ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดเวทีเสวนา ในหัวข้อเรื่อง “ตอบโจทย์...แก้รัฐธรรมนูญ” ที่โรงแรมแกรนด์อยุธยา เพื่อวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
โดยมีมุมมองและทรรศนะและมุมมองจากประสบการณ์อันทรงคุณค่า จากผู้ร่วมเวที ได้แก่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายเกษม สรศักดิ์เกษม รองเลขาธิการพรรคชาติไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อาจารย์ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากรทั้งสามคนต่างมีความคิดเห็นที่ตรงกันว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เนื่องจากที่ผ่านมารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าจะมีการผ่านการทำประชามติจากประชาชน แต่เป็นการลงประชามติที่ทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และไม่ว่าจะเป็น ทั้ง กกต. ก็ดี หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องต่างก็ออกมาชี้นำประชาชนว่าจะต้องมีการลงประชามติบ้านเมืองถึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ
* ต้องแก้ รธน. เพื่อประชาธิปไตย
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ตนมีความเห็นแตกต่างจากที่ทางสถาบันพระปกเกล้าได้เขียนไว้ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นประชาธิปไตย และมุ่งแก้ปัญหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยใน รัฐธรรมนูญ 2540 ตนมีความเห็นแตกต่างคือ วิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ ไม่ได้มีที่มาจากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาจาก 19 กันยายน 2549 เป็นวิกฤตการณ์ที่คนกลุ่มซึ่งไม่พอใจในการบริหารราชการของพรรคการเมืองรัฐบาล ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 แต่ตนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่รัฐธรรมนูญจะมีจุดบกพร่อง จากความไม่พอใจจนนำมาสู่การล้มระบอบประชาธิปไตย และผลที่ได้คือ การร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ถูกออกแบบมาให้การเมืองมีความอ่อนแอ รัฐบาลอ่อนแอ อำนาจที่แท้จริงก็ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน หากยังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปจะทำให้บ้านเมืองเกิดความเสียหายมากยิ่งขึ้น รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งก็จะอ่อนแอลงเรื่อยๆ เหมือนกัน และรัฐบาลก็จะไม่สามารถทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชนได้
ไม่เห็นด้วยถ้าหยุดแก้เพราะม็อบ
“สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่กระบวนการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลไม่ควรปล่อยการเมืองเดินไปถึงจุดนั้น ในเมื่อทุกคนได้เห็นปัญหาอย่างชัดเจนแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ก็ควรที่จะมีการแก้ไขอย่างเร็ว อันที่จริงผมมองว่าควรที่จะแก้ไขตั้งแต่เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว แต่เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนี้ ไม่ดำเนินไปตามกระบวนการ จนทำให้เกิดการถอนญัตติ”
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตนมองว่าการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีการโต้เถียงกันอยู่นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของอำนาจว่าใครมีอำนาจมากก็สามารถที่จะสั่งการได้มาก เพราะสุดท้ายรัฐสภาจะเป็นผู้ตัดสินอยู่ดี ควรจะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ และเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ประเด็นที่จะมาถกเถียงกันว่าเป็นการกระทำเพื่อปกป้อง หรือลบล้างความผิดให้กับใคร
เนื่องจากก่อนจะมีการพิจารณาจนจบสิ้นกระบวนการ เรื่องที่หลายท่านเป็นกังวลก็คงตัดสินไปตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่ที่จะแก้ไขเป็นการกระทำเพื่ออนาคต ที่จะเป็นผลกับอนาคตไม่สามารถมีผลย้อนหลังได้ เมื่อเทียบกับบางมาตราใน รัฐธรรมนูญ 2550 และตนไม่เห็นด้วยถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องยุติลง เพราะการออกมาเรียกร้องชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
* รัฐธรรมนูญ 50 ไม่ได้มาจากปชช.
ด้าน นายเกษม สรศักดิ์เกษม กล่าวว่า ตามอุดมการณ์ และจากประสบการณ์กว่า 30 ปีที่ตนอยู่ในวงการเมือง วิกฤติที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับคือ รัฐธรรมนูญ 2540 และ รัฐธรรมนูญ 2550 โดยมองว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง เพราะว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากประชาชนทั่วประเทศ แต่สภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ได้มีเส้นทางตามนั้น
นายเกษม กล่าวว่า ในส่วนของรัฐธรรมนูญ 2540 มีข้อที่ต้องแก้ไขเหมือนกันซึ่งจะเอามาแทน รัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งหมดก็คงไม่ได้ ส่วนบทเฉพาะกาลที่หลายคนสงสัยนั้นอยากบอกว่า บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ เป็นสิ่งที่เอาไว้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่เอาไว้แก้ปัญหาในอนาคต
“เช่น มาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ความว่า บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชาอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ ผมสะดุดตรงที่ว่าการกระทำที่ทำไปแล้วให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เห็นอย่างนี้แล้วยิ่งต้องรีบแก้ไข ส่วนในมาตรา 75-86 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ผมมองว่าการร่างข้อมาตราทั้ง 13 มาตรานี้ออกมาเหมือนกับว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถคิดเองได้ คิดไม่เป็น รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจำกัดการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลมากเกินไป”
ต้องศึกษาแล้วนำมาเป็นข้อแก้ไข
นายเกษม กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้น ถ้าให้เวลา 60 วันก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าให้เวลาสัก 180 เพื่อให้ศึกษาแล้วนำปัญหาที่พบมาแก้ไขตนเห็นด้วย แต่ถ้าศึกษาแค่ว่ามีความบกพร่องหรือมีปัญหาอย่างไรนั้นตนไม่เห็นด้วยที่จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา
“ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้กำหนดไว้ในมาตรา 291 แล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้ คือ ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มาจากสมาชิกวุฒิสภา จาก ครม. และจากประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนอย่างน้อย 50,000 รายชื่อ ส่วนคนที่เสนอให้มี สสร. นั้นผมมองว่าคงทำไม่ได้เพราะว่าใน มาตรา 291 ไม่ได้กำหนดไว้ แต่ถ้าเราจะไปแก้ในมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ผมเกรงว่ามันจะเป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ”
* เปิดโอกาสประชาชนมีส่วนร่วม
ด้าน อ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช กล่าวว่า ตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ควรที่จะต้องมีการแก้ไข แต่ถ้าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ควรที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือหน่วยงานอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อความเป็นประชาธิปไตย
อ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนจะแก้ในประเด็นใดบ้างนั้น เห็นควรที่จะมีการศึกษาทบทวนในมาตรา 237 และ 309 เช่น ในมาตรา 237 วรรคสอง ความว่า ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้ง เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68
ชี้ชัดมาตรา 309 ขัดกับมาตรา6
นอกจากนี้ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปีนับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง ในความเป็นจริงแล้วใครผิดก็น่าจะว่ากันไปตามความผิด ซึ่งการแก้มาตรานี้ที่หลายคนกังวลว่าจะเป็นกระทำเพื่อผลประโยชน์ของใครนั้นตนมองว่าไม่สามารถทำได้ เพราะถ้าจะแก้เฉพาะมาตรานี้ ก็จะต้องมีการแก้ในกฎหมายของพรรคการเมืองด้วย
ส่วนในมาตรา 309 หรือการนิรโทษกรรมนั้น จะมีผลต่อคดีที่อยู่ในกระบวนการขององค์กรอิสระที่จัดขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น ตนมองว่าถ้าตัด มาตรา 309 ออกไปก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของคตส. เลยสามารถกระทำการได้ตามกระบวนการอยู่แล้ว
“ผมมองว่ามาตรา 309 นี้ขัดกับมาตรา 6 ที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ แต่ในมาตรา 309 ไปบอกว่าชอบด้วยกฎหมาย หรือในมาตรา 211 ที่ว่า ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัยในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”
ประกาศ คปค.จ้องเล่นงานเฉพาะคน
อาจารย์ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่งไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้ ส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวงแต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว เห็นว่าการตัดสิทธิ์กับคู่ความไม่ตรงกับศาลเป็นข้อที่ขัดต่อหลักความเสมอภาค และควรที่จะมีความเป็นกลางกับคนทุกคน ไม่ใช่เลือกปฏิบัติกับคนบางกลุ่มแต่สิ่งที่เกิดขึ้น ประกาศของ คปค. ออกแบบมาเพื่อใช้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และหลักของการนิรโทษกรรม เป็นการไม่เอาผิดกับคนที่ได้กระทำความผิดไปแล้ว ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศ ก็ควรที่จะมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป