WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, June 10, 2008

ใช้กระบวนการประชาธิปไตยหักล้างรัฐธรรมนูญทางเดียว

รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติรัฐประหารนั้น ถึงแม้จะได้มีความพยายามหรือกำหนดพิธีกรรมและรูปแบบให้ดูเหมือนว่าเข้าถึงประชาชน และเป็นประชาธิปไตยมากแค่ไหนก็ตาม แต่ในความเป็นจริงก็เป็นได้เพียงแค่ “รัฐธรรมนูญทางเดียว” (one way constitution) เท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นคณะบุคคลที่ทำการยกร่าง ทิศทาง หลักการ รวมทั้งลายแทงในการสืบทอดอำนาจ ล้วนถูกกำหนดและควบคุมโดยคณะบุคคลที่ยึดอำนาจได้สำเร็จทั้งสิ้น เช่นเดียวกับกรณีการตั้งคณะบุคคลและกำหนดวิธีการในการตรวจสอบ ไต่สวน และพิจารณาโทษ

รวมทั้งอายัดทรัพย์ของคณะบุคคลที่ถูกโค่นล้มลงจากอำนาจด้วยการรัฐประหาร ก็ไม่สามารถเรียกว่าเป็นกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หรือกระบวนการยุติธรรมทางการเมืองอย่างเต็มปากเต็มคำได้ หากจะต้องเรียกว่าเป็น “กระบวนการยุติธรรมทางเดียว” (one way justice) เสียมากกว่า

เพราะไม่ว่าจะเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทย และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยเป็นเวลา 5 ปี คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ปปง. แถมด้วยอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากร คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งจะรับช่วงภารกิจในการตรวจสอบและอายัดทรัพย์ต่อจากคณะกรรมการ คตส. ที่จะหมดอายุการทำงานในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งเพิ่มเขี้ยวเล็บและอำนาจที่จะจัดการกับนักการเมืองในสังกัด หรือนอมินีของกลุ่มอำนาจเก่าอย่างถนัดมือมากยิ่งขึ้น ไม่เหมือนกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา

ซึ่งเหมือนยักษ์ไม่มีกระบองแบบในอดีต หรือแม้แต่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งคนคนเดียวเป็นทั้งคณะกรรมการ ผู้ว่าการ และประธานกรรมการ ทั้งหมดล้วนได้รับแต่งตั้งโดยคณะผู้ก่อการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล หรือไม่ก็มาตามครรลองของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งคณะรัฐประหารเป็นผู้ให้กำเนิดทั้งสิ้น โดยที่ทั้งหมดมีเป้าหมายและคำสั่งให้จัดการแต่เฉพาะกับกลุ่มอำนาจเก่าที่ถูกโค่นล้มไปเท่านั้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดกรณีกระบวนการยุติธรรมทางเดียวที่เกิดขึ้นระหว่างที่ คมช. และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ มีอำนาจอยู่ ได้แก่ กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งชี้ขาดไม่เอาโทษแก่ คมช. ที่ออกเอกสารลับสั่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารติดตามตรวจสอบ และสกัดกั้นการเติบโตของพรรคพลังประชาชน มิให้กลับมามีอำนาจ กรณีที่คณะกรรมการ คตส. ไม่รับพิจารณาเรื่อง พล.อ.สุรยุทธ์ ถูกร้องเรียนว่าบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินอุทยานแห่งชาติที่เขายายเที่ยง และกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับพิจารณาเรื่องที่มีผู้กล่าวหา พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ว่าจดทะเบียนสมรสซ้อน เป็นต้น

ถ้าว่ากันตามกติกาแล้ว รัฐธรรมนูญทางเดียวและกระบวนการยุติธรรมทางเดียวที่เป็นเสมือน “มรดกทางอำนาจ” ของคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่กล่าวข้างต้น จะเคลื่อนตัวต่อไปได้ในทิศทางที่คณะรัฐประหารและ คมช. กำหนดไว้ได้ ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองที่ คมช. สนับสนุน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง หรืออีกนัยหนึ่ง พรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แพ้เลือกตั้งนั่นเอง แต่ในเมื่อผลปรากฏว่าพรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้น และได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคพลังประชาชน รวมทั้ง 111 อดีตกรรมการบริหารที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ก็ย่อมมีความชอบธรรมที่จะผลักดันและเคลื่อนไหวเพื่อหักล้างรัฐธรรมนูญทางเดียว และกระบวนการยุติธรรมทางเดียวดังกล่าวได้ โดยที่อดีต คมช. รวมทั้งฝ่ายต่อต้านกลุ่มอำนาจเก่าและพรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลก็น่าจะยอมรับได้ เหตุเพราะเป็นการใช้กระบวนการประชาธิปไตยไปหักล้าง ไม่ใช่ใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ เป็นการแก้แค้นในลักษณะเกลือจิ้มเกลือ

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อหักล้างรัฐธรรมนูญทางเดียว และกระบวนการยุติธรรมทางเดียวนั้น สามารถทำได้โดยใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งต้องใช้เสียงของ ส.ส. หรือ ส.ส. และ ส.ว. รวมกันจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกของทั้งสองสภารวมกัน ส.ส. มี 480 คน ในขณะที่ ส.ว. มี 150 คน รวมกันก็เป็น 630 คน ดังนั้น จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ก็ต้องใช้เสียงถึง 316 คนขึ้นไป ลำพัง ส.ส. ของพรรคพลังประชาชนซึ่งมีอยู่ 233 เสียง ย่อมไม่เพียงพอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และถึงแม้จะรวมพรรคร่วมรัฐบาลอีก 5 พรรคแล้วก็ยังไม่พออยู่ดี เพราะมีแค่ 313 เสียง

นอกจากนั้นพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรคดังกล่าวจะเอาด้วยหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ ครั้นจะไปชวนพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมด้วยก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นคู่ต่อสู้กันอยู่ เรื่องอะไรจะไปแก้รัฐธรรมนูญให้เข้าทางพรรคพลังประชาชนเข้าไปอีก จะเหลืออยู่ก็แต่สมาชิกวุฒิสภา 150 คนเท่านั้น ที่พอจะพึ่งพาได้บ้าง แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน เพราะในส่วนของ ส.ว. ที่มาจากการสรรหาจำนวน 74 คนนั้น นอกเหนือจากการที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งก็รู้ๆ กันอยู่ว่ามีแนวคิดและอุดมการณ์แบบเดียวกับ คมช. และพันธมิตรฯ และส่วนใหญ่ก็มาจากกลุ่มการเมืองหรือพวกที่เคยต่อต้านระบอบทักษิณมาก่อนทั้งสิ้น คงไม่อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของตนเอง และเอื้อประโยชน์แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคพลังประชาชนเป็นแน่

ในส่วนของ ส.ว. เลือกตั้ง ซึ่งมีอยู่ 76 คนนั้น การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้อยู่ในวาระถึง 6 ปี ทำให้ไม่สนใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าในมาตราใดๆ เพราะถ้าแตะเมื่อไรการเมืองก็กระเพื่อมเมื่อนั้น เรื่องอะไรจะไปเติมเชื้อจุดชนวนให้วุ่นวาย จนกระทบสถานภาพของตนเอง จริงอยู่อาจจะมี ส.ว. อยู่จำนวนหนึ่งซึ่งใกล้ชิดหรือได้รับการสนับสนุนแบบลับๆ จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคพลังประชาชน อาจถูกขอร้องให้ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย แต่เอาเข้าจริง จะมี ส.ว. ประเภทดังกล่าวอยู่สักกี่คนที่จะเล่นด้วยอย่างเต็มที่ หรือแม้แต่ ส.ส. ของพรรคพลังประชาชนเองก็เถอะ ถามว่าในจำนวน 233 คน ที่เกือบทั้งหมดได้รับเลือกตั้งมาได้ก็ด้วยใบบุญของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตพรรคไทยรักไทยนั้น จะมีสักกี่คนที่มุ่งมั่นที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ถึงแม้จะรู้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ก็เพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นจากบ่วงกรรมในคดีความต่างๆ รวมทั้งการอายัดทรัพย์ หรือแม้แต่จะใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่จะหักล้างและต่อสู้กับเผด็จการก็ตาม

และด้วยเหตุนี้ ใครก็ตามที่คาดหวังไว้ว่าจะใช้กระบวนการประชาธิปไตยเพื่อไปลบล้าง “มรดกทางอำนาจ” ของคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้เอื้อต่อการกลับสู่อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยผ่านทางรัฐบาล ซึ่งมีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ ก็คงจะต้องผิดหวังไปตามระเบียบ

เพราะพรรคพลังประชาชนในวันนี้ไม่ใช่พรรคพลังประชาชนตอนที่เริ่มก่อตั้ง และตอนก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง นายสมัคร สุนทรเวช และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในวันนี้ก็ไม่ใช่ นายสมัคร สุนทรเวช และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ตอนที่ได้รับทาบทามให้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบสัดส่วนเขต 6 กรุงเทพมหานครในวันนั้น

ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกและความสำนึกในบุญคุณของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทำให้นักการเมือง “ตกรุ่น” ทั้ง 2 คน ดังกล่าว รวมทั้งอีกหลายต่อหลายคนได้มีวันนี้อย่างชนิดที่เรียกว่า “บุญหล่นทับ” ก็ไม่ปาน เพราะพลันที่ความเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากแกนนำรัฐบาล และถูกกระแสโจมตีอย่างหนัก รัฐบาลก็เปลี่ยนท่าทีโดยโยนให้เป็นเรื่องของ ส.ส. 6 พรรคร่วมรัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรีไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง

ดังนั้นจึงเหลืออยู่หนทางเดียวคือ ต้องใช้กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร และทำให้เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลแต่ประการใด ซึ่งหนทางนี้แหละที่จะทำให้กระบวนการลบล้างรัฐธรรมนูญทางเดียว และกระบวนการยุติธรรมทางเดียว เป็นผลสำเร็จ แต่ก็คงไม่ง่ายนัก เพราะยังมีปัจจัยและตัวแปรอื่นๆ อีกมาก

อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนแรกทำท่าว่ารัฐบาลและพรรคพลังประชาชนเป็นฝ่ายรุกนั้น ทำไปทำมากลับกลายเป็นว่ารัฐบาลและพรรคพลังประชาชนตกเป็นฝ่ายรับ ตัวแปรที่ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปดังกล่าวคือ 2 ข้อหาฉกรรจ์ ที่รัฐบาลและพรรคพลังประชาชนถูกโยนเข้าใส่อย่างชนิดไม่ยั้ง คือ ใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อฟอกผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเชื่อมโยงกับการหมิ่นเบื้องสูงของคนบางคนในพรรคพลังประชาชน การต่อต้านที่เป็นรูปธรรมคือ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 ที่นัยว่ามีแนวร่วมจากพรรคฝ่ายค้าน และกลุ่มอำนาจที่ร่วมกันโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หนุนหลังอยู่อย่างแน่นหนา

ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นผลสำเร็จเพื่อลบล้างรัฐธรรมนูญทางเดียว และกระบวนการยุติธรรมทางเดียว โดยทำให้เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติแต่เพียงอย่างเดียว จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และการที่นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช แถลงว่า จะใช้เงิน 2,000 ล้านบาท จัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือจะไม่แก้ ก็ถือเป็นการ “แก้เกม” และ “ย้อนศร” ฝ่ายต่อต้านได้ระดับหนึ่ง แต่พลันที่มีเสียงว่ารัฐบาลจะออกพระราชกำหนดการลงประชามติ เพื่อให้สามารถกำหนดการออกเสียงประชามติได้ทันในเดือนมิถุนายน 2551 เสียงฮือต่อต้านก็ดังกระหึ่มขึ้น และขานรับกันอย่างเป็นจังหวะจะโคน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคประชาธิปัตย์ และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งก็ไม่รู้ว่ากลายเป็นคอหอยกับลูกกระเดือกกันไปได้อย่างไร และที่น่าแปลกใจคือ มีเสียงค้านแม้แต่จาก ส.ส. ของพรรคพลังประชาชนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส. จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน

สรุปได้ว่า ถึงแม้ยุทธศาสตร์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้าง “มรดกทางอำนาจ” ของผู้ก่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จะตกเป็นฝ่ายรับ และไม่ค่อยมีกระบวนท่าสักเท่าใดนักก็ตาม แต่ในภาพรวมแล้วถือว่าฝ่ายประชาธิปไตยที่อยู่ตรงข้ามกับกลุ่มหรือพรรคการเมืองที่สนับสนุนการรัฐประหาร “กำลังเป็นต่อในสายตาชาวโลก” หรือแม้แต่ในสายตาของนักประชาธิปไตยที่ไม่อยากเห็นการรัฐประหาร และไม่อยากเห็นอำมาตยาธิปไตยผูกขาดอำนาจอีกต่อไป

แต่ถึงกระนั้น การใช้การออกเสียงประชามติเป็นอาวุธที่จะนำไปต่อสู้กับรัฐธรรมนูญฉบับ “คมช. แอนด์โก” ที่มุ่งรื้อฟื้นระบอบอำมาตยาธิปไตยในประเทศไทย ก็ใช่ว่าจะราบรื่นทีเดียวนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารัฐบาลเดินหน้าออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อใช้เป็นกฎหมายมารองรับการออกเสียงประชามติโดยไม่รอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ทั้งนี้ เพราะการออกพระราชกำหนดนั้นมีจุดอ่อน ซึ่งฝ่ายตรงข้ามสามารถเจาะทะลุทะลวงเข้ามาทำลายความชอบธรรมได้ง่าย

เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลและพรรคพลังประชาชนใช้ความรอบคอบเยือกเย็น และรอคอยด้วยความอดทน แบบว่า “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” โอกาสที่จะได้รับชัยชนะแบบ “วินวิน” ชนิด “ได้ใจประชาชน” และ “ได้ใจนักประชาธิปไตย” รวมทั้ง “ได้ใจชนชั้นกลาง” ด้วย ก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม พูดง่ายๆ คือ อย่าบุ่มบ่ามเป็นอันใช้ได้ เพราะทันทีที่คนระดับนายกรัฐมนตรีเอ่ยปากคำว่า “ออกเสียงประชามติ” ออกมา เท่ากับฝ่ายประชาธิปไตยเดินมาถูกทางแล้ว และโอกาสที่จะได้รับชัยชนะก็เกินครึ่ง แต่พอคำว่า “พระราชกำหนด” หลุดตามออกมา หนทางที่ว่าก็สะดุดและทำท่าจะ “หัวคะมำ” ทันที

กฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติไม่ควรทำเป็นพระราชกำหนด เพราะนอกจากจะไม่รอบคอบแล้ว ยังผิดหลักการ เพราะไม่กระทบต่อความมั่นคงและไม่เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้อีกด้วย นอกเหนือจากบรรยากาศร้อนแรงและภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อฝ่ายรัฐบาลเท่าใดนักในขณะนี้อีกต่างหาก

ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในมือของ กกต. ในขณะนี้ สามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาในคราวเปิดสมัยประชุมวิสามัญนี้ได้อยู่แล้ว ซึ่งก็คงไม่ใช้เวลามาก อาจพิจารณาแบบ 3 วาระรวดได้ด้วยซ้ำ ไม่มีความจำเป็นและไม่ควรเสี่ยงไปใช้วิธีออกเป็นพระราชกำหนดเลยแม้แต่น้อย

การให้ประชาชนออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องดี เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องที่กระทบต่อส่วนได้เสียของคนทั้งชาติแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินอนาคตของตัวเอง แถมยังสามารถยุติความขัดแย้งที่แบ่งประชาชนออกเป็น 2 ฝ่ายได้อีกต่างหาก เพราะถ้าผลการลงประชามติไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ อีกฝ่ายก็จะหมดเงื่อนไขและเหตุผลที่จะเคลื่อนไหวหรือก่อกวนอะไรได้อีก นอกจากนั้น การออกเสียงประชามติภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยอย่างเช่นในปัจจุบัน ย่อมส่งผลดีมากกว่าการออกเสียงประชามติเมื่อคราวที่แล้ว ซึ่งอยู่ในบรรยากาศที่ตึงเครียดและไม่เป็นประชาธิปไตย

การออกเสียงประชามติในสถานการณ์ปัจจุบัน เปรียบเหมือน “บันไดหนีไฟ” บนอาคารสูง ที่กำลังเกิดเพลิงไหม้ ปัญหามีอยู่แต่เพียงว่าจะใช้กันแบบไหน แบบ “แย่งกันลง” หรือแบบ “ผลัดกันลง” ถ้าเป็นแบบ “แย่งกันลง” ก็อาจตายทั้งคู่ แต่ถ้าเป็นแบบ “ผลัดกันลง” ก็อาจจะรอดทั้งคู่ และรอดด้วยกันทั้งหมด อย่างไรก็ดี ข้อเสนอที่จะให้ถามประชาชนแบบห้วนๆ แต่เพียงว่า “แก้หรือไม่แก้” รัฐธรรมนูญ เพื่อตัดความรำคาญอย่างที่นายกรัฐมนตรีว่า กับขอให้ประชาชนเลือกเอาระหว่างรัฐธรรมนูญปี 2540 กับรัฐธรรมนูญปี 2550 แบบที่หนึ่ง ใน กกต. เสนอนั้น ล้วนเป็นแบบ “แย่งกันลง” ซึ่งอาจส่งผลให้ตายทั้งคู่ได้ จึงไม่ควรเสี่ยง

การออกเสียงประชามติแบบ “ผลัดกันลง” ซึ่งอาจมีสิทธิรอดทั้งคู่ คือ คณะรัฐมนตรีจัดตั้งคณะกรรมการยกร่าง “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2551” แล้วเสนอให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่าจะ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ถ้าเสียงส่วนใหญ่ลงมติ “เห็นชอบ” คณะรัฐมนตรีก็นำเอาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเสนอต่อรัฐสภาตามมาตรา 291 ให้ใช้บังคับแทนรัฐธรรมนูญ 2550 ไปเลย โดยไม่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ อีก แต่ถ้าในทางกลับกัน เสียงส่วนใหญ่ลงมติ “ไม่เห็นชอบ” เรื่องก็จบ และประเทศไทยก็ใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ต่อไป โดยไม่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ อีกเช่นกัน

วิธีนี้นอกจากจะเป็นการใช้บันไดหนีไฟแบบ “ผลัดกันลง” แล้ว ยังสามารถนำความสงบสุขกลับคืนสู่บ้านเมืองอย่างเป็นการถาวร และประเทศไทยก็จะได้ชื่อว่าเป็น “ประเทศศิวิไลซ์” ที่สามารถ “เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้โดยสันติวิธี” และโดยกระบวนการประชาธิปไตยของประชาชนอีกด้วย

คณิน บุญสุวรรณ