราชการกำหนดแล้ว ต่อมาออกไปเป็นที่ปรึกษาบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งก็ยอมรับว่าตนเองคิดผิด ทำผิด เพราะระเบียบนั้นใช้ไม่ได้จริงๆ

ดร.อุกฤษ ได้เตือนสติกลุ่มอดีตข้าราชการและบุคคลที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ ทั้ง คตส. คตง. สตง. ศาลฎีกา ฯลฯ ไว้ว่า หากจะเกี่ยวข้องกับการตัดสินประการใดเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง ต้องรู้จักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยให้ถ่องแท้เสียก่อน ไม่ใช่เหมือนปัจจุบันที่ทำตนเป็นพวกนั่งดูอยู่ริมตลิ่ง ตำหนิปลาต่างๆ ที่ว่ายอยู่ว่าใช้ไม่ได้ ไม่มีระเบียบ คอยช้อนปลาที่ตัวเองไม่ชอบไปไว้บ่ออื่น กระทำการตามใจและความรู้สึกของตัวเองโดยไม่สนใจเสียงของประชาชน

ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นั้นถือว่าต้องทำตามหลักนิติธรรม การพิจารณาคดีความต้องรวดเร็ว เที่ยงธรรม ยุติธรรม ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงกลับปรากฏว่า หากผู้ใดเป็นปฏิปักษ์ต่อพวกของตน ก็กำหนดไว้ในความคิดของพวกตนเลยว่า ทุกคนเป็นคนทุจริตไว้ล่วงหน้าแต่ต้น แล้วอ้างแบบไร้ยางอายว่าทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่มันขัดต่อกฎหมายและหลักนิติธรรมสากลอย่างแจ่มชัด และยังต่ออายุให้กับคณะกรรมการกลุ่มนั้นอีกด้วย