ที่มา ประชาทรรศน์
ตอนนี้เราได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นรัฐบาลอนาธิปไตย ก็อยากจะยกเอาข้อความบางส่วนของการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
“ผมขอยืนยันว่าในฐานะรัฐบาลนี้จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ให้ใครนำมาขัดแย้ง หรือดึงลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง”
จริงไหมครับ? ไม่อย่างนั้นจะมี “มาร์ค ม.7 หรือ?” มาดูข้อความต่อไป
“หน้าที่เบื้องต้นของผมคือ การยุติการเมืองที่ล้มเหลว ที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งภาคแบ่งสีของประเทศในขณะนี้ ผมจะขจัดการเมืองที่ล้มเหลวออกไป นำความสมัครสมานสามัคคีกลับมา อาศัยความยุติธรรมนำหน้า”
จริงไหมครับ? การเมืองที่ล้มเหลวก็คือการเมืองที่เริ่มต้นโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ใช่หรือไม่?
“รัฐบาลภายใต้การนำของผม จะยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐ เคารพความเสมอภาค...ยึดถือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผมอยากเห็นประเทศไทยเป็นต้นแบบของการพัฒนาไปในวิถีทางประชาธิปไตย”
จริงไหมครับ? สิ่งเหล่านี้ที่นายอภิสิทธิ์พูด เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 แล้ว ท่านสุจิตต์ วงษ์เทศ ศิลปินแห่งชาติ ท่านได้เขียนบทกลอนลงในมติชน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม 2551 ไว้ว่า...
“ดีแต่พูด good but mouth ก็เท่านั้น
การเมืองเก่าเน่าสนั่นเสนอหน้า
สนามการเมืองใหม่ยังไม่มา
เสียเวลาดีแต่พูด good but mouth”
จากบทกลอนนี้จะเห็นได้ว่า ท่านสุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งไม่ค่อยใช้ภาษาอังกฤษในการแต่งบทกลอน แต่คงอาจจะเห็นว่านายกฯ อภิสิทธิ์ จบมาจากอังกฤษ เลยใช้คำภาษาอังกฤษในการแต่งกลอน แต่ยังคงสำนวนไทยไว้ ซึ่งก็ได้สรุปเกี่ยวกับการเกิดรัฐบาลนี้ และการออกมาให้คำมั่นสัญญาของคุณอภิสิทธิ์ จะเห็นได้ว่ามันเป็นสิ่งที่น่ากลัว และเราคงไม่อยากให้คนที่ “มือถือสาก ปากถือศีล” พูดอย่างแล้วทำอีกอย่าง ขึ้นมาปกครองประเทศ
เพราะฉะนั้น องค์กรต่างๆ ของเราที่ร่วมประชุมกัน จึงเห็นพ้องต้องกันว่า เราน่าจะนำเรื่องราวต่างๆ ที่องค์กรของเราได้รวบรวมไว้ไปนำเสนอต่อเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทยได้รับทราบเรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้ โดยเนื้อหาที่เราจะส่งให้กับเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ ที่เคารพในระบอบประชาธิปไตยจะมีข้อความดังนี้
“ฯพณฯ คงจะทราบแล้วว่า ประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่ โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีคณะรัฐมนตรีที่ประกอบด้วย
1.บุคคลที่สนับสนุน หรืออยู่เบื้องหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
2.บุคคลที่อยู่เบื้องหลังการบุกยึดทำเนียบรัฐบาล และสนามบินแห่งชาติทั้ง 2 แห่ง
3.บุคคลที่ไม่มีความรู้ในการบริหารประเทศ แต่กลับได้ตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นเครือญาติหรือพรรคพวกของนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง
4.บุคคลที่เป็นตัวแทนของอิทธิพลมืด ที่อยู่เบื้องหลังอำมาตยาธิปไตย และตุลาการธิปไตย ที่เฟื่องฟูขึ้นในช่วงหลังการรัฐประหารปี 2549 จนประเทศไทยถูกกล่าวหาว่าปราศจากหลักนิติรัฐ และนิติธรรม ฯลฯ
นี่คือสิ่งที่เราต้องการย้ำเตือนให้กับบรรดาทูตของนานาอารยประเทศที่ยึดมั่นในระบอบระชาธิปไตยทราบ เพื่อให้เขาตระหนักว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้มาตามครรลองของประชาธิปไตย แต่มาด้วยอำนาจมืด อำนาจนอกกฎหมาย โดยเฉพาะอำนาจสีเขียว
สำหรับทางออกของรัฐบาลชุดนี้ ผมขอนำข้อเสนอของ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่เสนอไว้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551
ข้อที่ 1.เราจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ยกเลิกฉบับหรือมาตราที่เป็นมาตราเสนาธิปไตย ที่ผสมปนเปื้อน ที่ร่างขึ้นมาโดยเนติบริกรและรัฐศาสตร์บริกร (หรือบ๋อย) ที่ต้องการพิทักษ์ไว้เพื่อระบอบอนาธิปไตย อันเป็นการปกครอง “ของอภิชน โดยอภิชน และเพื่ออภิชน” เราต้องไม่เอา และต้องไม่มี ส.ว. โดยบัญชีรายชื่อ และการสรรหา เราต้องไม่เอากฎหมายยุบพรรคการเมือง ใครทำผิดถูกยุบไป ถูกตัดสิทธิไป ยุบคน ยุบนักการเมือง ไม่ใช่ยุบพรรค เราต้องไม่เอาสัดส่วนการมีสิทธิมีเสียงที่ล้าหลังอย่าง 30 : 70 หรือแม้แต่ถอยหลังกลับไปใช้สูตร 50 : 50 เหมือนในอดีตปี 2475 แต่เราต้องยืนหยัดในหลักสากลของนานาอารยประเทศว่า 1 คนต่อ 1 เสียง
ข้อที่ 2.เราต้องทำให้อำนาจตุลาการกลับคืนสู่เหย้า กลับไปสู่ศักดิ์ศรี และความศักดิ์สิทธิ์ยุติธรรม เราต้องไม่ให้ศาลถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในลักษณะตุลาการธิปไตย และเราต้องไม่เอาส่วนเกินของระบบ โดยที่เราต้องยุบศาลรัฐธรรมนูญ
ข้อที่ 3.เราต้องแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ให้กฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเราต้องทำให้เป็นสถาบันสูงสุด ทรงไว้ซึ่งพระคุณเช่นนานาอารยประเทศ เราต้องช่วยกันไม่ให้สถาบันกษัตริย์ถูกนำไปใช้ ไปอ้าง ในการต่อสู้ในทางการเมือง อย่างเช่นในอดีต สมัย ท่านปรีดี พนมยงค์ หรือสมัย 6 ตุลาคม 2519 และที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
///////////////////////////////