เปิดสภานัดแรกคึกคัก คปพร. บุกยื่นรายชื่อหนุนแก้ไข รธน. เพิ่มเติมอีก 5.6 หมื่นชื่อ เสียงสนับสนุนทะลุ 2 แสน พร้อมเสนอแก้ไข ม.8 พ.ร.บ.ประชามติ ให้ยึดเสียงข้างมากจากผู้มาใช้สิทธิแทนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ขณะที่ พปช. จับได้ไล่ทัน ปชป. แฝงเล่ห์กล การตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาการใช้ รธน.50 ด้าน "เฉลิม” ระบุเห็นด้วย ปชป. ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดีกว่าไปทำเสียงดังอยู่ข้างถนน
ในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ นัดแรก (11 มิ.ย.) บรรยากาศเริ่มคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า โดยก่อนเปิดการประชุม คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) และประชาชนประมาณกว่า 50 คน นำโดย นพ.เหวง โตจิราการ ได้เดินทางมายังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือเพิ่มเติมรายชื่อประชาชนต่อญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 5.6 หมื่นรายชื่อ จากเดิมที่ได้ยื่นไปแล้ว 150,000 รายชื่อ พร้อมทั้งยังขอสนับสนุนให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2551 ที่ได้บรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาแล้วให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดย นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาได้ออกมารับรายชื่อด้วยตัวเอง
นพ.เหวง กล่าวว่า กลุ่ม คปพร.ได้ทำการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพิ่มเติมขึ้นมาได้อีก 56,000 รายชื่อ ซึ่งเมื่อรวมกับรายชื่อที่ยื่นในครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จะมีรายชื่อรวมแล้วทั้งสิ้น 210,000 รายชื่อ ในการขอยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ตามมาตรา 291 (1)
นอกจากนี้ คปพร. ยังขอสนับสนุนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2551ที่สภากำลังจะดำเนินการ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วด้วยความรอบคอบ เพื่อที่ประชาชนจะได้ใช้กฎหมายนี้ ออกความเห็นว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ และเพื่อหยุดยั้งความพยายามของผู้ไม่ปรารถนาดีที่กำลังสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นกับสังคม ซึ่งอาจนำไปสู่การรัฐประหารจนสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างยิ่ง
นพ.เหวง กล่าวอีกว่า คปพร. ยังขอให้สภาแก้ไขมาตรา 8 ของร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ในวรรคแรกด้วย โดยเปลี่ยนจากการใช้ข้อยุติเสียงข้างมากของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด มาเป็นการใช้ข้อยุติด้วยเสียงข้างมากของจำนวนประชาชนที่มาออกเสียงทั้งหมดในขณะนั้นเป็นเสียงชี้ขาดแทน เช่นเดียวกับในวรรคสอง ก็ขอให้แก้ไขเป็นการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี คณะบุคคลหรือคณะใด ให้ถือเอาเสียงข้างมากธรรมดาของจำนวนประชาชนที่มาออกเสียงทั้งหมดเป็นผลของการลงประชามติ
ขณะที่ประธานรัฐสภา ที่ออกมารับรายชื่อดังกล่าวด้วยตนเอง รับปากว่า จะเร่งดำเนินการตรวจสอบตามระเบียบ โดยจะมอบหมายให้กองประชุมทำหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อทั้งหมด ส่วนรายชื่อที่กลุ่ม คปพร.ได้ยื่นครั้งแรกนั้น ขณะนี้ได้มีการตรวจสอบใกล้แล้วเสร็จแล้ว ส่วนมาตรา 8 นั้น นายชัย กล่าวว่า หากที่ประชุมสภาสมัยวิสามัญเห็นควรว่า น่าจะหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการอภิปรายตนก็พร้อมที่จะทำตามหน้าที่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมสภาสมัยวิสามัญครั้งนี้ มีเรื่องด่วนที่บรรจุเป็นวาระต้องพิจารณาประกอบด้วย ร่าง พ.รบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เสนอโดยศาลฎีกา ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้เสนอ ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมคณะ เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ค้างพิจารณาจากการประชุมสมัยวิสามัญทั่วไป อาทิ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานขององค์กรโทรคมนาคมทางดาวเทียม ที่นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชาชน กับคณะเสนอ และวาระการเลือกตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา ที่ค้างมาจากการประชุมสภา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551
ทั้งนี้ เมื่อนายชัย ขึ้นนั่งบัลลังก์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวกับสมาชิกว่า "ผมขอดำเนินการตามระเบียบวาระการประชุม พิจารณาเรื่องเร่งด่วนที่หนึ่ง คือ ร่างพ.ร.บ.คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ ที่จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จในวันที่ 27 สิงหาคม และร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ที่ต้องพิจาณาให้แล้วเสร็จในวันที่ 30 กันยายนนี้
ขณะที่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2552 จะอยู่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการประชุม โดยอยู่ระหว่างวันที่ 25-27 มิถุนายน
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วง 12.00 น. นายชัย ได้กล่าวถึงกรณีวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ คนที่ 1 และฝ่ายกฎหมายพิจารณาความถูกต้อง ส่วนจะนำญัตติมาพิจารณาร่วมกันหรือแยกกันคงต้องดูความเหมาะสม แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นญัตติจึงยังบอกไม่ได้ แต่ขอให้สบายใจได้ว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย อย่างเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ก็ไม่เปิดประชุม ไม่มีการดึงดันทำผิดระเบียบแน่นอน
ต่อข้อถามถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ นายชัย กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า รัฐบาลควรจะยื่นญัตติเพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 179 เพื่อให้มีการแสดงความคิดเห็น และรัฐบาลเองจะได้บอกกล่าวต่อสภาและสังคมว่าได้ทำงานอะไรไปแล้ว มีผลงานอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเปิดโอกาสให้ ส.ส.ได้ซักถามในประเด็นที่สงสัย ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพของรัฐบาลแต่อย่างใด เพราะเป็นการอภิปรายที่ไม่มีการลงมติ
เมื่อถามถึงกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จะสามารถบรรจุเข้าวาระในสมัยประชุมวิสามัญนี้ได้หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ทุกอย่างมีระเบียบกฎเกณฑ์ ระยะเวลาอยู่ หากฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ต้องนำเรื่องยื่นให้รัฐบาล ซึ่งรัฐบาลมีเวลา 15 วัน ที่จะตอบกลับมา ซึ่งในช่วงนั้นก็ปิดสมัยประชุมพอดี
ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส. พรรคพลังประชาชน จ.มหาสารคาม ในฐานะคณะกรรมการประชาสัมพันธ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวระบุว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะไม่จัดการออกเสียงประชามติแล้ว เพราะต้องการปล่อยให้เป็นเรื่องของสภา ว่า นายกรัฐมนตรีกำลังเข้าใจผิด เพราะอาจไม่ได้ดูรายละเอียดของญัตติด่วนการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาการใช้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ว่ามีเล่ห์อะไรซ่อนอยู่บ้าง
ซึ่งพรรคพลังประชาชนมีโอกาสพิจารณาญัตติดังกล่าวของพรรคประชาธิปัตย์แล้วพบว่า ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาว่ามีประเด็นใดควรที่จะแก้ไขบ้าง แต่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาตรวจสอบจับผิดว่าในรัฐธรรมนูญ 2550 ประเด็นใดมีผล ไม่มีผลทางกฎหมาย และมีประเด็นใดบ้างที่องค์กรและรัฐบาลละเลยในการออกกฎหมายลูก ซึ่งกรณีนี้จะทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญในหลายมาตรายังไม่มีการนำมาใช้
อย่างไรก็ตาม ทราบมาว่า เรื่องการตั้งกมธ.วิสามัญศึกษานี้ คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) จะหารือกัน เพื่อขอให้พรรคประชาธิปัตย์แก้ไขญัตติการตั้งกมธ.วิสามัญ เพื่อให้สอดคล้องกัน ทั้งนี้ หากพรรคประชาธิปัตย์ยังคงดึงดันที่จะยื่นญัตตินี้ เชื่อได้ว่าญัตติดังกล่าวจะไม่ผ่านการพิจารณาในวาระแรกอย่างแน่นอน เพราะส.ส.ส่วนใหญ่คงไม่มีใครเอาด้วย นายสุทิน กล่าว และว่า
“เข้าใจว่านายกฯ ไม่ได้ดูละเอียดที่ฝ่ายค้านเสนอตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ และท่านก็ใจซื่อคิดว่าจะเป็นไปตามนั้น คิดไปว่าถ้าสภาตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อฟังเสียงทุกฝ่ายแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะทำประชามติ แต่ที่จริงไม่ใช่ เพราะพรรคประชาธิปัตย์กำลังเล่นเล่ห์การเมือง เพื่อหวังจับผิดรัฐบาลและทำให้เกิดกระแสโจมตีรัฐบาลอีก ทั้งๆ ที่พรรคพลังประชาชนเห็นด้วยว่า การทำประชามติเพื่อรับฟังเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นทางออกที่จะยุติความขัดแย้ง ซึ่งล่าสุดฝ่ายกฎหมายรัฐบาลและคณะทำงานฝ่ายกฎหมายในพรรคพลังประชาชน กำลังหารือถึงประเด็นดังกล่าวให้นายกฯ รับทราบ และคาดว่าพรรคพลังประชาชนจะมีมติไม่เห็นด้วยกับร่างญัตติศึกษาการบังคับใช้ รธน.ที่พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอต่อสภาแน่” นายสุทิน กล่าว
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ฝ่ายค้านจะทำเรื่องดังกล่าว และเป็นโอกาสของรัฐบาลจะได้ชี้แจงข้อเท็จจริง เวลาฝ่ายค้านอภิปรายรัฐบาลก็ตอบ และจะเป็นตัวอย่างให้กลุ่มพันธมิตรฯได้สำนึกว่า สิ่งที่ทำไปกีดขวางการจราจรหรือไปทำอย่างอื่นนอกสภาไม่ถูกต้อง เพราะระบอบประชาธิปไตยต้องว่ากันในรัฐสภา รวมทั้ง ส.ว.ที่ยื่นญัตติก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ไอ้ที่ไปแป๊นๆ นอกสภาไม่เข้าท่า
ต่อข้อถามว่ามั่นใจในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เพราะนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย แสดงท่าทีว่าจะทบทวนการร่วมรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่มีหรอก รัฐบาลมีความสามัคคี ตนเคยบอกตลอด รัฐบาลชุดนี้เหมือนคอนกรีตเสริมเหล็ก ยิ่งฝนฟ้าตกเยอะๆ ยิ่งแข็งแรงผสมผสานลงตัวปึกเลย
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของวิปฝ่ายค้าน ได้ร่างหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา ตามมาตรา 179 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้านจะนำ ส.ส. จำนวนหนึ่งไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบ ในเวลา 15.00 น. โดยในหนังสือระบุว่า เนื่องจากขณะนี้เกิดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ราคาน้ำมันแพง เศรษฐกิจตกต่ำ เกิดปัญหาความไม่สงบ สังคมเกิดความขัดแย้ง จนอาจจะทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย
รวมถึงรัฐบาลบริหารประเทศไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น จึงอยากให้คณะรัฐมนตรีได้ชี้แจงปัญหาต่างๆ ต่อที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น เพื่อลดการเผชิญหน้าของกลุ่มต่างๆ ในสังคม
โดยนายสาทิตย์เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่ประชุม ส.ส. ของพรรคได้ยกเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจขึ้นมาหารือ โดยมีหลักการว่า การที่จะตัดสินใจอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับข้อมูล ซึ่งที่ประชุมมีมติขอเวลาอีก 2 วันที่จะหารือกับผู้มีข้อมูล หลังจากนั้นจึงจะตัดสินใจว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องใด เมื่อใด อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นพบว่ามีข้อมูลที่จะใช้ในการอภิปรายได้ราว 2-3 กระทรวง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคนใดบ้างนั้น ขึ้นอยู่กับข้อมูลซึ่งต้องมีการพูดคุยกันภายในพรรคก่อน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรา 179 ในการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้มี 61 ส.ว. ได้ขอใช้สิทธิดังกล่าวยื่นญัตติต่อประธานวุฒิสภาไปแล้ว โดยที่ประชุมมอบหมายให้วิปฝ่ายค้านทำหนังสือแจ้งต่อรัฐบาล
ด้าน นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส. สัดส่วน พรรคพลังประชาชน กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 179 เพื่อให้ ส.ว. และ ส.ส. เปิดอภิปรายร่วมกันว่า การที่มีการเสนออภิปรายรัฐบาลนั้น พรรคไม่ได้วิตกกังวล แต่อยากเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์อย่าเพิ่งยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปพร้อมกับ ส.ว. ควรรอให้ ส.ว. อภิปรายจบก่อน จากนั้นทางพรรคประชาธิปัตย์จะยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเลยก็ได้
“ถ้าเปิดให้อภิปรายร่วมกัน จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสนอเกมสอดคล้องกับ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาจากรัฐธรรมนูญปี 50 ของ คมช. ผมอยากให้ ส.ว.ได้แสดงตัวว่า จะรับใช้ คมช.หรือประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เปรียบเทียบว่า คนที่ถูกแต่งตั้งจาก คมช.เป็นอย่างไรและต้องการผู้แทนที่มาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง” นายสุนัยกล่าว
นอกจากนี้ นายสุนัย ยังกล่าวถึงท่าทีการทำประชามติของรัฐบาลว่า ขณะนี้ท่าทียังไม่สรุปแน่นอน แต่ยืนยันว่า การทำประชามติเป็นเสียงสวรรค์ เป็นเรื่องที่ถูกต้อง การชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคือ ตัวกระตุ้นที่แสดงให้เห็นว่าต้องทำประชามติ