ทั้งนี้ มี ส.ส.อภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กฎหมาย ฉบับนี้ทำให้ศาลยังเป็นที่พึ่งที่หวังเดียวของประชาชน เพราะ เห็นได้ชัดเจนในกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่พอคราวอดีตผู้นำของประเทศไทยบางคนที่ถูกกล่าวหาด้วยเรื่องร้ายแรง เดินทางกลับประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะ รมว.มหาดไทยกลับเดินทางไปให้การต้อนรับเต็มที่ถึงสนามบิน นายนิสิต สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าการที่ศาลฎีกาจะตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ซึ่งถือเป็นการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและพิพากษาได้เอง จะเป็นการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายตุลาการมากเกินกว่าอำนาจของอีกสองฝ่าย ต้องการให้เกิดตุลาการภิวัตน์จัดการกับนักการเมือง จึงอยากทราบถึงวิธีการหาความเป็นกลางในการตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระด้วย ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองจะยิ่งมีปัญหามากขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดอายุขององค์กรอิสระต่างๆโดยเฉพาะ ป.ป.ช.ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสายศาลมีอายุนานถึง 9 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เมื่อเวลา 09.50 น. ว่านนี้ (11 มิ.ย.) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเป็นวันแรก โดยมี นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเริ่มประชุมปรากฏว่ามี ส.ส.อยู่ในห้องประชุมเพียง 198 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ทำให้นายชัยขอเลื่อนประชุมไปอีก 30 นาที กระทั่งเวลา 10.30 น. จึงสามารถเริ่มประชุมได้ โดยที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ศาลฎีกาเป็นผู้เสนอเป็นเรื่องด่วน โดยกำหนดให้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยึดสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือผู้ไต่สวนอิสระเป็นหลักในการพิจารณาคดี และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาผู้ให้ ผู้ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ทั้งยังกำหนด ให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สิน และกำหนดให้ผู้เสียหายสามารถร้องขอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้แต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ ตลอดจนการอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสำหรับคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง