คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
วันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช. โดยอ้างเหตุผลว่า ต้องการแก้ปัญหา 1.ความขัดแย้งในสังคม ที่มองว่าเป็นความแตกแยกอย่างหนักในสังคม 2.การทุจริตประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นมากที่สุด 3.การแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ 4.การกระทำที่มีลักษณะหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
มีคำถามว่า คมช. ทำอะไรไปบ้างกับเหตุผล 4 ประการที่เข้ามายึดอำนาจการปกครอง
ถ้าย้อนเวลากลับไป ก่อนการยึดอำนาจ มีการประสานกันระหว่างพันธมิตรฯ กับ ครป. “คูหู-คู่ฮา” ที่ออกมาเรียกร้องกดดันขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนสร้างความแตกแยกให้ลุกลามและรุนแรงขึ้น แกนนำกลุ่มประท้วงออกข่าวว่าจะมีการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มผู้ที่ขับไล่ กับผู้ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 20 กันยายน 2549
คปค. ได้ฉวยโอกาสอ้างเป็นความชอบธรรมยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มาถึงวันนี้ก็ 2 ปีเต็ม
19 กันยายน 2549 เป็นการยึดอำนาจที่หน่อมแน้มที่สุด แทบไม่มีผลอะไรเกิดขึ้นเลย นอกจากตอกย้ำการเป็นเผด็จการให้ชัดเจนขึ้นโดยน้ำมือของซากเดนทรราช
สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ความถดถอย ความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังเสียงสะท้อนและการปรับตัวเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจของภาคเอกชน ดังต่อไปนี้…
นายสุรพล ทวีแสงสกุลไทย
ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น
...เศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัว เพราะนักธุรกิจและประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนประกอบการสูงขึ้น ตลอดจนความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ เมื่อราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนปรับตัวสูงขึ้น จะเห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคในไตรมาสนี้ที่เร่งตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 5.2 เทียบกับไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1
การเมืองมีปัญหาสำคัญกับเศรษฐกิจหลายๆ อย่างของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคการเมืองและภาคเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งเศรษฐกิจภาคอีสานตอนบน ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะผู้บริหารประเทศยังเกิดความขัดแย้งกัน สังคมเกิดความแบ่งแยกโดยตรง แถมประเทศกังวลกับค่าเงินบาทที่ไม่อยู่นิ่ง โรงงานหลายแห่งใน จ.ขอนแก่น จึงปิดตัวลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่มาบริหารงานแล้ว ก็ขอให้นำทีมเศรษฐกิจที่มีความสามารถ มีภาพลักษณ์ที่ดีมาแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศในเร็ววัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในจังหวัดให้กลับอยู่ในสภาพเดิม เกิดการตื่นตัวในด้านการดำเนินชีวิต พร้อมกับยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้ทัดเทียมกับต่างประเทศได้ เพื่อเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ชาวขอนแก่นอยู่อย่างมีความสุข แต่ทุกอย่างต้องอยู่ที่ราคาน้ำมันอยู่นิ่ง ไม่มีการปรับสภาพอีกต่อไป การเมืองไม่เกิดความขัดแย้ง รัฐบาลต้องรีบดำเนินการเพื่อให้ได้รัฐบาลใหม่ที่มีทีมเศรษฐกิจเข้มแข็งมาบริหารประเทศฟื้นขึ้นมา จากเศรษฐกิจขอนแก่นที่ก้าวสู่ความตกต่ำให้กลับมามีความกระชุ่มกระชวย และตื่นตัวให้มีการนำเงินมาใช้ เพื่อให้เศรษฐกิจ จ.ขอนแก่น ดีขึ้นตลอดไป...
นายประยูร อังสนันท์
ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าจังหวัดขอนแก่น
และกรรมการผู้จัดการ บริษัท โค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด
ผู้ประกอบการค้ารถยนต์รายใหญ่ในภาคอีสาน
...ในช่วง 2 ปีที่มีการปฏิวัติเมื่อ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ตอนนี้ยังมองไม่ออก แถมมีสถานการณ์การใช้จ่ายมืดมนมาก มาจากปัญหาภาวะราคาน้ำมันที่ขึ้นๆ ลงๆ อย่างต่อเนื่อง การเมืองไทยยังไม่นิ่ง ส่งผลกระทบให้กับสินค้าต่างๆ ที่ผลิตออกมาวางขายอยู่ในท้องตลาดขายยากขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง สินค้าขายไม่ออก มีปัญหาเดียวเท่านั้นคือน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่งอย่างถาวร จึงเป็นตัวแปรด้านเศรษฐกิจในเมืองขอนแก่นอย่างมาก
สรุปแล้วปัญหาเศรษฐกิจ จ.ขอนแก่น หยุดอยู่กับที่ และจะลงไปสู่ที่ต่ำเพิ่มขึ้น ถ้าเศรษฐกิจจะดีขึ้นต้องขึ้นอยู่กับปัญหาเรื่องน้ำมันตัวเดียวเท่านั้น จึงขอให้น้ำมันนิ่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการได้คิดต้นทุนได้ถูก ดังนั้น ประชาชน นักธุรกิจ นักลงทุน ตอนนี้ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น รอเพียงราคาน้ำมันหยุดนิ่งเท่านั้น ประชาชนและนักธุรกิจต้องมีการปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ให้ดีที่สุด เพื่อความอยู่รอดของตนเอง และสถานประกอบการของตน...
นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์
เลขาธิการหอการค้าภาคอีสาน
...การคัดเลือกตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รวมถึงการที่รัฐบาลประกาศยกเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในฐานะของภาคเอกชนมองว่าการที่รัฐบาลประกาศเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้นจะทำให้นักธุรกิจชาวต่างชาติมีความสบายใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และยิ่งจะทำให้การลงทุนมีความสดใสมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจภาคการท่องเที่ยว
แต่หลังจากนี้ไปคิดว่าจะต้องมีเรื่องราวที่จะต้องตามมาอีกมากมาย อาทิ ในขณะนี้ดัชนีการลงทุนค่อนข้างต่ำ รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ของชาวต่างประเทศมีการชะลอตัว โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา ได้มีการวัดการลงทุนจากทางบีโอไอ ซึ่งมีการขอการส่งเสริมการลงทุนที่ลดลงกว่าเดิมมาก และอีกสิ่งหนึ่งที่ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงคือ สถาบันการเงินพบว่า การส่งงวดของบ้านจัดสรรและการผ่อนชำระสินค้าเงินผ่อนนั้นตกลงไปมาก และมีหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มมากขึ้น...
พัทยาปรับตัวรับเศรษฐกิจ ปี 2552
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา สมาคมนักธุรกิจเมืองพัทยา จัดอภิปรายเรื่อง “ปรับตัวรับเศรษฐกิจ ปี 2009” เพื่อหาแนวทางในการปรับตัวเรื่องธุรกิจการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา รวมทั้งความอยู่รอดของผู้ประกอบธุรกิจเมืองพัทยา ได้เชิญ น.ส.อลิสา พันธุศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงแรมวู้ดแลนด์รีสอร์ท และ บริษัท ทิฟฟานี่ โชว์ พัทยา จำกัด นายจำรูญ วิศวชัยพันธ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา และ นายสมคิด สุจิตตานนท์รัตน์ ผู้จัดการสำนักงานธุรกิจสัมพันธ์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมอภิปราย
น.ส.อลิสา พันธุศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงแรมวู้ดแลนด์รีสอร์ท และ บริษัท ทิฟฟานี่ โชว์ พัทยา จำกัด กล่าวว่า ปัญหาเรื่องระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้น ส่วนใหญ่ต้องดูที่การเมืองเป็นหลัก ซึ่งหากประเทศชาติบ้านเมืองมีนักการเมืองที่มีจริยธรรมดี ระบบเศรษฐกิจก็จะดี เพราะเมื่อการเมืองดี บ้านเมืองจะได้รับความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศ นักการเมืองดี การลงทุนจากชาวต่างชาติก็ดีไปด้วย ปัญหาเรื่องการปรับตัวทางด้านเศรษฐกิจนั้นต้องมองไปที่รากหญ้า โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลกทรุดตัวลง
“ธุรกิจต่างๆ ในเมืองพัทยา โดยเฉพาะการบริหารงานด้านการโรงแรมนั้น ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การบริหารงานด้านโรงแรมในรอบ 7-8 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นช่วงขาขึ้น นักลงทุนจากทั่วประเทศแห่มาลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจด้านโรงแรม เพราะในช่วงขาขึ้นธุรกิจอะไรๆ ก็ดีไปหมด แต่ช่วงขาลงธุรกิจด้านการโรงแรมกลับทรุดตัว ทำให้เกิดภาวการณ์ขาดทุน บางรายอยู่ไม่ได้ ต้องขายกิจการ บางรายหันไปทำธุรกิจด้านอื่นแทน”
พร้อมกันนี้ น.ส.อลิสา ได้เสนอทางออกเพื่อให้อยู่รอดว่า ต้องคงราคาค่าห้องพักเอาไว้ การอยู่รอดของระบบเศรษฐกิจเมืองพัทยานั้นเท่าที่ได้สัมผัสและผ่านงานทางด้านนี้ เห็นว่า ระบบเศรษฐกิจทางด้านโรงแรมมีปัจจัยอยู่ 3 อย่าง คือ 1.ลดค่าใช้จ่าย 2.เรื่องการตลาด 3.เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ในฐานะที่ตนเป็นผู้บริหารธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรม เห็นว่าควรต้องดูแลและควบคุมเรื่องการให้บริการ เรื่องการลดค่าใช้จ่าย ต้องมองไปข้างหน้า ดูวิสัยทัศน์ขององค์กรให้เกิดคุณภาพที่ดี ตรงนี้จะทำให้ผ่านวิกฤติตรงนี้ไปได้
“เราต้องหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ที่ผ่านมามีประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่เป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ โดยไม่หวังนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามา ประเทศผู้นำเหล่านี้อยู่รอดปลอดภัยในช่วงน้ำมันแพงได้ เพราะเขามีวิธีการคิดที่ดีในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น”
นายจำรูญ วิศวชัยพันธ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา กล่าวว่า ปัญหาเรื่องราคาน้ำมันแพงนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างมากของตลาดการท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งไตรมาสแรกระบบการท่องเที่ยวของเมืองพัทยานั้นลดลง 3 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวมีปัญหา ส่วนสถิติตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวเมืองพัทยาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานั้น หากเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ที่มีการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับพัทยา จะเห็นว่าพัทยานั้นดีกว่า และได้เปรียบกว่า เพราะค่าครองชีพของเมืองพัทยานั้นไม่สูง นักท่องเที่ยวชาวไทยสามารถเข้ามาเที่ยวได้มาก
“การแก้ไขปัญหาเรื่องการปรับตัวรับเศรษฐกิจ ปี 2552 เราต้องรักษาด้านการบริการต่างๆ ซึ่งจุดนี้นักธุรกิจด้านต่างๆ ของเมืองพัทยาต้องช่วยกันดูแลเรื่องนี้ให้มากๆ มิเช่นนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจคงต้องยืดเยื้อต่อไป”
นายสมคิด สุจิตตานนท์รัตน์ ผจก.สำนักงานธุรกิจสัมพันธ์ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในเรื่องการปรับตัวของธุรกิจต่างๆ ในเมืองพัทยานั้น ต้องดูที่ตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจก่อนว่ามีการปรับตัวอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกานั้นลอยตัวในเรื่องภาวะอัตราเงินเฟ้อ ส่วนของไทยในรอบปีที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในปีหน้าหากคำนวณดูแล้วเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อคงไม่สูงไปกว่านี้ ซึ่งปัญหาและปัจจัยหลักของเงินเฟ้ออยู่ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นหลัก
“อัตราดอกเบี้ยก็เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อเช่นเดียวกัน คือ ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมมีผลกระทบ แต่ยังถือว่าโชคดีที่เรายังได้เปรียบทางการค้าโลกอยู่ แต่เราเสียเปรียบเรื่องน้ำมันเท่านั้น เพราะธุรกิจส่งออกของเรานั้นต้องใช้น้ำมัน เวลานี้เราเสียเปรียบค่าจีดีพี อยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนเรื่องการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนนั้น Setter มีมากกว่านั้น ขณะนี้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศต้องดำเนินการให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น”