WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, June 11, 2008

ความขัดแย้งและความลงตัวกรณีบันดาลใจจากอดีตรัฐมนตรี จักรภพ เพ็ญแข

ต่อไปนี้ผู้เขียนขอเสนอความหมายของคำว่า นักวิชาการ ในอุดมคติของผู้เขียนเอง คำว่าอุดมคตินี้มีความเป็นส่วนตัวมาก เพราะไม่ได้หมายถึงอุดมการณ์ในลักษณะที่มีการยอมรับนับถือร่วมกัน แต่ถ้าหากมีข้อใดที่อ่านแล้วผู้อ่านยินดีจะนำไปยึดถือเป็นอุดมคติของตน ผู้เขียนก็ยินดีด้วย

ความหมายของคำว่านักวิชาการอาจมีการมองได้ในหลายมุม มุมใดมุมหนึ่งที่ผู้เขียนตั้งใจนำเสนอต่อไปนี้ เป็นอีกมุมมองที่จะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ยอมรับ ด้วยมาตรฐานของใครที่ไหนก็ได้ แต่ไม่ควรถูกล้อมกรอบด้วยมาตรฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง และออกมาประกาศการล้อมกรอบว่าเป็นมุมมองอันตราย

ในทางวิชาการ การประกาศเช่นนั้นย่อมหมายถึงความไม่เป็นวิชาการด้วย เพราะเท่ากับไปจำกัดเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจน

ในขณะเดียวกัน ผู้ประกาศก็แสดงมาตรฐานอย่างใดอย่างหนึ่งไปพร้อมกัน เพราะคำว่าอันตรายนั้นย่อมแสดงความหมายในตัวเองว่าอันตรายจากอะไร เช่นว่า ยาอันตราย ก็ต้องมีมาตรฐานวัดความอันตรายนั้นว่าเกินขีดของมาตรฐานใดหรือจึงเรียกว่าอันตราย และอันตรายสำหรับสิ่งใด กระเพาะปัสสาวะ หรือว่าหัวใจ ดังนี้เป็นต้น

ที่เริ่มเรื่องว่า จะพูดถึงความหมายของ นักวิชาการในอุดมคติ เพราะมีความเป็นส่วนตัวมากกว่าหนึ่ง อีกประการหนึ่งเห็นว่าคงมีผู้นิยามความหมายของคำว่านักวิชาการโดยทฤษฎีต่างๆ มากมายอยู่แล้ว ดังนั้น ในที่นี้จึงขีดเส้นไว้ว่าเป็นของตนเอง เพื่อจะได้ไม่เกี่ยวข้องอ้างอิงกับผู้ใดให้เป็นที่สงสัยในที่มาที่ไป

นี่ก็คือความเป็นวิชาการอย่างหนึ่งตามความหมายทั่วไป

กล่าวอย่างสั้นคือ การจะสร้างความรู้ใหม่ก็ต้องอ้างอิงความรู้เก่า สำนวนนักวิชาการเรียกว่า ทบทวนวรรณกรรม ทำนองว่าเขาพูดกันมาแล้วอย่างไร และเราจะพูดต่อไปอย่างไรในเรื่องนี้ถึงจะดี

จะว่าไปแล้ว นี่เป็นกรอบอันจำกัดหนึ่งในการทำงานของนักวิชาการ ทำให้คนบางประเภทที่รักอิสระ นึกอยากจะพูดอะไรก็พูด ไม่อยากเป็นนักวิชาการ เพราะหากไม่ชอบการค้นคว้าก็พูดอะไรไม่ถนัดปาก

ดังนั้น ทำให้นักวิชาการที่ขี้เกียจกลายเป็นใบ้ หรือมือหงิกง่อย คือพูดไม่ได้ เขียนไม่ออก ซึ่งก็มีอยู่ในโลกวิชาการจำนวนมาก เพราะอยู่ได้ด้วยการพูดในสิ่งที่รู้ (อันมีอยู่อย่างจำกัด) แต่ถ้าบังเอิญสิ่งที่รู้นั้นมีคนรู้น้อย เรียนรู้ได้ยาก หรือไม่ค่อยมีใครอยากเรียนรู้ ก็กลายเป็นผู้รู้ยืนอยู่อย่างสง่างามได้พอสมควรในวงวิชาการ โดยเฉพาะที่ไม่ใช่ทางสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ ที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งกว้างขวางอยู่ตลอดเวลา

แต่ในความเป็นจริง บางคนก็มีความเป็นนักวิชาการอยู่โดยธรรมชาติคือ ความช่างอยากรู้ ช่างคิด ช่างจดจำ และสามารถประมวลไว้ในหัวตัวเองได้ และอย่างทันท่วงทีในทุกสถานการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตตนและสังคมรอบข้าง คนเช่นนี้ก็เป็นนักวิชาการอยู่โดยธรรมดาวิสัย ผลงานที่ออกมาก็อาจจะปรากฏในรูปของการค้าขายเก่ง หรือการบริหารจัดการเก่ง เป็นต้น แทนที่จะเป็นข้อเขียนเชิงวิชาการ งานวิจัย หรือการอภิปราย-โต้แย้งหาหลักฐานอะไรกับนักวิชาการด้วยกันในวงเสวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาไม่ใช่ผู้สอน ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งบอกอะไรที่ตนเองคิดได้นั้น ให้ใครที่ไหนทราบ เพียงแต่แสดงผลงานในทางปฏิบัติกับงานอาชีพของตนเองเท่านั้น

เช่น นักร้องหรือนักดนตรีบางคนอาจมีวิธีเฉพาะของตนเองที่ทำให้ร้องเพลงหรือบรรเลงดนตรีได้จับใจคน ซึ่งมีกระบวนให้ต้องเรียนรู้มากมาย เพราะสะสมมาจากความช่างอยากรู้ ช่างคิด ช่างจดจำ และสามารถประมวลไว้ในหัวตัวเองได้ ตามระยะเวลาที่ตนเองได้ใช้ชีวิตคลุกคลีกับสิ่งนั้น ซึ่งมีนักวิชาการยอมรับว่าดีกว่าการศึกษาเพียงแค่จากตำราเสียด้วยซ้ำไป เพราะเป็นความรู้จริงที่ได้จากการใช้ชีวิตปฏิบัติ

จะว่าไปแล้ว ความหมายอันเป็นแก่นของนักวิชาการ จึงน่าจะได้แก่ ผู้เรียนรู้อยู่กับความจริงอันเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต หรืออาจจะไม่เป็นประโยชน์ในเชิงนั้นเสียทีเดียวก็ได้ แต่เป็นความน่าสนใจ นักวิชาการในสาขาวิชาต่างๆ ก็เรียนรู้ที่จะแสวงหาความจริงในเรื่องราวที่ตนสนใจได้ และอาจเปิดโลกความรู้ให้กว้างขวาง ซึ่งลักษณะอันนี้ก็อาจปรากฏอย่างเป็นธรรมชาติได้ในตัวบุคคลอื่นๆ ในหลายแวดวงดังกล่าวมาแล้ว

แต่ความเป็นนักวิชาการอาชีพ ต้องเขียน ต้องบอก หรือต้องแจ้งให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงการทำงานของตนเอง ตัวอย่างเช่น ในรูปของบทความวิชาการ หรืองานวิจัยต่างๆ ตลอดจนการร่วมวงเสวนาในการสัมมนาทางวิชาการ ดังนี้เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการที่แสวงหาความรู้อันเกี่ยวข้องกับมนุษย์และสังคม

อย่างทุกวันนี้ บ้านเมืองเหมือนอยู่ในภาวะมีมุมแดง มุมน้ำเงิน กลายเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ให้นักวิชาการด้านมนุษย์และสังคมได้จดจ้องจับตามองความเคลื่อนไหวเป็นไป

บางคนออกมาชี้ผิดชี้ถูก ใครชี้ได้น่าฟังไม่น่าฟังอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สาธารณชนพึงเลือกรับฟังเอาเอง ภาวะมุมแดง มุมน้ำเงิน เปิดโอกาสให้นักวิชาการเป็นเหมือนกรรมการออกมาตัดสิน เพราะผู้ดูไม่ใช่มีเพียงฝ่ายมุมแดง มุมน้ำเงินเท่านั้น ในกรณีนี้อาจมีผู้ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเลยก็เป็นได้ เพราะค่าที่ว่าไม่พอใจลีลาการชกต่อยของคู่ต่อสู้ที่หวังปกป้องตัวตนอย่างหน้าดำหน้าแดง ซึ่งตามปกติมักเป็นมวยนอกเวที ที่ชกต่อยกันตามร้านเหล้า หรือกล่าวกันเป็นสำนวนดั้งเดิมว่า มวยวัด เพราะกล้าแสดงอาการผิดกติกาออกมา แต่นี่กลับมาปรากฏบนเวทีที่มีการยอมรับกันทั่วไป ซ้ำร้ายกรรมการยังไปมีส่วนได้เสียกับผลประโยชน์ของฝ่ายสนับสนุนคู่ต่อสู้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียด้วย

ที่ผ่านมา และจนถึงวันนี้ ผู้สนับสนุนที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังก็มักลอยตัวหายไปเสมอ เมื่อปรากฏว่ามีผลแตกหักในที่สุด และตนได้เป็นฝ่ายสูญเสียประโยชน์ไปแล้ว แม้เป็นฝ่ายมีชัยที่ได้รับผลประโยชน์ก็มักปฏิเสธในความรับผิดชอบอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีทางเลยที่จะอำนวยประโยชน์ให้ครอบคลุมไปถึงฝ่ายตรงข้าม

ส่วนคนที่ออกมาต่อสู้กันอย่างสาหัสอยู่บนเวทีแห่งการแสดงออกนั้น บ้างบาดเจ็บ บ้างพิการ หรือล้มหายตายจากไปบ้าง ล้วนแล้วแต่เป็นประชาชนตาดำดำด้วยกันทั้งนั้น เพียงแค่ถูกจัดตั้งให้เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอมา ประชาชนที่หันหน้าเข้าปะทะกันอย่างไร้สติ จะมีเครื่องแบบหรือไม่มีเครื่องแบบก็ตาม มีค่าไม่ต่างอะไรจากอาวุธเลวที่รอการบิ่นหัก

กรรมการที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ต่างก็เลือกฝักใฝ่ในฝ่ายต่างๆ กันไป ภาพของกิจกรรมบนเวทีนี้จึงออกมาเป็นภาพที่ไม่น่าดูเลย เพราะจะมีก็แต่ผู้ไม่เกี่ยวข้องผลประโยชน์เท่านั้นจึงจะยืนมองดูอยู่ด้วยใจเป็นธรรม อยากเห็นบ้านเมืองสงบ และว่างเว้นจากความขัดแย้งรุนแรงเสียที ซึ่งคนกลุ่มท้ายนี้มักถูกกำหนดให้อยู่นิ่งๆ กลายเป็นผู้ไม่เกี่ยว ทั้งที่ก็เกี่ยวอยู่เต็มประตูในฐานะผู้อยู่ในสังคม เป็นผู้เดือดร้อน และเป็นคนส่วนใหญ่ เพียงแต่ไม่ฝักใฝ่ในประโยชน์หรืออำนาจข้างใด

นักวิชาการที่จะออกมาเป็นกรรมการผู้ตัดสิน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแยกตนออกจากผลประโยชน์ใดๆ เพราะเมื่อเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ ก็ไม่ใช่นักวิชาการ ในฐานะที่ไม่อยู่กับการแสวงหาความจริง หรือการบอกเล่าความจริงอีกต่อไป

ในปัจจุบันสังเกตให้ดีจะเห็นว่า มีนักวิชาการที่แยกไม่ออกจากผลประโยชน์ ออกมาแสดงแนวคิดทางการเมืองในวาระต่างๆ มากมาย บ้างสามารถกำหนดวาระขึ้นมาเอง โดยมีผลกระทบต่อสังคม ในกรณีเช่นนี้ กลุ่มผลประโยชน์จึงอาจนำมาใช้เป็นปากเป็นเสียงได้ โดยกำหนดให้นักวิชาการพูดไปในทางที่เป็นผลประโยชน์สำหรับฝ่ายตน นักวิชาการที่ขายตัวให้แก่อามิสสินจ้างจึงเท่ากับสูญเสียความเป็นนักวิชาการไปโดยสิ้นเชิง

ที่น่าเวทนากว่านั้นคือ คำพูดต่างๆ จะปราศจากความหนักแน่นในเชิงวิชาการ ทั้งที่ยังเป็นนักวิชาการอยู่โดยสภาพ และถึงแม้ว่าจะมีโอกาสได้เข้าไปเป็นนักการเมือง ก็มีค่าไม่ต่างจากนักการเมืองที่แสดงความเห็นจากปากแบบแสวงหาประโยชน์เข้าตน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าไม่อาจปรับเปลี่ยนสภาพกลับมาใช้ความเป็นนักวิชาการที่เคยมีอยู่เดิมของตนเอง

แต่การเป็นนักวิชาการด้วยหัวใจแท้จริงในเวทีการเมือง (ที่กลายเป็นเวทีของการแสวงหาผลประโยชน์) คงเป็นเรื่องยากยิ่ง หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลยตามคำกล่าวที่ว่า นักการเมืองย่อมไม่ใช่นักวิชาการ หรือนักวิชาการย่อมไม่ใช่นักการเมือง

มีตัวอย่างในทางกลับกันนี้ นักวิชาการซึ่งได้เข้าไปเป็นนักการเมือง ได้เผลอไปใช้วิธีคิดและแสดงออกอย่างนักวิชาการในเวทีการเมือง ที่ผ่านมาก็มีหลายกรณีแล้ว แต่ล่าสุดนี้เกิดขึ้นอีกกับอดีตรัฐมนตรี จักรภพ เพ็ญแข ที่เผชิญและปะทะกับสถานการณ์นี้อย่างชัดเจน

ในที่สุดต้องออกจากการเป็นรัฐมนตรีไป ครั้งหนึ่งท่านกล่าวว่า ในการปฏิบัติงานบางครั้งได้เผลอตัวใช้วิธีคิดและแสดงออกอย่างนักวิชาการ ทำให้เป็นผลเสียในทางนักการเมือง การกล่าวเช่นนี้อาจจะโดยจริงใจ (หรือไม่ก็ตาม) เมื่อกล่าวในเวทีการเมือง ย่อมมีทั้งคนฟังที่เชื่อและไม่เชื่อ ว่าคำกล่าวนั้นจะเป็นการพูดจากหัวใจของนักวิชาการ หรือว่าอาจพูดจากปากของนักการเมืองที่แสวงหาประโยชน์ในสถานการณ์นั้น โดยแอบอิงกับสภาพนักวิชาการที่ตนเคยมีบทบาทให้เห็น

ดูเหมือนจะเป็นจริงอย่างว่า จะเป็นนก หรือเป็นหนู จะอยู่ในรูหรือบนฟ้า ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นนั้นหรือ นี่เป็นเรื่องที่ต้องอภิปรายกันต่อไป ทำไมข้างต้นผู้เขียนจึงเกริ่นว่าคนแวดวงอื่นนอกวงวิชาการก็มีความเป็นนักวิชาการได้ เช่นเดียวกับนักวิชาการ แล้วนักการเมืองเล่าควรจะมีหัวใจเป็นนักวิชาการด้วยหรือไม่

ถ้าหากศาสตร์ต่างๆ ที่รังสรรค์กันขึ้นมาโดยนักวิชาการสาขาต่างๆ ล้วนเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ความเกี่ยวข้องของนักวิชาการกับการเมืองก็เป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ เพราะในเมื่อการเมืองย่อมเกี่ยวข้องกับการจัดสรรแบ่งปันประโยชน์ให้แก่มนุษย์ในสังคม

ซึ่งถ้าหากจะให้ดีแล้วไซร้ ก็ควรที่จะนำแนวคิดหรือผลงานจากการแสวงหาด้วยความวิริยะของนักวิชาการ มากำกับผสานในลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ใช่แยกส่วน หรือคละเคล้าเข้าหากันไม่ได้เลย อย่างที่เป็นอยู่นี้ ซึ่งได้สะท้อนออกมาชัดเจนแล้วว่า การเมืองไทยไร้มาตรฐาน ไม่ยืนอยู่บนความจริงและความถูกต้องแม้สักส่วนเสี้ยวเดียว เพราะว่าไม่ยึดกติกา ไม่ถือธรรมะ-ไม่เอากรรมการ ไม่ใส่ใจหาหลักฐานและความเป็นจริงมาพูดจากันอย่างเป็นวิชาการ เพื่อสร้างสังคมตามที่ควรจะเป็นกันจริงๆ เสียที

ผู้ใดไม่เลือกข้าง ไม่อยู่ในมุมแดง-มุมน้ำเงิน คือ ผู้ไม่มีที่จะยืนอยู่ในสังคมนี้ หรือยืนอยู่อย่างไม่มีชีวิต มีสิทธิ์ยืนดูได้ แต่ยากที่จะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวใดๆ จะอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่แน่ใจนักหรอกว่า ในระหว่างชมดูการต่อสู้อันเข้มข้นด้วยกิเลสของทั้ง 2 ฝ่าย ผู้ชมดูอยู่อย่างสงบเสมอมา จะอดทนกันเรื่อยไปได้อย่างไม่มีวันที่สิ้นสุด

วิภาพ คัญทัพ