WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, June 14, 2008

การเมือง เศรษฐกิจ ชีวิตคนไทย ใครกำหนด?

“แม้กระนั้นก็เห็นได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้สะท้อนให้เห็นอะไรใหม่ๆ หรือให้เห็นว่าพรรคได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วแต่อย่างใด ตรงกันข้ามทุกอย่างยังเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรค วิธีการหาเสียง นโยบาย หรือแม้แต่ทัศนคติและแนวคิดในทางการเมือง รวมทั้งการเปิดกว้างให้นักการเมืองหน้าใหม่ๆ ได้มีโอกาสแสดงบทบาททางการเมืองอย่างเต็มที่”

สมาคมจิตวิทยาความมั่นคงแห่งประเทศไทย ซึ่งมี พล.ท.พลางกูร กล้าหาญ เป็นนายกสมาคม ได้จัดการอภิปรายทางวิชาการขึ้นที่แหล่งชุมนุมวิชาการป้องกันประเทศ (สโมสร วปอ. เดิม) ภายใต้หัวข้อเรื่อง “การเมือง เศรษฐกิจ ชีวิตคนไทย ใครกำหนด?” โดยมีผู้ร่วมอภิปรายคือ ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รศ.ประหยัด หงษ์ทองคำ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย นายคณิน บุญสุวรรณ และมี นายบุญเลิศ ช้างใหญ่ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย การอภิปรายดังกล่าวมีขึ้นระหว่างเวลา 14.00 น.–17.00 น. ของวันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2551

ต่อคำถามที่ว่า การเมืองไทยใครกำหนดนั้น ฟังดูเหมือนกับว่า “บุคคล” หรือ “คน” เท่านั้นที่เป็นตัวกำหนด แต่แท้ที่จริงแล้ว การกำหนดนั้นอาจเป็นได้ทั้งบุคคลและเหตุการณ์ เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า มีทั้งปัจจัยบุคคลและปัจจัยแวดล้อม ซึ่งก็เกี่ยวข้องโยงใยกันอย่างแยกไม่ออก อย่างที่ท่านพุทธทาสได้เคยกล่าวไว้ว่า “เหตุปัจจัย” ก็คือ สิ่งที่มนุษย์ก่อขึ้น และมนุษย์ก็ต้องเป็นผู้รับผลของมันนั่นเอง

ประเทศไทยมีปัญหาซึ่งคนไทยได้ก่อขึ้นเองในช่วงระยะเวลาหลายเดือน ก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ค่อนข้างวิกฤติอยู่ 3 ประการ ได้แก่ ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ปัญหาความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของคนในชาติ และปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

หลังจากที่การยึดอำนาจผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน ก็ปรากฏชัดว่า นอกจากปัญหาทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้นจะไม่คลี่คลายลงแล้ว ยังเกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้นมาอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่แน่นอนของอนาคตทางการเมืองของประเทศไทยว่าจะเดินไปในทิศทางใด รวมทั้งปัญหาภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในสายตาของต่างชาติ นอกจากนั้น ปัญหาความขัดแย้งกันของคนในชาติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ซึ่งมีทีท่าว่าจะแตกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ที่ร้ายคือ ผลจากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งภาคเหนือส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบ

ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลงคะแนนเห็นชอบ อันเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนออกมาในแนวทางเดียวกับผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ซึ่งปรากฏว่า พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ได้รับความสนับสนุนในแทบจะทุกๆ ด้านจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทยเดิม ได้รับเลือกตั้งแบบถล่มทลายในแทบจะทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ได้รับความสนับสนุนแบบลับๆ จาก คมช. และทหาร รวมทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ได้รับเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเช่นเดียวกันในกรุงเทพมหานคร ภาคใต้ และภาคตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.ชลบุรี ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยได้รับเลือกตั้งเลยเป็นเวลาหลายปีเต็มทีแล้ว กลับได้รับเลือกตั้งแบบยกทีมทั้งจังหวัด เรียกว่าตกตะลึงพรึงเพริดกันไปหมดเลยทีเดียวก็ว่าได้

ปรากฏการณ์เช่นนี้ หากมองในแง่ดีอาจจะบอกว่า เป็นการส่งสัญญาณว่าการเมืองไทยต่อจากนี้ไปกำลังเข้าสู่ระบบ 2 พรรคอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว กล่าวคือ เป็นการแข่งขันกันระหว่าง 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชาชน แต่ถ้าวิเคราะห์กันอย่างละเอียดถี่ถ้วนในเชิงลึกแล้ว ปรากฏการณ์เช่นว่านั้นอาจจะนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่อาจจะเลวร้ายกว่าที่ผ่านมาก็เป็นได้ ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลหลายประการ ดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง การที่ผลการเลือกตั้งแบ่งเป็น 2 พรรคอย่างชัดเจน โดยที่พรรคการเมืองหนึ่งได้ที่นั่งในภาคใต้ไปเกือบทั้งหมด ในขณะที่อีกพรรคหนึ่งได้ที่นั่งในภาคอีสานไปเกือบทั้งหมดนั้น จะเรียกว่าเป็นระบบ 2 พรรคคงไม่ได้ เพราะเป็นการแบ่งภาคกันอย่างชัดเจน แทนที่จะเป็น 2 พรรคในทุกพื้นที่ อย่างเช่น ในกรุงเทพมหานคร ในทางกลับกัน การแบ่งภาคกันอย่างชัดเจนเช่นนั้นกลับยิ่งจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ เพราะในระยะยาวประเทศไทยอาจต้องแบ่งเป็นหลายประเทศอย่างเป็นการถาวร

อย่างไรก็ดี การแบ่งพื้นที่กันครองโดยยึดถือเอาจำนวนที่นั่ง ส.ส. เป็นตัวกำหนดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น น่าจะเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะคราว อันเป็นผลต่อเนื่องจากการต่อสู้กันระหว่างขั้วอำนาจสองขั้ว ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในลักษณะสงครามตัวแทน (proxy war) เท่านั้น ประชาชนยังไม่ได้แบ่งเป็นสองฝักสองฝ่าย ซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อกันอย่างชัดเจน และขัดแย้งกันถึงขั้นต้องห้ำหั่นกันถ้าอยู่คนละพรรคหรืออยู่คนละภาค แต่ทุกฝ่ายก็ไม่ควรประมาทหรือชะล่าใจ เพราะถ้าปล่อยให้สภาพการแยกเป็นสองขั้วสองภาคแบบนี้ดำเนินไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งแล้วละก็ มีหวังประเทศไทยต้องแตกเป็นเสี่ยงๆ แน่

ประการที่สอง พัฒนาการทางการเมืองที่จะเรียกได้ว่าเป็นระบบ 2 พรรค ต้องเป็นผลพวงของพัฒนาการของกระบวนการประชาธิปไตย โดยมีการเลือกตั้งเป็นตัวชี้วัดที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยไม่สะดุดหยุดยั้ง จนกระทั่งประชาชนรู้ได้เองว่าตนจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดใน 2 พรรคใหญ่ที่มีอยู่

ส่วน 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นปรากฏการณ์หลังการปฏิวัติรัฐประหาร มีรัฐธรรมนูญใหม่ และการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ของประเทศไทยนั้น เป็นผลพวงของการต่อสู้กันแบบเอาเป็นเอาตาย ระหว่างฝ่ายที่ชื่นชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณ ทั้งนี้ โดยใช้รัฐธรรมนูญ ประชาชน และการเลือกตั้งเป็นอาวุธที่จะสาดใส่เข้าหากัน จึงไม่ใช่กระบวนการประชาธิปไตยที่กล่าวข้างต้น ปรากฏการณ์เช่นนี้ มิได้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพ ภายใต้ระบบ 2 พรรคอย่างแท้จริง

ประการที่สาม ระบบพรรคการเมืองที่จะเป็นระบบ 2 พรรคได้ ต้องประกอบด้วยพรรคการเมืองที่มีจุดยืน อุดมการณ์ และนโยบายหลักๆ ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ค่อนข้างชัดเจนและสืบเนื่องมายาวนาน ที่สำคัญ ต้องมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด พอที่จะเป็นทางเลือกของประชาชนว่าจะนิยมแนวทางและอุดมการณ์ของพรรคการเมืองไหน เช่น กรณีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีระบบ 2 พรรค ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยม (พรรครีพับลิกัน) กับฝ่ายเสรีนิยม (พรรคเดโมแครต) เช่นเดียวกับพรรคแรงงานของอังกฤษ ซึ่งเป็นฝ่ายเสรีนิยม

ในขณะที่พรรคคอนเซอร์เวทีฟนั้นเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม แต่สำหรับ 2 พรรคการเมืองของไทยนั้น ถ้าจะว่ากันในเชิงอุดมการณ์ แนวทาง และนโยบายหลักแล้ว แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย จะมีต่างกันก็ตอนที่พรรคการเมืองหนึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล และอีกพรรคการเมืองหนึ่งเป็นฝ่ายค้านนั่นแหละ ส่วนจุดยืนหรืออุดมการณ์นั้น ถ้าจะบอกว่าไม่มีเลยก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะอันที่จริงตัวละครทางการเมืองที่โลดแล่นอยู่ในเวทีการเมืองของประเทศไทยนั้น ก็เปลี่ยนพรรคไปเรื่อยๆ โดยไม่เกี่ยวกับจุดยืนหรืออุดมการณ์ใดๆ แต่เกี่ยวกับพื้นที่ในเขตเลือกตั้งและผลประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่า

แม้แต่การที่มีนักการเมืองระดับอาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์ทางภาคใต้ ไม่เคยเปลี่ยนพรรคเลยนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนทางการเมืองที่แน่วแน่มั่นคง แต่เป็นเพราะพื้นที่ในเขตเลือกตั้งและความนิยมในตัวบุคคลต่างหาก เพราะที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์พอเป็นฝ่ายค้านก็มีจุดยืนอย่างหนึ่ง แต่พอเป็นรัฐบาลก็เปลี่ยนจุดยืนไปโดยสิ้นเชิงเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ปรากฏการณ์ 2 พรรคใหญ่ในประเทศไทยขณะนี้ จึงไม่เอื้อต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรมแต่ประการใด

ประการที่สี่ ระบบ 2 พรรคที่แท้จริง ต้องไม่มีพรรคการเมืองที่เป็นนอมินีของใคร หรือของนายทุนกลุ่มใด คือต้องเป็นพรรคการเมืองที่มีประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง แต่พรรคการเมืองของไทยนั้น ตกอยู่ใต้อิทธิพลและเป็นนอมินีของกลุ่มนายทุนมาตลอด ซึ่งกลุ่มนายทุนที่ว่านั้น ก็มิได้มีอุดมการณ์หรือจุดยืนทางการเมืองที่แน่วแน่มั่นคงแต่ประการใด หากแต่ยึดถือผลประโยชน์และผลกำไรทางธุรกิจที่ตนเองจะได้รับ เมื่อพรรคการเมืองที่ตนให้การสนับสนุนทางด้านการเงินได้เป็นรัฐบาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พรรคการเมืองของไทย ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ไม่ได้มีความเป็นตัวของตัวเอง หรือมีจุดยืนหรืออุดมการณ์ที่ชัดเจนแต่ประการใด จึงไม่อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีระบบ 2 พรรคอย่างแท้จริง

ประการที่ห้า พรรคการเมืองในระบบ 2 พรรคที่แท้จริง จะต้องไม่ใช่ “พรรคเฉพาะกิจ” ซึ่งก่อตั้งและล้มไปด้วยเหตุผลเพียงแค่ว่า ได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่สำหรับในประเทศไทยในปัจจุบัน จะเรียกว่าเป็นระบบ 2 พรรคคงไม่ได้ เพราะพรรคพลังประชาชนซึ่งได้ ส.ส. มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นพรรคเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นมาด้วยเหตุผลเพื่อต่อสู้ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ซึ่งจะบอกว่าตั้งแล้วโตเพียงชั่วข้ามคืนก็คงจะได้ ดังนั้นจะพูดว่าพรรคพลังประชาชนเป็นหนึ่งในระบบ 2 พรรคของประเทศไทยแล้ว ก็คงไม่ใช่ เพราะไม่รู้ว่าพรรคพลังประชาชนจะแตกเมื่อไร เพราะที่ผ่านมา พรรคพลังประชาชนไม่ได้มีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเองเลยแม้แต่อย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย เงินสนับสนุน ผู้นำพรรค หรือแม้แต่บรรดา ส.ส. ทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นนักการเมืองหน้าเก่าจากพรรคไทยรักไทย ที่เพิ่งมาสังกัดพรรคพลังประชาชนเพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่วัน ก่อนสมัครรับเลือกตั้ง

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น ถึงแม้จะพอพูดได้ว่าเป็นพรรคใหญ่ที่เก่าแก่ แต่การได้รับเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยจำนวนที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์นั้น ก็เป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจาก คมช. กองทัพ สื่อมวลชน และองค์กรภาคประชาชนที่ต่อต้านระบอบทักษิณ และที่สำคัญคือ กระแสของคนในเมือง ชนชั้นกลาง คนมีการศึกษาซึ่งส่วนใหญ่กลัวการกลับมาของระบอบทักษิณ เพราะฉะนั้น จึงยังไม่ถึงขั้นที่จะเรียกว่า เป็นหนึ่งใน 2 พรรคใหญ่ในระบบ 2 พรรคได้ เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว ในช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายรัฐบาลมากกว่าเป็นฝ่ายค้าน จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ถูกมองว่าสนับสนุนและได้ประโยชน์จากการรัฐประหาร

รวมทั้งกระบวนการการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ ที่ดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์ต่อพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคคู่ต่อสู้อยู่มาก แม้กระนั้นก็เห็นได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้สะท้อนให้เห็นอะไรใหม่ๆ หรือให้เห็นว่าพรรคได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรค วิธีการหาเสียง นโยบาย หรือแม้แต่ทัศนคติและแนวคิดในทางการเมือง รวมทั้งการเปิดกว้างให้นักการเมืองหน้าใหม่ๆ ได้มีโอกาสแสดงบทบาททางการเมืองอย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงไม่สมควรที่จะอยู่ในฐานะเป็นหนึ่งพรรคใหญ่ในระบบ 2 พรรคในรูปแบบที่ควรจะเป็น

คณิน บุญสุวรรณ