ก็คงจะจริงอย่างที่อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุนว่าเอาไว้แหละครับ... เพราะสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้มันวิกฤติเกินที่จะมาสมานฉันท์กันแล้ว จึงไม่ยอมเป็นตัวกลางที่มีข้อเสนอให้อดีตนายกฯมาช่วยกันทำหน้าที่นี้
ขณะเดียวกันก็ชี้ว่าเหตุที่จะเจรจากันไม่ได้นั้นเพราะประเด็นและความเห็นที่แตกต่าง กันอย่างสิ้นเชิง อย่างเช่นเรื่องรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขนั้นฝ่ายหนึ่งมองว่าแก้เพราะตัวเอง แก้เพื่อพวกพ้อง ดังนั้นมันคงจะเชื่อมเหตุเชื่อมผลให้ไปในทิศทางเดียวกันยาก
อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่าบ้านเมืองในขณะนี้อยู่ในขั้นการเผชิญหน้า ยากที่จะประสานให้ลดรอยแยกได้เมื่อทั้งสองฝ่ายพร้อมจะแตกหัก มากกว่าใช้วิธีการอื่นในการแก้ไขปัญหา
มีหลายคนเสนอแนวทางเพื่อเป็นทางออกของประเทศและก็มีหลายทางเลือก ยกเว้นการที่ทหารจะยึดอำนาจหรือทำปฏิวัติกันอีก เพราะไม่ได้แก้ปัญหาและยังทำให้ประเทศชาติย่ำแย่ลงไปอีก อย่าง 11 กันยายนที่ผ่านมา
แก้ปัญหาไม่ได้แล้วยังทำให้ปัญหาดำรงอยู่ การเผชิญหน้าขัดแย้งเข้าไปอีก
พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกฯและผู้นำ รสช.ชี้ว่าทางออกของรัฐบาลก็คือ “ยุบสภา” เพื่อเลือกตั้งกันใหม่ หากประชาชนเลือกฝ่ายไหนเข้ามาก็น่าจะจบกันและทุกฝ่ายยอมรับ เมื่อประชาชนเลือกแบบนั้นแล้ว
ข้อเสนอนี้ดูเหมือนว่าไม่มีฝ่ายไหนยอมรับโดยเฉพาะพรรคการเมือง นักการเมืองที่เป็น ส.ส.ไม่ชอบอยู่แล้ว
และเชื่อว่า “ยุบสภา” ไม่ได้แก้ปัญหา เพราะเลือกตั้งใหม่ ก็จะเป็นอย่างนี้อีก
ที่มีข้อเสนอเป็นเนื้อเป็นหนังก็คือคุณหมอประเวศ วะสี ที่เป็นห่วงเป็นใยบ้านเมืองและพยายามเสนอทางออกเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์
“รัฐบาลแห่งชาติ” คือวิธีหนึ่งที่คิดว่าน่าจะทำให้ทุกอย่างคลี่คลายไปได้ แม้ว่าในความเป็นจริงจะเป็นเรื่องยากและแทบจะไม่มีความเป็น ไปได้ พรรคการเมืองดาหน้าปฏิเสธ บางคนยังหยามความคิดเสียด้วยซ้ำ
จริงๆแล้วเรื่องรัฐบาลแห่งชาตินั้นน่าจะเป็นเพียงตุ๊กตาที่จะชี้หรือสะท้อน ให้เห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองวิกฤติอย่างนี้ จึงน่าจะหาออกร่วมกัน ให้ทุกฝ่ายได้คิดได้ไตร่ตรองได้ใช้สติเพื่อช่วยกันคลายวิกฤติ
หรือแม้แต่การจะให้อดีตนายกฯอย่างนายอานันท์ ปันยารชุน นายบรรหาร ศิลปอาชา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และนายชวน หลีกภัย เข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายหาทางออกให้ประเทศ ปลดเงื่อนไขการเผชิญหน้า
แต่อดีตนายกฯทุกคนคงจะส่ายหัวเพราะมันเป็นงานที่ยาก ข้อสำคัญปัญหาและเงื่อนไขมันเกินลึกยากที่จะเจรจาและทำความเข้าใจกันได้ อีกทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีความพยายามที่จะประนีประนอมถือ “ธง” ยืนหยัดแบบตรงกันข้าม
อย่างไรก็ดีนายกฯสมัครปฏิเสธเรื่องยุบสภาและยืนยันว่าจะทำงานต่อไป อย่างเต็มที่ เพราะวันนี้มีนายกฯชื่อ “สมัคร” ที่รับผิดชอบและสั่งการทุกอย่างได้ ไม่จำเป็นต้องให้อดีตนายกฯมายุ่งเกี่ยว เพราะเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง
ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากกลุ่มพันธมิตรที่มีจุดยืน “แตกหัก” เหมือนกัน
ดังนั้นทุกอย่างมันจึงเป็นเรื่องยาก นอกจากจะต้องปล่อยให้สถานการณ์
ทุกอย่างคลี่คลายไปด้วยตัวของมันเองและไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แม้จะมีการหาทางออกให้ทุกอย่างเข้าสู่สภาอย่างเรื่องรัฐธรรมนูญหรือ การเปิดซักฟอกรัฐบาลของ ส.ว.และพรรคฝ่ายค้าน
แต่มันก็คงได้แค่ชั่วคราวเท่านั้นเพราะความความขัดแย้งหลักยังไม่ได้แก้.
“สายล่อฟ้า”