ในที่สุดเมื่อวานนี้ ศาลปกครองก็ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองค่าโดยสารรถเมล์ตามที่เคยประกาศให้ระงับการขึ้นราคาชั่วคราว จนเป็นเรื่องเป็นราวให้เกิดการประท้วงกันนั่นแหละ
ผู้ประกอบการคงโล่งใจ แต่ผู้โดยสารก็หน้าเหี่ยวเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหนึ่งละงานนี้
ทุกวันนี้ จากบ้านมาที่ทำงาน ข้าพเจ้าต้องต่อรถเมล์อย่างต่ำ 2 ต่อ ไปกลับรวม 4 ต่อ นั่นหมายความว่าวันๆ หนึ่งต้องเสียแบงก์เขียวๆ กับค่ารถเกือบ 2 ใบ นี่ถ้าวันไหนต้องขึ้นเรือด้วยก็บวกเพิ่มไปอีกนิดหน่อย
นับค่ารถที่ต้องจ่ายทั้งเดือน บวกกับช่วงนี้รัฐบาลมีโครงการช่วยเหลือคนยากจน ก็รู้สึก(อ)ยากจนขึ้นมาจริงๆ แล้วสิ
ความจนนี่เป็นปัญหาที่คู่กันมากับทุกประเทศนะขอรับ ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา ล้วนต้องมีคนยากจนและปัญหาความยากจนให้แก้ไข ยิ่งบางประเทศก็มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง เช่น คนรวยก็รวยมากๆ ติดอันดับโลก ใช้สิบชาติก็ยังไม่หมด แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนยากจนที่ไม่มีแม้ข้าวจะกิน และบางคนก็เป็นคนขยันทำงาน ไม่มีวันหยุดพัก แต่ก็ไม่เคยได้ลืมตาอ้าปากกับเขาสักที
ก็อย่างที่เรารู้กันนั่นแหละว่า ความขี้เกียจหรือขยันไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของความรวยหรือจน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น พ่อแม่พี่น้องเราที่ขยันสายตัวแทบขาด ก็คงร่ำรวยนอนอยู่บนกองเงินกองทองกันไปแล้วมิใช่หรือ
หลายครั้ง ความยากจนจึงเกิดจาก การกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม รายได้หรือสวัสดิการสังคมกระจุกอยู่กับคนบางกลุ่มมากเกินไป มีระบบจัดเก็บภาษีที่เก็บคนรวยกับคนจนในสัดส่วนเท่ากัน ทั้งที่โอกาสในการสร้างรายได้ไม่เท่ากัน
แม้แต่การพัฒนาของรัฐก็มีโอกาสนำความยากจนไปสู่ชุมชนหนึ่งๆ ที่เคยอยู่อาศัยกันอย่างอยู่ดีมีสุข (ที่สมัยนี้เรียกว่าพอเพียง) เช่น ชาวบ้านแห่งหนึ่งแถบลุ่มน้ำในภาคอีสาน ที่เคยมีชีวิตพึ่งพิงกับธรรมชาติในแถบนั้น เช่น จับปลา ปลูกพืช แต่อยู่มาวันหนึ่งเมื่อรัฐบาลลงไปสร้างเขื่อน
ท่ามกลางการคัดค้านของชาวบ้าน แต่ต้องพ่ายแพ้ให้แก่รัฐ และชาวบ้านต้องย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ปรากฏว่าชาวบ้านวัยกลางคนหรือคนแก่ กลายเป็นคนที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เพราะภูมิปัญญาแต่ดั้งเดิมไม่มีพื้นที่ให้ใช้แล้ว และจะให้ไปฝึกหรือเรียนอะไรตอนนี้ก็ยากเต็มทีแล้ว ต้องรอแต่เงินเดือนของลูกหลานที่เข้าไปเป็นลูกจ้างหรือทำงานโรงงานตามหัวเมืองใหญ่ ซึ่งก็ไม่ได้มากมายเลยเมื่อเทียบกับรายจ่ายที่ต้องมีทุกเดือน
นี่ไม่ใช่นิทาน แต่เป็นเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นกับหลายชุมชนในประเทศนี้ กลายเป็นปัญหาสังคมบ่มเพาะเรื้อรังสะสม และต้องให้รัฐมาดิ้นรนคิดโครงการ “สังคมสงเคราะห์” ซึ่งถ้าจะช่วยแบบนี้ ก็ต้องช่วยกันไม่จบไม่สิ้น เนื่องจากว่าชาวบ้านถูกตัดความสามารถในการพึ่งพิงตัวเองไปเสียแล้ว
คนบางคนที่ไม่(อ)ยากจน จึงต้องกลายมาเป็นยากจน ด้วยประการฉะนี้