เหมือนว่าจะได้ผล คล้ายว่าจะเป็นสูตรสำเร็จ ดูจะเคยตัว ในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สำหรับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หลายคนรู้จักตัวตนพากันเรียกชื่อจริงตามพฤติกรรมว่า แก๊งพันธมารเพื่อเผด็จการ
หากไม่ตื้นเขิน บอด ใบ้ ทางการเมืองจนเกินไป ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์วันที่ 19 กันยายน 2549 พัฒนามาจากการเมืองนอกสภาของพันธมิตรฯ แม้จะมีคนไม่ให้ราคาขนาดนั้น แต่การอ้างของผู้ก่อการว่า หากไม่ออกมารัฐประหาร จะเกิดการปะทะกันของคนสองกลุ่ม น่าจะเป็นพยานที่รับฟังได้
พันธมิตรฯ กับผู้ก่อการเป็นปรากฏการณ์ที่แยกกันไม่ออก เพราะทันทีที่ คปค. กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ แกนนำพันธมิตรฯ อย่าง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นั่งรถตรวจแถวที่หน้า บก.ทบ. สีหน้ายิ้มแย้ม ปากกว้างกว่าที่เคย และก็ไม่ยอมให้ใครแย่งซีนอีกเช่นกัน นายสนธิ ลิ้มทองกุล โผล่หน้ายิ้มเผล่ ประกาศชัยชนะที่หน้า บก.ทบ. เช่นกัน ในขณะที่รัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องเดินตัวลีบเข้าไปรายงานตัวต่อคณะรัฐประหาร ไม่นับคำอ้างในที่สาธารณะของนายสนธิที่พาดพิงไปถึงผู้ให้กำลังใจในการต่อสู้ครั้งก่อนหน้ารัฐประหารอีกหลายท่าน ไม่เว้นแม้แต่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ขณะนั้นเป็นองคมนตรี และลาออกมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
นั่นจะเรียกว่าเป็นชัยชนะของแก๊งพันธมิตรฯ ก็ไม่ผิดนัก เพราะต่างได้ดิบได้ดี จากการรัฐประหารกันถ้วนหน้า บางคนเป็น สนช. บางคนเป็น สสร. หรือนั่งถ่างขาในองค์กรอิสระที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง โดยไม่ละอายต่อหลักการประชาธิปไตยแม้แต่น้อย แถมบางคนยังหน้าด้านออกมานำเสนอประชาธิปไตยแบบไทยๆ เข้าให้อีก กว่า 14 เดือนของความร่วมมือกันระหว่างพันธมิตรฯ และ คมช. รุมยำใหญ่ใส่ครบเครื่องบรรดามี ล็อกสเป็ก วางแลนด์สเคปทุกอย่าง เพื่อให้พรรคการเมืองเก่าแก่เข้ามาเป็นรัฐบาล
แต่ไม่น่าเชื่อว่า พวกเขาจะแพ้ไม่เป็นท่าให้กับพรรคการเมืองที่แปลงร่างมาจากพรรคไทยรักไทยของ อดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งที่รุมกระหน่ำเอาขนาดนั้น
ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 น่าจะทำให้คนกลุ่มนี้เข้าใจและยอมรับในเจตจำนงของประชาชนผู้หย่อนบัตรแสดงมติเลือกพรรคพลังประชาชนเข้ามาบริหารประเทศ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ พวกเขากลับดูถูก เสียงสวรรค์เหล่านั้น ประหนึ่งว่าเป็นประชาชนชั้นสองของประเทศ
เพียงแค่สามเดือนในการบริหารประเทศของพรรคพลังประชาชนที่เคยหาเสียงว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ และสามารถทำได้ตามกระบวนการทางรัฐสภา กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ออกมาเรียกร้องให้ ส.ส. ส.ว. ถอนชื่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อ ส.ส. ส.ว. ถอนชื่อไปแล้ว แทนที่จะหยุดเคลื่อนไหว กลับเปลี่ยนมาไล่รัฐบาลแทนด้วยข้อกล่าวหาเดิมๆ ว่า เป็นรัฐบาลในระบอบทักษิณ ยึดพื้นผิวจราจรประกาศเป็นรัฐอิสระ ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน และเด็กนักเรียนในละแวกใกล้เคียง ประกาศล้มรัฐบาลขั้นแตกหัก
เจตนาของพันธมิตรฯ หวังให้ทหารออกมายึดอำนาจอีกครั้ง เหมือนชัยชนะที่หมูสกปรกเคยได้รับในครั้งก่อนนั่นเอง
แน่นอน ความคิดเช่นนี้ย่อมมีคนที่รับไม่ได้ และคิดต่อต้านอย่างถึงที่สุด คนที่ออกมาเปิดเผยท่าทีอย่างไม่อ้อมค้อม ตรงไป ตรงมาที่สุด คือ นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ ให้สัมภาษณ์ ประชาทรรศน์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 71 ประจำวันเสาร์ที่ 7-13 มิถุนายน 2551 ประกาศร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตย ซัดพันธมิตรฯ ถึงกึ๋น เป็น “ระบอบเผด็จการสามานย์” ไม่ใช่ม็อบปกติ มีการจ้างหัวละ 500 บาท ตั้งข้อสังเกตใช้จ่ายมาก บริจาคมาก หวย - พรรคการเมือง หนุนหลัง ติง ชุมนุมทั้ง “มีด–ไม้” กีดขวางเส้นทางสัญจรทำคนเดือดร้อน รัฐธรรมนูญไม่คุ้มครอง ขู่ฟอด “ม็อบ” สยบ “ม็อบ” เคลื่อน “มวลชนสนามหลวง” กดดันวันละ 600 เมตร ให้เลิกปิดเส้นทางสัญจร
“ถ้าเราย้อนไปช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนหน้านั้นมีการบริหารราชการแผ่นดินโดยท่านอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บ้านเมืองกำลังไปได้สวย เศรษฐกิจกำลังฟีเวอร์ ไม่เคยเห็นในประเทศไหนที่รัฐบาลกำลังบริหารงานแล้วเศรษฐกิจโต ปัญหาปากท้องของพี่น้องเกิดสภาพคล่อง การค้าการขาย การเจรจากับทูตต่างประเทศนั้นดีมาก แต่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วการรัฐประหารมันจะเกิดกับประเทศที่มีปัญหา ด้อยพัฒนา แล้วเกิดความแตกแยก หรือเศรษฐกิจแย่ แต่ประเทศในขณะนั้นมันตรงกันข้าม ประชาธิปไตย อะไรทุกอย่างในขณะนั้นดีมาก
ปัญหาเกิดจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกมาเรียกร้องโดยบุคคลที่ล้มละลายบ้าง เสียผลประโยชน์บ้าง อยากมีอำนาจ เห็นไหมครับ การบอยคอตการเลือกตั้ง การแตกแยกทางความคิดของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่เป็นพรรคเก่าแก่ เมื่อเกิดการออกมาเคลื่อนไหว แล้วทหารออกมายึดอำนาจ แค่กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมารวมตัวกันที่ท้องสนามหลวง
การรวมตัวนั้นไม่ใช่การรวมตัวโดยเหตุธรรมชาติ เป็นกลไกที่ไม่ปกติ มีการจ้าง มีการระดมคน มีอำนาจ มีมือลึกลับที่อยู่ในกระบวนการ มีเบื้องหลังทั้งหมด ออกมาเคลื่อนคนที่ท้องสนามหลวง นายกรัฐมนตรีขณะนั้นออกไปพบแขกบ้านแขกเมืองอยู่ต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง แต่เกิดการยึดอำนาจการปกครองประเทศ ด้วยเงื่อนไขที่ว่าหากปล่อยให้เกิดการปะทะ หรือกลุ่มนี้เคลื่อนออกมาจะเกิดการนองเลือด จะเกิดการทุบตีฆ่าฟันกัน นั่นเป็นเหตุของการยึดอำนาจการปกครองประเทศ
เมื่อยึดแล้วคุณใช้อำนาจเผด็จการในการล้มรัฐธรรมนูญ ฉีกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา ยุบ ส.ว. หมด แล้วคุณตั้ง สสร. อะไรขึ้นมา แล้วร่างรัฐธรรมนูญ พวกขุนพลของพันธมิตรฯ ได้ดิบได้ดี คุณตั้งคนนั้นเป็น สสร. เป็น สนช. คุณตั้งขึ้นมาหมด ใครที่เป็นพวกเดียวกับคุณ แล้วคุณไปร่างรัฐธรรมนูญ แล้วรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นตอนนั้นมีทั้งรถถัง ปืนเอ็ม 16 ทหาร อำนาจรัฐ อำนาจฝ่ายปกครอง อำนาจ คมช. ตามหมู่บ้าน ตรอก ซอก ซอย มีทหารลงไปอยู่ด้วยเต็มไปหมด บางจังหวัดมีการประกาศกฎอัยการศึก ไม่ถอน แล้วทุกพรรคบอกอยู่แล้วเมื่อตอนหาเสียง ว่าจะเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญเมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล แต่เรื่องระยะเวลาไม่ใช่เหตุผลสำคัญ
แม้กระทั่งรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ยังบอกว่าให้รับรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วค่อยไปแก้เอาทีหลัง พรรคพลังประชาชนเสนอเหมือนกันว่า เราจะแก้รัฐธรรมนูญเมื่อได้เป็นรัฐบาล พรรคอื่นๆ เหมือนกัน ทีนี้พอเป็นรัฐบาล ได้นายกรัฐมนตรี ได้สภา มีประธานสภาฯ ได้ฝ่ายค้าน ได้ฝ่ายนิติบัญญัติ ยังไม่ถึง 3-4 วันเลย เกิดเหตุอีกแล้ว พันธมิตรฯ ออกมาบอกตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง!
โดยอาศัยเงื่อนไขว่า แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อฟอกผิด ฟอก พ.ต.ท.ทักษิณ ข้อหาสารพัด คุณยึดอำนาจเขาไป อยู่ต่างประเทศจะไปจับเขาเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ต่างชาติเขาเห็นเขาทนไม่ได้ ว่าบ้านป่าเมืองเถื่อนนี้มันใช้ไม่ได้ เขาไม่เห็นด้วย พอเลือกตั้งเสร็จมีรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางเข้าประเทศ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องไปประกันตัว ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลก็ให้ ไม่เห็นจะไปมีอำนาจแทรกแซงศาลตรงไหน ก็ไปนั่งคอตกอยู่ในศาลเพื่อยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว แล้วศาลบอกว่า ถ้าจะเดินทางไปต่างประเทศต้องขออนุญาตศาลเป็นครั้งๆ ไปอีก คุณจะเอาอย่างไร แล้วคุณไปตามยึดทรัพย์ ตามกลั่นแกล้งเขาอีก
แทนที่คุณยึดอำนาจการปกครองประเทศแล้ว คุณจะเรียกทุกพรรคการเมืองมาตั้งโต๊ะกลมเจรจาสร้างการเมืองสมานฉันท์ให้ดีขึ้น แต่กลับเกิดปฏิกิริยาที่มันหนักกว่าเก่า เกิดความแตกแยกร้าวฉาน ในช่วง คมช. เกิดม็อบ เกิดการประท้วงอะไรเยอะแยะ แล้วคุณไปถือหางอีกข้างหนึ่งที่เป็นพรรคการเมืองเก่า ถือหางพันธมิตรฯ แล้วไล่ทุบไล่ตีคนที่ไม่ใช่พวกคุณ ผลการเลือกตั้งออกมาเป็นอย่างไร พรรคพลังประชาชนได้เสียงข้างมากอีก นี่ขนาดมีกระบวนการไม่ชอบมาพากลหลายเขตเลือกตั้ง พลังประชาชนยังกลับเข้ามาอีก
เมื่อกลับเข้ามาอีก ผมฟันธงเลยว่า คุณไม่มีทางชนะทางการเมือง บนเวทีคุณไปเป็นอีแอบอยู่เบื้องหลัง เอาพันธมิตรฯ มาเป็นหุ่นเชิด คือ การเมืองนอกเวที มันไม่แปลกหรือ อยู่ในสภาสู้ไม่ได้ก็วอล์กเอาต์ นั่นคือบนเวทีนะ อยู่นอกสภาสู้ไม่ได้ก็วอล์กเอาต์ ไม่ลงเลือกตั้ง เนี่ยคือพฤติกรรม แล้ววันนี้มาเชิดหน้าชูตาอยู่หน้าสื่อว่า อยากจะสร้างความสมานฉันท์ แต่คุณไปตั้งวอร์รูมอยู่ที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส เขามีภาพถ่ายหมด ระดับขุนพลของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง คุณไปบัญชาการส่งเสริมขนคนมาเต็มไปหมด
วันนี้ (วันเสาร์ที่ 30 พ.ค. 2551) 500 บาท เกณฑ์คน ถ้าใครบอกว่าไม่เกณฑ์คน วันนี้เอาไหมครับ จุดธูป เผาพริกเผาเกลือกันเลยไหมครับ ที่พระสยามเทวาธิราช ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง นี่แหละคือเหตุผล เมื่อคุณไม่รู้แพ้รู้ชนะ แล้วคุณออกมาสร้างความเดือดร้อน ผมเองเป็น ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง ผมหวังว่าผมเป็นผู้แทนราษฎรมีสภาแล้ว ผมจะเข้ามาทำงานให้ดีที่สุด แต่มีสมาชิก มี ส.ส. ของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งออกมาเล่นการเมืองนอกเวทีอีก ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ อย่างนี้มันเป็นการเมืองนอกสภาอีกแล้ว เลยฟังเสียงประชาชน ประชาชนบอกว่าทนไม่ไหวแล้ว น่าจะมีที่ยืนให้กับประชาชน นี่แหละเป็นที่มาของกลุ่มมหาประชาชนร่วมพิทักษ์ประชาธิปไตย...”
ส.ส. จากสมุทรปราการ เผยแนวทางการต่อสู้ กดดันกับพันธมิตรฯ โดยไม่ต้องการให้มีการปะทะว่า
“ทีแรกพันธมิตรฯ ออกมาครั้งแรก จุดยืนคือคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับเรื่องของคุณจักรภพ (นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) วันนี้เป้าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วันนี้บอกไม่เอาแล้ว ต้องขับรัฐบาล ล้มรัฐบาล ไล่นายกฯ สมัคร และบังคับให้รัฐบาลยุบสภา นี่กลายเป็นกฎหมู่ เป็นองค์กรของโจรกลุ่มน้อยแล้ว ลักษณะนี้มันเข้าข่ายที่จะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยใช้ข้ออ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้นบังหน้า การที่คุณบอกว่าจะยุบสภา และนายกฯ ต้องลาออก มันเป็นข้อเรียกร้องที่ขาดความชอบธรรม เพราะฉะนั้น อย่างนี้พันธมิตรฯ กำลังใช้พฤติกรรมแบบนี้ วันหลังคุณไม่พอใจคำตัดสินของศาล คุณเอากฎหมู่ออกมาเคลื่อนไหวกดดันขับไล่ ตั้งเงื่อนไขว่า 1.ต้องลาออก 2.ต้องเปลี่ยนคำพิพากษา อย่างนั้นหรือเปล่า
ไม่พอใจรัฐบาลไหนเอาคนออกมาปิดถนน เลยมองว่ามันเป็น “ม็อบธุรกิจ” เงินหมดตอนไหนออกมาทำ “ม็อบธุรกิจ” มาเคลื่อนไหว โดยการทำธุรกิจม็อบนั้นอยู่บนความทุกข์ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แล้วคุณอ้างว่าใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญว่ามีสิทธิเสรีภาพ แล้วประชาชนคนอื่นเขาไม่มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือครับ… เพราะว่าพวกนี้มันเป็นม็อบธุรกิจ คุณเห็นไหมครับ มีทั้งผ้าโพกหัวสีเหลือง ผ้าพันคอ เสื้อยืด กางเกง ธง ป้าย ดนตรี เวที เครื่องเสียง ค่าน้ำมัน ค่าอาหาร แล้วค่าบริหารจัดการ แล้วคุณเอาเงินที่ไหนมาทำ?
ผมถามว่าเอาเงินที่ไหนมาทำตั้งเยอะแยะ แสดงว่ามีกลุ่มทุน แบบนี้เขาเรียกว่า ระบอบเผด็จการสามานย์ มีพรรคการเมืองให้การสนับสนุน มีทหารกลุ่มหนึ่งให้การเกื้อหนุนจุนเจือ คือ ต้องการที่จะล้มระบบ และการที่พวกคุณออกมากล่าวอ้างว่ามีแนวคิดชั่วร้ายที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง คือ คุณคิดได้อย่างไรที่จะมีการตั้งสาธารณรัฐ คุณคิดได้อย่างไรว่าจะสร้างชาติใหม่ นี่ไม่ใช่การกู้ชาติ แต่เป็นการสร้างชาติใหม่ นี่มันเป็นแนวคิดในจิตสำนึกที่เรามองเห็นในระบบ เราถึงได้เรียกว่า “ระบอบเผด็จการสามานย์” พวกนี้ต้องการจะตั้งกลุ่มชนขึ้นโดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน
วันนี้ที่พันธมิตรฯ ก่อตัวแล้วรวมตัวกัน เขากล้ายืนยันไหมครับว่าเป็นมติเอกฉันท์ของประชาชน 80% ของคนทั้งประเทศ มันเป็นแค่ 1-10% ของคนทั้งประเทศเท่านั้นเอง แล้วคุณเอาสิ่งเหล่านี้มาอ้าง วันนี้เขาเอาประชาชนเป็นกำแพงล้อมไว้ หมายความว่า เอาประชาชนเป็นเปลือกนอกห่อหุ้มตัวเขาไว้ เกิดล้มเจ็บหรือเสียชีวิตเกิดขึ้นพันธมิตรฯ ไม่รับผิดชอบ ผลจะออกมาเป็นประการใดแล้วแต่พันธมิตรฯ จะถูกจับหรือจะล้มรัฐบาลแล้วแต่ บทสรุปคือว่า ผู้ที่ไปร่วมชุมนุมชีวิตไม่ได้ดีขึ้น น้ำมัน ภาคการเกษตร ปากท้องของคนที่ไปร่วมชุมนุมไม่ได้ดีขึ้น แต่ถามว่าพันธมิตรฯ เขาเดือดร้อนอะไร เขาไม่ได้เดือดร้อน เพราะเงินที่บริจาคเข้ามาเสียภาษีไหม เงินที่บริจาคเป็นเงินรายได้ไหม เป็นเงินรายได้ 5 ล้าน 10 ล้าน 20 ล้าน บริจาคทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งเงินแฝง ทั้งบริษัทกลุ่มทุน
เมื่อก่อนเรามี “กลุ่มทุนใหม่” “กลุ่มทุนเก่า” แต่อันนี้เราเรียกว่า “กลุ่มทุนระบอบเผด็จการสามานย์” ที่เป็นกลุ่มทุนหนุนให้ระบอบเผด็จการก่อตัว เพื่อที่จะหวังให้กลุ่มนักการเมืองพวกเขาเหล่านี้เข้าไปเป็นรัฐบาล แล้วเข้าไปแสวงหาอำนาจ...”
ไม่อยากให้การเมือง เดินไปสู่ความรุนแรง ไม่ต้องการให้เกิดการปะทะของคนในชาติ ต้องรู้เท่าทันเกมการเมืองอย่างถึงกึ๋น ประชาทรรศน์รายสัปดาห์ หาข้อมูลมากำนัลท่านแล้ว อย่าช้า...วางแผงแล้ววันนี้