ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างในรายละเอียดของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญตัวแทนทั้งจากฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลมาหารือกันเพื่อหาข้อยุติที่เห็นพ้องกันทุกฝ่าย
โดยคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ประกอบด้วย นายวิทยา บุรณศิริ รองประธานวิปรัฐบาล และ นายสามารถ แก้วมีชัย เลขานุการวิปรัฐบาล และในส่วนของคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) มี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน นายวิทยา แก้วภารดัย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
หลังการหารือกัน ทุกฝ่ายต่างเห็นชอบในหลักการที่จะให้มีการเสนอญัตติเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
รวมทั้งยังมีการกำหนดสัดส่วนกรรมาธิการวิสามัญ ไว้ 60 คน เป็นสัดส่วนของพรรคพลังประชาชน 29 คน พรรคประชาธิปัตย์ 21 คน พรรคชาติไทย 4 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 3 คน ส่วนพรรคการเมืองที่เหลือจะมีตัวแทนพรรคละ 1 คน โดยเปิดทางให้แต่ละพรรคนำคนนอกเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการได้นั้น
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 10 มิถุยายน ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์กลับมีการเสนอญัตติด่วนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการใช้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยเนื้อหาสาระยังคงเป็นการปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งผิดไปจากที่มีการคุยกันว่าจะตั้งกรรมาธิการร่วมกันศึกษาแนวทางในการแก้ไข
โดย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) อ้างว่า การเสนอญัตติตั้งกรรมาธิ การวิสามัญเพื่อมาศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ของแต่ละพรรคการเมืองนั้น ส่วนใหญ่มีเนื้อหาที่คล้ายกัน ยกเว้นแต่พรรคพลังประชาชน ที่มีการเพิ่มเติมว่า การศึกษาดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
พร้อมทั้งสร้างเงื่อนไขขึ้นมาอีกว่า คณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมาจะต้องพิจารณาศึกษาให้ครอบคลุม 3 เรื่อง คือ 1.ศึกษาปัญหาในการบังคับใช้และปัญหาในการปฏิบัติ 2.ศึกษากลไกและการออกกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และ 3.ศึกษาว่ามีหลักใดบ้างที่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย หรืออาจจะเสนอให้องค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง
รวมทั้งสัดส่วนคณะกรรมาธิการที่มีการตกลงกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้ นายสาทิตย์ ก็ระบุว่า พรรคฝ่ายค้านเห็นว่าควรจะแบ่งสัดส่วนให้กับบุคคลภายนอกเข้าร่วมด้วย เพราะเดิมรัฐบาลเสนอให้มีคณะกรรมาธิการ 60 คน โดยแบ่งสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมือง โดยไม่มีคนนอกเข้าร่วม ซึ่งหากอยากให้คนนอกเข้าร่วม พรรคการเมืองก็ต้องเฉือนสัดส่วนของตัวเองออกไป ซึ่งตรงนี้อาจทำให้มองได้ว่าคนที่มาจากสัดส่วนของพรรคพลังประชาชนเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาล และมองได้ว่าไม่มีความเป็นกลาง เหมือนกับคนที่มาจากฝ่ายค้านก็ได้
ดังนั้นหากมีการแบ่งสัดส่วนไว้สำหรับคนนอก ก็จะทำให้เกิดความสบายใจมากขึ้น ทำให้เกิดความหลากหลาย มีความเป็นกลาง และไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่ง นอกจากนี้ในการเลือกประธานคณะกรรมาธิการ ก็จะได้มีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น แทนที่จะเลือกเสียงข้างมาก หรือเลือกฝ่ายค้านมาเป็น
ซึ่งจะทำให้เกิดข้อครหาว่าไม่มีความเป็นกลาง ทางวิปฝ่ายค้านจึงขอเสนอให้ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯจัดประชุมร่วมกันระหว่างวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน เพื่อตกลงกันในเรื่องคณะกรรมาธิการ ซึ่งคาดว่าน่าจะประชุมร่วมกันได้ในวันศุกร์ที่ 13 มิถุนายนนี้ และคาดว่าวิปรัฐบาลน่าจะเห็นด้วย เพราะไม่ต้องมีการเฉือนกรรมาธิการในสัดส่วนของตัวเอง
นายสาทิตย์ กล่าวว่า สำหรับสัดส่วนของคณะกรรมาธิการที่เหมาะสมนั้น เดิมตกลงกันไว้ที่ 60 คน ซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสม หรือหากจะเพิ่มเป็น 70 คน ก็ไม่ถือว่าเยอะไป และเชื่อว่าการเสนอสัดส่วนคนนอกเข้ามานั้น จะไม่เกิดความยุ่งยาก เพราะอย่างไรการประชุมคณะกรรมาธิการที่จะตั้งขึ้นมานั้น ก็จะเริ่มได้ประมาณเดือนกรกฎาคม ดังนั้นเวลา 2 สัปดาห์ในการให้บุคคลภายนอกสมัครเข้ามาเป็นกรรมาธิการน่าจะเหมาะสม
ส่วนความเห็นส่วนตัวคิดว่า สัดส่วนของคนภายนอกน่าจะอยู่ที่ 20 คน หรือ 1 ใน 3 ของกรรมาธิการ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูตามความเหมาะสมว่า ได้บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญครบหรือไม่
ทั้งนี้เอกสารขอเสนอญัตติด่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการใช้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มีรายละเอียดดังนี้
“เนื่องจากปัจจุบันมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ซึ่งมีที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และทำการสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จ
โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ ได้มีบทบัญญัติและเจตนารมณ์ที่ก้าวหน้าในหลายเรื่อง จนถือว่าเป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทยก็ว่าได้ ทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ผ่านการทำประชามติจากประชาชนทั้งประเทศอีกด้วย โดยมีการลงประชามติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2550 มีผู้ออกเสียงประชามติทั่วประเทศอย่างมากมาย โดยมีเสียงเห็นชอบ 14 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 10 ล้านเสียง
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว รัฐสภาต้องมีการตรากฎหมายรองรับเพื่อทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญสมบูรณ์จำนวนหลายฉบับ ในขณะที่ได้มีข้อกังวลของหลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายการเมืองบางฝ่าย เกรงว่าบทบัญญัติบางประการของรัฐธรรมนูญ ทำให้ปฏิบัติหน้าที่มิได้เป็นการจำกัดบทบาทของตน บ้างก็วิตกกังวลว่ารัฐธรรมนูญทำให้เกิดความสับสนในบทบาทหน้าที่ บางส่วนได้มีการจัดรณรงค์เคลื่อนไหวคัดค้านและต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญ ที่มีที่มาโดยมิชอบ ในขณะที่ภาคประชาชนบางส่วนมองว่าสาระของรัฐธรรมนูญดีอยู่แล้ว ควรบังคับใช้ไปก่อน หากมีการเคลื่อนไหวแก้ไข
โดยมิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตนและพวกพ้อง ถือเป็นการทำที่ไม่สมควร และเห็นควรรณรงค์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ข้อวิพากษ์วิจารณ์และข้อกังวลเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการเมืองและกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศไทยในอนาคตได้ อีกทั้งยังมีบุคคล กลุ่มบุคคลอีกจำนวนหนึ่งพยายามปลูกฝังความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เป็นการต่อเนื่องเป็นระยะๆ
ท่าทีของการรณรงค์ที่มีความแตกต่างทางความคิดอย่างสิ้นเชิงนี้ อาจเป็นชนวนเหตุนำไปสู่ความแตกแยกในชาติ รวมถึงอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าทางการเมืองได้ ดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในประเทศได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และป้องกันความแตกแยกในชาติดังกล่าวจึงสมควรที่สภาผู้แทนราษฎร จะได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างฝ่ายการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร กับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม เช่น การเมืองภาคประชาชน นักวิชาการ องค์กรเอกชน ผู้สนใจ
โดยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการใช้ และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยมีองค์ประกอบจากทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพิจารณาศึกษาการใช้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เพื่อนำผลการศึกษาเสนอสภาผู้แทนราษฎรและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
จึงขอเสนอญัตติด่วนดังกล่าว มาตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาการใช้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ส่วนเหตุผลและรายละเอียดจะได้ชี้แจงในที่ประชุมสภาต่อไป
แหล่งข่าวระบุว่า ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างชัดแจ้ง และยังผิดไปจากที่มีการตกลงร่วมกันของทุกฝ่าย ชี้ให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุติปัญหาความขัดแย้ง
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 11 มิถุนายนนี้ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) จะเดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นเพิ่มเติมรายชื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 40,000 รายชื่อ จากที่ได้เคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้แล้ว 150,000 รายชื่อ พร้อมทั้งจะสนับสนุนให้รัฐสภาเร่งพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติ ด้วย
เพื่อไทย
Wednesday, June 11, 2008
ญัตติลวงโลกปชป.ป้องรธน.50 คปพร.ยื่นอีก4หมื่นชื่อหนุนแก้รธน.
“ประชาธิปัตย์” ออกอาการปกป้อง รธน.50 จนออกนอกหน้า ยื่นญัตติด่วนลวงโลก ขอตั้งกรรมาธิการศึกษาการใช้รัฐธรรมนูญเผด็จการ ผิดไปจากแนวทางที่เคยหารือร่วมกันทุกฝ่าย ในการศึกษาหาหนทางแก้ไขอย่างเหมาะสม แถมยังสร้างเงื่อนไข 3 ข้อ ส่อเจตนาเบี้ยวชัดเจน รวมไปถึงขอปรับโควตากรรมาธิการใหม่ ทั้งที่พูดกันรู้เรื่องไปหมดแล้ว ด้าน คปพร. หนุนสภาเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยื่นระลอก 2 อีก 4 หมื่นชื่อ พร้อมผลักดันให้เร่งพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติ